Make Appointment

มารู้จักภาวะซึมเศร้ากันเถอะ

23 Sep 2016 เปิดอ่าน 1656

คอลัมน์สายตรงสุขภาพกับศิริราช
       ในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต คุณอาจรู้สึกทุกข์ ซึมเศร้า จิตใจหม่นหมอง เบื่อหน่าย ท้อแท้ สิ้นหวัง หมดความกระตือรือร้นที่จะทำอะไร รู้สึกว่าตนเองไร้ค่าหรือเป็นภาระต่อผู้อื่น ความรู้สึกเหล่านี้อาจเกิดขึ้นเป็นพักๆ หรือเกิดขึ้นตลอดเวลา ถ้ามีความรุนแรงจนบางครั้งอาจรู้สึกเบื่อชีวิตอยากทำร้ายตนเอง หรือคิดฆ่าตัวตาย ถ้าคุณมีอาการดังกล่าวอยู่นาน 2 สัปดาห์ หรือมากกว่า แสดงว่าคุณอาจกำลังตกอยู่ใน “ภาวะซึมเศร้า” ซึ่งเป็นความเจ็บป่วยทางจิตใจ ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาจากจิตแพทย์
       
       ภาวะซึมเศร้าเป็นภาวะที่พบได้ในทุกวัย ไม่เลือกเพศ เชื้อชาติ หรือศาสนา จากการศึกษาพบว่า อายุที่พบได้บ่อยคือช่วง 20-40 ปี ซึ่งผู้หญิงจะมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชาย อย่างไรก็ตามมีหลายคนเข้าใจผิดว่า ภาวะซึมเศร้าจะเกิดขึ้นเฉพาะในผู้สูงอายุ ซึ่งไม่จำเป็น
       
       แม้ว่าผู้สูงอายุจะรู้สึกเหงา ว้าเหว่ หรือกังวลใจง่ายกว่าวัยอื่น แต่ความรู้สึกนี้จะเกิดเพียงชั่วคราวแล้วหายไป ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวหากผู้สูงอายุยังมีความมั่นใจ มีจิตใจเข้มแข็งพร้อมที่จะเผชิญปัญหาและปรับตัวต่อปัญหาได้อย่างดี สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ก็ไม่ใช่ภาวะซึมเศร้า เนื่องจากภาวะซึมเศร้าจะมีอารมณ์ตอบสนองที่ลึกและรุนแรงกว่า จนบางครั้งไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป
       
       สำหรับสาเหตุหลักๆ นั้น มีอยู่ 2 ประการดังนี้
       
       1. ความผิดปกติทางร่างกาย
       

       •โรคทางกายหลายโรคจะมีอาการซึมเศร้าเกิดขึ้นร่วมด้วย เช่น โรคของต่อมไทรอยด์โรคมะเร็งที่ตับอ่อน โรคสมองเสื่อม โรคเส้นเลือดในสมองอุดตัน โรคพาร์กินสัน
       
       •ยาหรือสารบางอย่าง จะทำให้เกิดอาการซึมเศร้าได้ เช่น ยาบางชนิดในกลุ่มยารักษา โรคความดันโลหิตสูง โรคมะเร็ง โรคกระเพาะอาหาร ตลอดจนในกลุ่มยาขับปัสสาวะกลุ่มยานอนหลับ และกลุ่มยาแก้ปวด
       
       2. การเปลี่ยนแปลงทางจิตใจ
       
       •เกิดจากการขาดหรือลดน้อยลงของสารสื่อประสาทบางชนิดในสมองที่ทำหน้าที่ เกี่ยวกับอารมณ์ ภาวะซึมเศร้านี้สามารถสืบทอดทางพันธุกรรมได้
       
       •เกิดจากการตอบสนองต่อปัญหาต่างๆ ในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการป่วยทางกาย การสูญเสียบุคคลหรือสิ่งอันเป็นที่รัก หรือปัญหาชีวิตสมรส ฯลฯ ซึ่งปัญหาดังกล่าวนี้ทำให้เกิดความเครียดทางอารมณ์ ปรับตัวไม่ได้ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดความเศร้า ท้อแท้ หมดหวัง ไม่อยากต่อสู้ชีวิต ขาดความมั่นใจในการดำเนินชีวิตหรือหาแนวทางมาแก้ไขปัญหา
       
       ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นได้นี้จะมีความรุนแรงมากกว่าความเสียใจที่เกิดขึ้นทั่วๆ ไป เพราะจะเสียการทำหน้าที่ต่างๆ จนไม่สามารถดำเนินชีวิตต่อไปตามปกติได้

ผู้มีภาวะซึมเศร้านี้ สามารถแสดงอาการได้หลายแบบ ตั้งแต่
       1. ด้านอารมณ์
       
       •มีความรู้สึกท้อแท้ หดหู่ ไม่มีความสุข ขาดความรู้สึกสดชื่นเบิกบาน บางคนอาจมีอารมณ์หงุดหงิดง่าย โกรธง่าย
       
