รูมาตอยด์เป็นหนึ่งในโรคข้ออักเสบ 4 ชนิด ซึ่งมีลักษณะอาการใกล้เคียงกับโรคข้ออื่น ๆ ทำให้เกิดความสับสนได้ อย่างเพื่อนของหมอป๊อบคนนี้ครับ
"อ้าว! เพ็ญไม่เจอกันตั้งนาน มาซื้อหนังสือเหรอ" หมอป๊อบทักเพื่อนสมัยมัธยม
"สบายดีเปล่า ครั้งสุดท้ายที่เจอกันก็ตอนเลี้ยงรุ่นกี่ปีแล้วเนี่ย" เพ็ญทักพร้อมกับทำท่าอยากคุยต่อ "กำลังว่าจะโทรไปหาอยู่พอดีเลย ขอปรึกษาหน่อยสิ"
เพ็ญเริ่มเล่าสาเหตุที่มาหาซื้อหนังสือ "เราปวดนิ้วมือทั้งสองข้างมาเกือบสองเดือนแล้ว ปวดสองข้างเท่า ๆ กันอย่างกับเอามือส่องกระจกแล้วความปวดวิ่งผ่านกระจกได้แน่ะ ที่แปลกยิ่งไปกว่านั้น ตื่นเช้ามาจะปวดนานกว่าชั่วโมง พอได้ยืดเส้นยืดสายหน่อยเดี๋ยวก็ดีขึ้นมาเอง ความจริงนอนพักมาทั้งคืนน่าจะดีขึ้นด้วยซ้ำ วันนี้เลยว่าจะมาหาหนังสือเรื่องปวดข้อมืออ่านเสียหน่อย"
"อืม! แล้วเคยมีอาการอย่างนี้มาก่อนหรือเปล่า"
"ปีที่แล้วเหมือนจะเป็นอยู่ซักเดือน กำลังจะไปหาหมอก็หายไปเอง สงสัยจะกลัวหมอมั้ง" เพ็ญรีบตอบ
"ขอดูมือหน่อยสิ" หมอป๊อบคลำดูมือของเพ็ญอย่างละเอียด พร้อมทั้งตรวจดูผิวที่แขนและข้อศอก แล้วอธิบายให้เพ็ญฟังว่า "ข้อนิ้วและเนื้อเยื่อรอบ ๆ ข้ออักเสบมากนะ เป็นทุกนิ้วเลย บวมเท่ากันทั้ง 2 ข้างเลย เคยสังเกตหรือเปล่าว่ามีตุ่มนูนที่ศอกขวาด้วย"
เพ็ญทำหน้างง ๆ แล้วลองคลำศอกตัวเอง "เออจริงด้วย ไม่เคยคลำดูเลย แต่ไม่เจ็บนะ"
หมอป๊อบเสริมต่อว่า "สงสัยว่าจะเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคนี้พบบ่อยเหมือนกัน จะเป็นกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึง 4 เท่า แล้วก็เป็นได้บ่อยในผู้หญิงช่วงอายุ 40 กว่าแบบเพ็ญนี่แหละ แต่บางทีเด็ก หรือคนสูงอายุก็เป็นได้"
ส่วนใหญ่เราจะดูว่า มีอาการที่เข้าเกณฑ์ของโรครูมาตอยด์ไหม จริง ๆ แล้วเกณฑ์ก็เป็นแค่แนวทางเท่านั้น บางครั้งคนไข้อาจยังมีอาการไม่ครบ แต่ตรวจเลือดหรือเอ็กซเรย์แล้วไม่พบเป็นโรคอื่น หมอก็อาจวินิจฉัยว่าคนไข้เป็นโรคนี้ได้"
เพ็ญรีบถามต่อ "แล้วอย่างเราต้องไปตรวจเลือด หรือเอ็กซเรย์หรือเปล่า"
"ก็ดีนะ แต่เราว่าผลเอ็กซเรย์มือของเพ็ญน่าจะอยู่ในเกณฑ์ปกติ เพราะเพิ่งเป็นไม่นาน คนที่เป็นโรคนี้แล้วดูแลรักษาไม่ดี ข้ออาจถูกทำลายจนเสีย เมื่อเอ็กซเรย์จะพบความผิดปกติ แม้ว่าจะมีอาการปวดข้อไม่มากก็ตาม อีกอย่างถ้าคนไข้มีอาการเหนื่อย หมออาจจะเอ็กซเรย์ปอด เพราะอาจมีความผิดปกติที่ปอดด้วย แต่พบไม่เยอะนะอาการแบบนี้"
ฟังหมออธิบายแล้วเพ็ญยิ่งสงสัย จึงถามต่อ "โรคนี้เกิดขึ้นได้ยังไงนะ"
หมอป๊อบเพิ่มเติมว่า "ยังไม่พบสาเหตุของโรคนี้ แต่เชื่อว่าอาจเกี่ยวกับฮอร์โมน กรรมพันธุ์ สิ่งแวดล้อม ที่อาจเกี่ยวข้องกับโรคนี้ คือการสูบบุหรี่ ขณะเดียวกันฮอร์โมนก็ส่งผลให้พบโรคนี้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ส่วนเรื่องกรรมพันธุ์พบว่า คนในครอบครัวเดียวกันมีโอกาสจะป่วยเป็นโรคนี้ได้สูงกว่าคนทั่ว ๆ ไป ยิ่งเป็นพี่น้องแฝดไข่ใบเดียวกัน ยิ่งมีโอกาสป่วยเพิ่มขึ้น"
