Make Appointment

รู้เท่าทันอาการวูบ และโรคลมชัก

27 Sep 2016 เปิดอ่าน 2643


MH ฉบับนี้มีเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับอาการวูบและโรคลมชักมาฝากหนุ่ม ๆ ให้สังเกตตัวเองและคนใกล้ชิดกัน เมื่อพูดถึงโรคลมชัก หลายคนคงคิดถึงอาการชักกระตุกเกร็ง และหมดสติเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วการชักมีหลายรูปแบบ ซึ่งอาการชักบางรูปแบบคุณอาจคิดไม่ถึงว่า "นี่ก็คือการชักอย่างหนึ่ง"

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ช่อเพียว เตโซฬาร ประธานวิทยาลัยประสาทศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย และนายแพทย์ธีรเดช ศรีกิจวิไลกุล ประสาทศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคลมชัก ได้ให้ความรู้กับเราว่า อาการชักอาจเป็นเพียงอาการอย่างหนึ่งของโรคบางอย่าง (Epileptic Seizure) หรืออาจจะเป็นโรคลมชักที่มีการชักเป็นอาการหลัก (Epilepsy) เราแบ่งอาการชักอย่างคร่าว ๆ ได้ดังนี้

          1.อาการชักแบบที่มีจุดกำเนิดที่บอกได้ชัดเจน ว่าเริ่มที่จุดใดจุดหนึ่งในสมองพวกนี้จะมีอาการชักกระตุกหรือเกร็งเฉพาะที่ โดยแพทย์สามารถบอกได้ว่าอาการชักเกิดจากจุดกำเนิดใด ผู้ป่วยที่มีอาการลักษณะนี้มักจะมีสาเหตุที่ต้องตรวจหาอย่างจริงจัง จะเป็นกลุ่มที่เมื่อตรวจภาพของสมองด้วยคอมพิวเตอร์แล้ว มีโอกาสสูงที่จะพบเนื้องอกในสมอง กลุ่มหลอดเลือดผิดปกติในสมองมาตั้งแต่กำเนิด หรือตัวอ่อนพยาธิขึ้นสมองและอื่น ๆ ที่ควรได้รับการรักษาโรคที่เป็นสาเหตุต่อไป หากไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยโรคที่เป็นเหตุให้ชัก อาจลุกลามทำให้สมองเสียหาย หรือได้รับการรักษาช้าเกินไป

          2.อาการชักแบบไม่มีความชัดเจน ว่าจุดที่ปล่อยไฟฟ้าออกมารบกวนนั้นเริ่มที่จุดใด อาจมีหลาย ๆ จุดเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน ทำให้รบกวนสมองทั่วไปในวงกว้าง หรือมักมีต้นกำเนิดอยู่ลึกบริเวณแกนกลางของสมอง อาการหลักจึงมักเป็นอาการหมดสติ เกร็ง แขนขาและหน้ากระตุก อาการชักแบบนี้บางคนเรียกว่าลมบ้าหมู ซึ่งมักจะไม่ค่อยมีสาเหตุที่ต้องแก้ไขด้วยการผ่าตัด

          การรักษาก็มักเป็นการใช้ยากินหรือฉีด เพื่อควบคุมและป้องกันการชัก มักต้องกินยาควบคุมการชักไว้เกือบตลอดชีวิต อย่างไรก็ตามแม้ตรวจสมองด้วยคอมพิวเตอร์ น้อยรายที่จะพบโรคประเภทที่ต้องแก้ไขด้วยการผ่าตัด แต่ก็ยังน่าจะตรวจสมองของผู้ป่วยเหล่านี้ เพื่อหาว่ามีโรคอื่น ๆ ในผู้ป่วยรายนั้น ๆ หรือไม่เพราะหากมีโรคอยู่จริง แต่แพทย์พลาดการวินิจฉัยอาจก่อให้เกิดอันตรายขึ้นในภายหลังได้

          3.การชักอีกรูปแบบหนึ่งมีอาการหลาย ๆ อย่าง อาจจะออกมาในรูปของการกระทำเป็นการเคลื่อนไหวที่ค่อนข้างซับซ้อน เหมือนคนกำลังทำกิจกรรมหรือแสดงพฤติกรรมบางอย่าง ไม่ใช่เป็นการกระตุกของกล้ามเนื้อเหมือนอย่างการชักในข้อ 1 และข้อ 2 (Complex Partial Seizure) ความจริงการชักแบบนี้เป็นการชักที่เจอบ่อย แต่คนจะไม่เข้าใจว่านี่ก็เป็นการชักอย่างหนึ่ง คนไข้กลุ่มนี้จึงมักไม่ได้รับการวินิจฉัยและไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ความจริงการชักแบบนี้มียารักษาควบคุมให้เป็นปกติสุขได้ ซึ่งถ้ายาช่วยควบคุมไม่อยู่จริง ๆ ก็ยังสามารถรักษาด้วยการผ่าตัดให้หายหรือควบคุมได้ง่ายขึ้น

