Make Appointment

ลดพฤติกรรมเสี่ยง ลดภาวะ `กรดไหลย้อน`

13 Sep 2016 เปิดอ่าน 1715

รศ.นพ.สมชาย  ลีลากุศลวงศ์ สาขาวิชาโรคทางเดินอาหาร  ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวว่า กรดไหลย้อน คือ ภาวะที่เกิดจากการไหลย้อนของสารคัดหลั่งในกระเพาะอาหาร ไม่ว่าจะเป็น กรด น้ำย่อยหรือแก๊ส ย้อนเข้าสู่หลอดอาหาร จนรบกวนการใช้ชีวิต โดยอาการดังกล่าวมีได้ทั้งในและนอกหลอดอาหาร ดังนี้

อาการของหลอดอาหาร

1. แสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ กลางหน้าอก

2. ความรู้สึกเปรี้ยวหรือขมในปากและคอ

3. มีอาหารย้อนขึ้นมาในปากและคอ

อาการนอกหลอดอาหาร 

1. เจ็บคอหรือเสียงแหบเรื้อรัง

2. อาการเจ็บหน้าอกที่ไม่ได้เกิดจากโรคหัวใจ

3. ไอเรื้อรังโดยไม่มีสาเหตุชัดเจน

4. อาการทางช่องปาก เช่น ฟันผุ มีกลิ่นปาก

5. โรคหืดที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษา

สาเหตุของโรคกรดไหลย้อน

สาเหตุที่ทำให้หูรูดหลอดอาหารส่วนล่างทำหน้าที่ลดลง จะทำให้หลอดอาหารปิดไม่สนิท ก็จะเกิดกรดไหลย้อนได้ง่ายๆ สาเหตุที่ทำให้เกิดกรดไหลย้อนที่พบบ่อย มีหลายอย่าง เช่น อาหารรสจัด เช่น รสเผ็ดเค็ม หมักดอง  มัน ทอด  ถั่ว ไข่ อาหารที่ย่อยยากเช่น  เนื้อสัตว์ เป็นต้น

การกินอาหารที่อิ่มจนเกินไปการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด กาแฟ น้ำอัดลม รวมทั้งช็อกโกแลต

ความอ้วน การใส่เสื้อผ้าหรือเช็มขัดที่รัดเกินไปความเครียด และภาวะที่ทำให้หูรูดหลอดอาหารหย่อนได้ง่ายขึ้น  เช่น การตั้งครรภ์  ยาบางชนิด เช่น ยาขยายหลอดลม เป็นต้น

ส่วนอาการเตือนในกรณีที่รักษาแล้วไม่ดีขึ้นได้แก่ เบื่ออาหารน้ำหนักลด อาการของเลือดออกในทางเดินอาหาร เช่นถ่ายอุจจาระดำ อาเจียนเป็นเลือด อาเจียนหรือ ปวดท้องอย่างรุนแรง และมีอาการกลืนติด กลืนเจ็บ ร่วมด้วย

การรักษาโดยไม่ใช้ยา เช่น  การลดน้ำหนักในผู้ป่วยที่อ้วน งดสูบบุหรี่ การงดรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มบางประเภทที่กระตุ้นอาการโดยเฉพาะแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหาร 3 ชั่วโมงก่อนเข้านอนให้นอนศีรษะสูง หรือการนอนตะแคงซ้าย ในผู้ที่มีอาการตอนกลางคืน  เป็นต้น

การรักษาด้วยการใช้ยา มียาหลักๆอยู่ 2 กลุ่มได้แก่  ยาลดการหลั่งกรด ได้แก่ ยากลุ่ม proton pump inhibitor (PPI) และกลุ่ม H2 receptor antagonist (H2RA) ถือเป็นยามาตรฐาน เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการเกิดขึ้นบ่อยๆ หรือมีอาการเป็นประจำ

ยาที่ใช้ระงับอาการ เช่น alum milk หรือยากลุ่ม alginate เช่น Alginic acid เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการไม่บ่อยนักสามารถใช้เป็นยาเดี่ยวได้ หรือใช้เป็นยาเสริมกรณีที่ใช้ยากลุ่มแรกแล้วยังมีอาการอยู่ เนื่องจากออกฤทธิเร็วระงับอาการได้ทันทีการรักษาด้วยการส่องกล้องหรือการผ่าตัด ใช้ในกรณีที่มีอาการรุนแรง และไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา

ทั้งนี้ การรักษาในปัจจุบันใช้ควบคู่กันทั้งการรักษาโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ร่วมกับการรับประทานยาลดกรดซึ่งรายละเอียดเรื่องยาและการรักษา โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

 

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.thaihealth.or.th/Content/28251-%E0%B8%A5%E0%B8%94%E0%B8%9E%E0%B8%A4%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%87%20%E0%B8%A5%E0%B8%94%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B0%20'%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%94%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A2%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99'.html