"โรคนี้ถ้าเป็นแล้วจะเป็นนาน อย่างน้อยก็เดือนกว่า บางคนเป็นหลายเดือน บางคนนานเป็นปี หรือเป็นตลอดชีวิตก็มี ไม่มีการตรวจที่สามารถบอกได้ว่าจะเป็นนานแค่ไหน ภูมิคุ้มกันของตัวเราที่เป็นตัวการสำคัญในการกระตุ้นให้อวัยวะต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ข้อเกิดการอักเสบ พออักเสบเรื้อรังนาน ๆ โดยที่เราดูแลตัวเองไม่ดี ข้อก็จะผิดรูป ข้อยึด และใช้งานได้น้อยลง"
"ฟังดูน่ากลัวจัง ถ้าเราเป็นควรดูแลตัวเองยังไงดีล่ะ" เพ็ญถาม
"อย่างแรกเลยนะ รีบไปหาหมอเพื่อตรวจว่าเป็นโรคนี้หรือไม่ คุณหมอจะให้ยามากิน ยาบางตัวลดการอักเสบที่กำลังเกิด บางตัว ทำให้โรคไม่กำเริบหรือทำให้หายจากโรคนี้ ยากลุ่มหลังนี้ ส่วนใหญ่ต้องกินนาน และอาจมีผลข้างเคียงจากการใช้ ฉะนั้นต้องกินยาให้ตรงเวลา และไปตรวจตามที่หมอนัด หมออาจจะให้ตรวจเลือดเป็นระยะ ๆ ด้วย
เรื่องยาอย่าซื้อกินเอง โดยเฉพาะพวกยาชุด ยาลูกกลอนที่ไม่รู้ส่วนผสม เพราะอาจมีสารสเตียรอยด์ อาจจะมีผลข้างเคียงร้ายๆ ตามมาอีกเยอะ
ที่สำคัญก็ต้องดูแลตัวเอง จะพึ่งหมอฝ่ายเดียวคงไม่ได้ ปัญหาสำคัญของโรคนี้คือ เป็นมากจนข้อต่าง ๆ ถูกทำลาย ก่อนรักษาคนไข้ส่วนใหญ่จะปวดข้อมากจนไม่อยากขยับเขยื้อน เมื่อไม่ได้ใช้งานนาน ๆ บวกกับผิวข้อถูกโรคทำลาย ข้อก็จะเสียไป การกินยาจะลดการอักเสบ และทำให้ไม่ปวด เมื่ออาการปวดดีขึ้น ต้องรีบบริหารข้อโดยการขยับข้อให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น ที่ข้อมือ เราอาจจะทำท่าพนมมือ แล้วกลับเอาหลังมือมาดันกันตรงกันข้ามกับการพนมมือ ก็จะทำให้ข้อมือขยับได้ดี การกำเหยียดนิ้วมือให้เต็มที่วันละหลาย ๆ ครั้ง ก็เป็นการบริหารข้อนิ้วมือ เป็นต้น
ถ้าเราไม่ฝืนบริหารให้เพียงพอ เป็นหลายปีเข้า อาจต้องลงเอยด้วยการผ่าตัด แต่การผ่าตัดเป็นแค่การปรับให้การใช้งานของข้อดีขึ้นกว่าก่อนผ่าตัดเท่านั้น ไม่ได้ทำให้ข้อกลับมาเหมือนเดิม การช่วยเหลือตัวเองจึงดีที่สุด
ถ้าเป็นแล้วปฏิบัติตัวดี ๆ ก็แล้วกัน โชคดีนะที่เดี๋ยวนี้มียาออกใหม่หลายตัว มีโอกาสทำให้หายปวดเร็ว และหายจากโรคนี้สูง เราแนะนำให้ไปหาหมอสาขารูมาโตโลยี่ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านนะ ได้ผลยังไงส่งข่าวด้วยนะ" หมอป๊อบทิ้งท้าย
ลองสังเกตตัวเองดูหน่อยว่า เสี่ยงกับโรคนี้บ้างหรือเปล่า
ข้อยึดในช่วงเช้าหลังตื่นนอนนานกว่า 1 ชั่งโมงเกือบทุกวัน ติดต่อกันอย่างน้อย 6 สัปดาห์
ข้ออักเสบบวมแดงอย่างน้อย 3 ใน 14 ข้อ ติดต่อกันอย่างน้อย 6 สัปดาห์
ข้อในมืออักเสบ ติดต่อกันอย่างน้อย 6 สัปดาห์
ข้ออักเสบในตำแหน่งที่สมมาตรกัน (เช่น ข้อมือซ้าย สมมาตรกับข้อมือขวา) ติดต่อกันอย่างน้อย 6 สัปดาห์
พบตุ่มนูนใต้ผิวหนังในบริเวณจำเพาะ
ตรวจเลือดพบรูมาตอยด์แฟกเตอร์
เอ็กซเรย์พบผิวข้อถูกทำลาย
* คนไข้ที่มีอาการอย่างน้อย 4 ใน 7 ข้อจะถือว่าเป็นโรคนี้
นพ.ปริยุทธิ์ เจียรพัฒนาคม
* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://health.kapook.com/view22311.html