          อาการชักอาจเกิดได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยเด็กเล็กในวัยที่อยู่ในช่วง 6 เดือนถึงราว ๆ 4 ถึง 6 ขวบ หรือคนสูงอายุที่สมองเริ่มเสื่อมลง จะมีโอกาสชักง่าย เช่น อาจเกิดจากการมีใช้สูง เกลือแร่ในร่างกายแปรปรวนยากระตุ้นสมองบางชนิด การถูกกระตุ้นด้วยแสงแวบ ๆ เป็นเวลานานพอ

          การชักที่ไม่ได้รับการควบคุมให้ดีพอ จะส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อสมองโดยรวม หรือเฉพาะจุดมากขึ้นเรื่อย ๆ แรก ๆ จะเสียหน้าที่ชั่วคราว แต่ระยะยาวจะเสียหายอย่างถาวร ที่คนเราชักต่อเนื่องไปนาน ๆ จะทำให้สมองเสื่อม ความสามารถในการทำงานลดลงในอัตราที่เร็วกว่าคนทั่วไป จนบางครั้งถึงกับช่วยตัวเองไม่ได้

          นายแพทย์ธีรเดชได้อธิบายต่อว่า อันตรายของอาการชักคือผู้ป่วยจะควบคุมตนเองไม่ได้ ซึ่งนอกจากการชักเกร็งหมดสติแล้ว ยังอันตรายหากอยู่ในระหว่างขับรถ ว่ายน้ำ อยู่หน้ากองไฟ รวมไปถึงการตายโดยไม่ทราบสาเหตุซึ่งพบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคลมชัก สำหรับวิธีการช่วยเหลือผู้ป่วยลมชักนั้น ปกติผู้ป่วยที่ชักมักจะหยุดชัดได้เองในที่สุด แต่หากระหว่างการชักได้รับการดูแลไม่ถูกต้อง อาจมีผลให้สมองขาดออกซิเจน สำลักกระดูกหักได้ อย่าเอาสิ่งของใด ๆ ไปงัดปากหรือใส่ปาก ให้จับผู้ป่วยนอนตะแคงหน้าให้น้ำลายไหลออก ให้อยู่ในพื้นที่ที่อากาศถ่ายเท

          อย่างไรก็ตามหากผู้ป่วยชักเกิน 2 ครั้งภายใน 5 นาที หรือชักนานเกิน 15 นาที ให้รีบพาผู้ป่วยส่งสถานพยาบาลใกล้เคียง เพื่อฉีดยาให้หยุดชักโดยทันที และดูแลในระยะแรกจนพ้นอันตรายแล้วจึงส่งมาตรวจหาสาเหตุเบื้องลึกต่อไป

รูปแบบอาการชักที่คุณอาจคาดไม่ถึง

          นอกเหนือจากการชักเกร็งหมดสติ ผศ.นพ.ช่อเพียวได้ เล่าให้เราฟังว่า จริง ๆ แล้วอาการชักมีอีกหลายรูปแบบมาก ซึ่งแพทย์ทั่วไปที่ให้การรักษาคนใช้ต้องอาศัยการสังเกต และวินิจฉัยอย่างละเอียด ยกตัวอย่างเช่นมีอาจารย์ท่านหนึ่งสอนหนังสือหน้าชั้นเรียนอยู่ดี ๆ แล้วเกิดอาการยืนนิ่งค้างไปเฉย ๆ เหมือนเรากดปุ่ม pause ของเครื่องวิดีโอ สักพักก็สอนต่อไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ซึ่งหลังจากไปสังเกตดูอาการก็พบว่าเป็นอาการของโรคลมชักชนิดหนึ่ง หรือผมเคยรักษาคนใช้ผู้หญิงกลางคนซึ่งเป็นเจ้าของซูเปอร์มาร์เก็ต คนใช้กำลังคุยกับลูกค้าอยู่ ๆ ก็หันหลังกลับเดินขึ้นไปชั้นบนอาบน้ำแต่งตัว แล้วลงมาเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น โดยลูกค้าและคนรอบข้างก็งงกับพฤติกรรม ซึ่งผู้ป่วยไม่รู้ตัว

