Make Appointment

รู้จักและรับมือกับโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก

25 Sep 2016 เปิดอ่าน 1296

หลายๆ คน อาจเคยได้ยินเกี่ยวกับโรครูมาตอยด์ หรือโรคข้ออักเสบเรื้อรัง และคิดว่าเป็นโรคที่เกิดขึ้นกับผู้ใหญ่เท่านั้น แต่ความจริงแล้ว มีเด็กจำนวนมากที่ป่วยเป็นโรคนี้ แต่ร่างกายของเด็กกับผู้ใหญ่นั้นมีความแตกต่างกัน ทำให้โรคข้ออักเสบในเด็กและผู้ใหญ่จึงไม่เหมือนกัน ดังนั้น จึงเรียกโรคข้ออักเสบที่เกิดกับเด็กว่า “โรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก”
        
       แพทย์หญิง โสมรัชช์ วิไลยุค แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคข้อและรูมาติสซัมในเด็ก หน่วยโรคภูมิแพ้ ภูมิคุ้มกันและโรคข้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “โรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเอง (Autoimmune Disease) หมายถึง ภูมิคุ้มกันทำงานเกินหน้าที่ เพราะหลังจากที่กำจัดเชื้อโรคไปแล้ว แต่ภูมิคุ้มกันยังคงทำงานอยู่จนทำร้ายร่างกายของบุคคลนั้นๆ ซึ่งโรคข้ออักเสบโดยไม่ทราบสาเหตุในเด็ก ก็เกิดจากการที่ภูมิคุ้มกันหันกลับมาทำร้ายข้อตัวเอง ทำให้เกิดข้ออักเสบในเด็กได้ โดยสามารถพบเด็กที่ป่วยเป็นโรคข้ออักเสบฯ ได้ตั้งแต่อายุ 8-9 เดือน จนกระทั่ง 16 ปี”

แต่สิ่งสำคัญ ก็คือ เมื่อลูกน้อยมีอาการปวดข้อ ข้อบวม และข้ออักเสบ แต่ไม่สามารถอธิบายอาการหรือสื่อสารถึงความเจ็บปวดได้ ทำให้กว่าคุณพ่อ-คุณแม่จะทราบ หนูน้อยก็ต้องทนทรมานและมีอาการข้ออักเสบมากขึ้น ในบางรายอาจถึงขั้นพิการหรือเสียชีวิตได้ ดังนั้น คุณพ่อ-คุณแม่ จึงควรสังเกตความผิดปกติของลูก โดยสังเกตจากหากลูกน้อยของคุณมีอาการข้อบวม หรือมีน้ำอยู่ในข้อ และเวลาที่เอามือจับจะรู้สึกอุ่นกว่าข้อข้างที่ปกติ มีรอยแดงบริเวณข้อ จับแล้วมีอาการเจ็บ หรือมีอาการข้อติดในช่วงเช้า ซึ่งเรียกว่า ‘ภาวะ Morning Stiffness’ เนื่องจากเวลาหลับไม่ได้ขยับข้อทำให้สารอักเสบหลั่งออกมา แต่เมื่อตื่นนอนมาแล้วได้ขยับตัว อาการข้อติดหรือปวดข้อก็จะดีขึ้น ซึ่งอาการแบบนี้ยังส่งผลให้เด็กบางคนไม่สามารถนอนกลางวัน หรือนั่งเรียนทั้งวันได้ หรือช่วงที่อากาศเย็นๆ ทำให้ขยับข้อลำบากและปวดข้อมาก ซึ่งอาการปวดข้อและข้ออักเสบ สามารถพบได้ทั้งบริเวณข้อมือ ข้อเท้า ข้อเข่า ข้อสะโพก กระดูกต้นคอ และบริเวณขากรรไกร นอกจากนี้ ยังอาจพบอาการอื่นๆ อาทิ ตาอักเสบ ไข้สูงโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยไข้จะขึ้นสูงในเวลาเดิมทุกวัน หรือมีผื่นเม็ดแดงๆ เล็กๆ ขึ้นเวลาที่มีไข้ขึ้น และเมื่อไข้ลงผื่นก็จะหายไป หากพบความผิดปกติดังกล่าวควรรีบพาลูกน้อยไปปรึกษาแพทย์ทันที
       
       ปัจจุบันวิธีการตรวจวินิจฉัยโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก ทำได้โดยการตรวจเลือด และหากพบว่าเป็นโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก จะมีวิธีการรักษาด้วยการใช้ยาซึ่งมีหลากหลายประเภท ได้แก่ ยาในกลุ่มกดภูมิคุ้มกัน ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาคอร์ติโคสสเตียรอยด์ ยากลุ่มสารชีวภาพ และในบางรายอาจใช้การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อ แต่เหมาะสำหรับเด็กที่มีอาการข้ออักเสบเพียงข้อเดียว นอกจากนี้ เด็กๆ ที่ป่วยเป็นโรคนี้ ยังต้องมีการดูแลเป็นพิเศษ อาทิ การไม่ทานของดิบ หลีกเลี่ยงอาหารเผ็ดและน้ำอัดลม เป็นต้น พร้อมทั้งยังจำเป็นต้องทำกายภาพบำบัด และออกกำลังอย่างถูกวิธีควบคู่กับการทานยาด้วย
       
       อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคข้ออักเสบในเด็กนั้นเป็นเรื่องที่ท้าทาย และละเอียดอ่อน เพราะต้องคำนึงถึงการเจริญเติบโตของเด็กด้วย ดังนั้น หากคุณพ่อ-คุณแม่ หรือผู้ปกครอง สังเกตอาการของลูกน้อย และพามาปรึกษาแพทย์ทันทีที่พบความผิดปกติ ก็จะช่วยให้อาการข้ออักเสบไม่ลุกลาม และการรักษาก็สามารถทำได้โดยง่าย เพื่อให้หนูน้อยไม่ต้องทนทรมานกับโรคที่เป็นเหมือนฝันร้ายเช่นนี้ และสามารถเติบโตได้เหมือนเด็กปกติทั่วไป

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9560000000446