       2. ด้านความคิด
       

       •สมาธิไม่ดี ขี้ลืม ขาดความมั่นใจ ไม่กล้าตัดสินใจด้วยตัวเอง
       •มองโลกในแง่ร้าย มองตนเองไร้ค่า หรือเป็นภาระต่อผู้อื่น มองทุกสิ่งหมดหวัง บางคนจะมีความคิดเบื่อชีวิต เบื่อที่จะสู้ต่อไป คิดอยากตาย หรือคิดจะทำร้ายตนเอง หรือพยายามฆ่าตัวตาย
       
       3. ด้านร่างกาย
       
       •มีปัญหาการกินอาหาร เช่น เบื่ออาหาร หรือกินจุมากขึ้น หรือหิวบ่อยขึ้น
       •น้ำหนักตัวอาจลดหรือเพิ่มขึ้น
       •มีปัญหาการนอน นอนไม่หลับ หลับๆ ตื่นๆ หลับไม่สนิท ฝันร้าย หรือหลับยาก หรืออาจนอนหลับมากกว่าปกติ
       • อาการปวดของส่วนต่างๆ ของร่างกายเพิ่มขึ้น
       •ความรู้สึกหรือความต้องการทางเพศลดลง มีเพียงส่วนน้อยที่เพิ่มขึ้น
       • รู้สึกอ่อนเพลีย ล้า ร่างกายไม่มีแรง
       
       4.ด้านพฤติกรรม
       
•แยกตนเอง ซึม ชอบอยู่เงียบๆ ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม หรือสนใจน้อยลง ยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง บางคนอาจมีอาการกระสับกระส่าย นั่งไม่ติดเป็นพักๆ ควบคุมตนเองได้น้อยบางรายจะมีการดื่มสุรา สูบบุหรี่ หรือใช้ยานอนหลับ ยาแก้ปวดมากขึ้น แสดงความต้องการพึ่งพาผู้ดูแลหรือบุตรหลานมากขึ้น ทำให้บุคคลเหล่านี้เข้าใจผิดว่า ทำไปเพื่อเรียกร้องความสนใจ แต่ที่จริงแล้วเป็นอาการของความเจ็บป่วย

       
       โปรดเข้าใจว่า ภาวะซึมเศร้า ไม่ได้เกิดจากคิดขึ้นมาเอง ไม่ได้เกิดจากความอ่อนแอ ความเซ็ง หรือเกิดจากจุดอ่อนที่เป็นคนไม่อดทน ไม่ต่อสู้ แต่เป็นภาวะการป่วยจริงๆ ทางจิตใจที่ต้องการการรักษาเยียวยาจากแพทย์ บางคนอาจไม่เคยรู้จักว่ามีภาวะนี้ ทำให้ไม่ตระหนักถึง บางคนเมื่อป่วยคิดว่า “เป็นเองหายเองได้ แก้ไขได้ เอาชนะโรคได้” หรือ “ไปซื้อยามากินเอง” ซึ่งจะทำให้อาการรุนแรงขึ้น ระยะเวลาการป่วยนานขึ้น ซึ่งจะเป็นที่น่าเสียดาย เพราะภาวะซึมเศร้า รักษาได้ หายได้ ถ้าได้รับการรักษาที่ถูกต้อง

วิธีสำรวจง่ายๆ ด้วยตนเองว่า คุณ...มีอาการซึมเศร้าหรือไม่!
       
       ขีดเครื่องหมาย √ ลงหน้าข้อที่คุณมีอาการ และอาการนั้นเป็นอยู่ 2 สัปดาห์ ขึ้นไป โดยในแต่ละข้อจะมีอาการใดอาการหนึ่งก็ได้ ไม่จำเป็นต้องครบทั้งหมด
       
       ≅
รู้สึกเซ็ง หรือเสียใจ หรือเศร้า หรือหงุดหงิด (เป็นอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างก็ได้)

       
        รู้สึกเบื่อหน่ายสิ่งต่างๆ ที่เคยชอบ หรือสิ่งที่เคยทำให้เกิดความสนุกสนาน เช่น งานอดิเรก กีฬา เพื่อน หรืองานที่เคยชอบทำ
       
        เปลี่ยนแปลงในความอยากอาหาร (เบื่ออาหาร กินได้น้อยลง หรือหิวบ่อยขึ้น กินมากขึ้น) หรือ
       
        มีน้ำหนักตัวเปลี่ยนแปลงไป (ลดลงหรือเพิ่มขึ้น)
       
        เปลี่ยนแปลงในการนอน เช่น นอนไม่หลับ หลับไม่พอ หรือหลับมากเกินไป
       
        รู้สึกอ่อนเพลีย อ่อนล้า ไม่มีแรงโดยไม่มีสาเหตุ

 

ศ.คลินิก พญ.อรพรรณ ทองแตง

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9510000024322