          บางกรณีก็มีอาการคล้ายคนใช้จิตเวช เช่น อยู่ ๆ หัวเราะขึ้นมาโดยไม่มีสาเหตุ แพทย์ที่รู้เรื่องลมชักสามารถบอกได้เลยว่า ถ้าหัวเราะมาแบบนี้เป็นลมชักแบบพิเศษชนิดที่เรียกว่า Gelastic Epilepsy (ผู้ป่วยชนิดนี้จะมีโรคอยู่ที่สมองส่วนที่เรียกว่า ไฮโปทารามัส ซึ่งผ่าตัดรักษาได้ผลดีมาก) หรือคนไข้บางคนไปขโมยของโดยไม่รู้สึกตัว บางรายมีอาการงง ๆ เบลอๆ นิ่งเหม่อบ่อย ๆ โดยไม่ค่อยรู้ตัว เป็นต้น จะเห็นได้ว่าการวินิจฉัยที่ถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญที่สุด โรคลมชักทั้งหลายอาศัยการวินิจฉัยจากประวัติ และอาการที่ผู้ป่วยหรือญาติเล่าให้ฟัง เพราะขณะมาพบแพทย์ผู้ป่วยส่วนใหญ่หยุดชักแล้ว นอกจากผู้ป่วยมาชักให้เห็นต่อหน้าก็จะยิ่งบอกได้ชัดเจนขึ้น ผู้ป่วยลมชักเป็นนาน ๆ อาจมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง ต้องแยกให้ได้ว่านี่เป็นอาการทางจิตเวชหรือมีโรคของสมองกันแน่ บางครั้งเราพบคนใช้รักษาอาการทางจิตเวชมานาน จนกระทั่งวันหนึ่งปวดหัว อาเจียนแล้วหมดสติ ตรวจอย่างละเอียดแล้วพบว่ามีเนื้องอกขนาดใหญ่ในสมอง เป็นต้น

          ก่อนชักผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเตือนก่อนเกิดอาการชัด เช่น หวาดกลัวโดยไม่ทราบสาเหตุ อยู่ ๆ ท้องลั่นโกรกกราก ปากเคี้ยวจับ ๆ แลบลิ้นเลียปาก ทำโดยไม่ค่อยรู้สติ ได้กลิ่นแปลก ๆ เช่น ยางไหม้ กลิ่นน้ำหอม เห็นแสงแวบ ๆ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีแสงนั้นอยู่จริง เป็นต้น

โรคลมชักรักษาให้หายขาดได้

          นายแพทย์ธีรเดช อธิบายว่า อาการชักโดยทั่วไปสามารถควบคุมได้ด้วยยา อย่างไรก็ตามรายที่มีอาการรักษาด้วยยาแล้วไม่ดีขึ้น หรือว่าแพ้ยาจนหาทางรักษาได้ลำบาก ก็อาจต้องรักษาให้หายได้ด้วยการผ่าตัด ดังนั้น หากรายใดที่ไม่สามารถรักษาด้วยยา สามารถส่งต่อมา เพื่อพิจารณาว่าควรรักษาด้วยการผ่าตัดหรือไม่

          อย่างไรก็ตาม ศูนย์รักษาโรคลมชักครบวงจรสามารถทำได้หลายแห่งในประเทศไทย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ให้การรักษา โดยเป็นศูนย์การรักษาที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ทั้งนี้ 70-80 เปอร์เซ็นต์ สามารถรักษาให้หายขาดได้โดยการผ่าตัด

          ผู้ป่วยบางรายอาจไม่ต้องทานยากันชักอีกเลย หรือถึงแม้ต้องทานยาต่อไปแต่ก็มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจริง ๆ แล้วอยากให้โรงพยาบาลที่รักษาผู้ป่วยที่ดื้อต่อยากันชัก ส่งต่อผู้ป่วยมารักษาที่โรงพยาบาลที่เป็นศูนย์การรักษาลมชักแบบครบวงจร ที่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดได้ด้วย เพราะไม่อยากให้ผู้ป่วยเสียโอกาส หากเขาเป็นผู้ป่วยที่สามารถรักษาได้ เพราะนั่นหมายถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

          ผศ.นพ.ช่อเพียวกล่าวเสริมว่า "จริง ๆ แล้วการรักษาโรคลมชักนั้น สำคัญที่สุดอยู่ที่ต้องวินิจฉัยให้ได้ก่อน หากแพทย์ที่รักษาคนไข้สามารถวินิจฉัยและส่งต่อได้เร็ว นั่นหมายถึงโอกาสการรักษาให้หายขาดก็มีมากขึ้น ส่งผลให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น คนใกล้ชิดผู้ป่วยเองก็ต้องช่วยสังเกตอาการ เพื่อนำส่งแพทย์เพื่อการรักษาที่ตรงกับสาเหตุ การให้ความรู้ในเรื่องนี้ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่อยากรณรงค์ให้คนทั่วไปได้ทราบ เพื่อการสังเกตและป้องกันอันตรายที่อาจเกิดกับคนใกล้ชิด"

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://health.kapook.com/view10252.html