ถ้าซื้อปรอทมาวัดไข้ลูกเองที่บ้าน จะต้องวัดอย่างไรบ้างคะ ช่วยแนะนำทค่ะ บางทีเห็นลูกตัวร้อน แต่ไม่มีอาการไข้ จะได้ลองวัดไข้เองดูก่อนค่ะ
“ปรอทวัดไข้มีทั้งแบบแท่งแก้ว แบบดิจิตลอด และที่ใช้วัดไข้ทางหู ไม่แน่ใจของคุณแม่เป็นแบบไหน ซึ่งแบบแรก คือ ปรอทวัดไข้แบบแท่งแก้ว ปรอทชนิดนี้ค่อนข้างอ่านยากหน่อย ถ้าเทียบกับปรอทอีก 2 ชนิด แต่มีข้อดีคือ ราคาถูกกว่า ซึ่งปรอทชนิดนี้มี 2 แบบค่ะ คือ แบบที่ใช้วัดทางปาก ซึ่งเวลาพาลูกไปโรงพยาบาล แล้วนางพยาบาลนำมาให้อมไว้ใต้ลิ้น ก็คงจะคุ้นกันนะคะ ส่วนอีกแบบคือ ใช้วัดทางก้นซึ่งจะมีปลายมนกว่า ต่อมา ก็คือ ปรอทวัดไข้แบบดิจิตลอด ซึ่งเป็นที่นิยมมาก เพราะแสดงผลเป็นตัวเลข ทำให้อ่านได้ง่าย และยังวัดได้รวดเร็ว ซึ่งก็สามารถใช้วัดได้ทั้งทางปากและทางทวารหนักค่ะ และสุดท้ายคือ ปรอทที่ใช้วัดใช้ทางหู แบบนี้จะแพงหน่อย แต่ความรวมเร็วและความแม่นยำจะสูงมาก แต่ส่วนใหญ่จะเป็นแพทย์ใช้มากกว่า เพราะการอ่านค่าต้องมีความชำนาญสูง เข้าใจว่าคุณแม่คงไม่ได้ซื้อแบบนี้มาใช้หรอกนะคะ
...วิธีใช้ปรอททั้ง 2 แบบ ก็จะมีวิธีเหมือนกัน ก็คือ สามารถวัดได้ทั้งจากทางปาก ทางหู ทางทวารหนัก และทางรักแร้ ซึ่งการวัดไข้ทางทวารหนัก ให้ค่าแม่นยำที่สุด ส่วนการวัดทางหรือหูก็ใช้ได้ผลดี ส่วนการวัดทางรักแร้ไม่ค่อยแม่นยำเท่าไหร่ ดังนั้น เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี คุณแม่จึงควรวัดไข้ให้ทางทวารหนักค่ะ แต่ถ้าอายุมากกว่านี้ ก็สามารถวัดไข้ทางปากได้ค่ะ
...การวัดไข้ ถ้าเป็นการวัดจากทางปาก และเป็นปรอทแบบแท่งแก้ว ให้คุณแม่จับปรอทสลัดจนต่ำกว่า 37 ํC แล้วให้ลูกอมไว้ใต้ลิ้นนะคะ รอประมาณ 3 นาทีจึงค่อยมาดู ถ้าอุณหภูมิสูงกว่า 34 ํC ก็เป็นไข้แน่นอนค่ะ ถ้าเป็นไข้หวัดปกติ ก็สามารถซื้อยาให้ลูกทานเองได้ แต่ถ้าอุณหภูมิสูงกว่า 37 ํC ก็ควรพามาพบคุณหมอค่ะ
...กรณีวัดไข้ทางทวารหนัก ให้คุณแม่จับลูกนอนคว่ำบนตักหรือบนเตียงนะคะแต่บนตักจะดีกว่า เพราะลูกอาจพลิกไปมาได้ คุณแม่จะได้ดูแลและจับเขาให้อยู่นิ่งๆ ได้ จากนั้นใช้ Jelly ทาปลายปรอทวัดไข้ และที่ทวารหนัก แล้วค่อยๆ ใส่ปรอทวัดไข้ทางทวารหนักของลูกค่ะ ซึ่งในเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน ให้ใส่เข้าประมาณ ¼ - ½ นิ้ว ค่อยๆ ใส่นะคะ อย่าแรงเกินไป เขาอาจดิ้นจนหลุดได้ รอประมาณ 2 นาทีจึงค่อยดูผลค่ะ
…ส่วนการวัดไข้ทางรักแร้ ก็ให้ลูกเหน็บเอาไว้ตรงรักแร้นั่นล่ะค่ะ ดังนั้น วิธีนี้จึงเหมาะกับเด็กที่โตสักหน่อย เพราะเด็กเล็กอาจทำหลุดได้ขณะวัดไข้
...ข้อควรระวังในการวัดไข้ โดยทั่วไปก็คือไม่ควรให้เขาทานอาหารที่เย็นหรือร้อนภายใน 30 นาทีก่อนวัด ถ้าเป็นการวัดทางปาก คุณแม่ต้องใส่ปรอทวัดไข้เข้าไปทางใต้ลิ้นนะคะ แล้วให้เขาปิดปากให้แน่น ไม่ให้ปรอทหลุด ถ้าเป็นการวัดไข้ทางทวารหนัก แล้วนำปรอทวัดไข้ทางปากมาวัดแทน ก็ต้องระวังหน่อยเพราะปรอทวัดไข้ทางทวารหนัก ปกติจะมนกว่าปรอทวัดไข้ทางปาก ซึ่งจะป้องกันการบาดหรือทำให้ทวารหนักของลูกเป็นแผลได้ดีกว่า ส่วนการวัดไข้ทางรักแร้ ก็ควรเช็ดรักแร้ของเขาให้แห้งก่อนวัด แล้วให้เขาปิดรักแร้โดยให้ข้อศอกแนบกับลำตัว แนะนำเท่านี้คงเข้าใจนะคะ อย่างไรหลังจากใช้ปรอทวัดไข้ลูกเสร็จแล้ว ก็ควรเก็บไว้อย่างดีและปลอดภัยนะคะ เพราะปรอทอาจเสียได้หรืออาจตกลงมาแตก แล้วบาดมือบาดเท้าลูกได้ค่ะ”
ถามเกี่ยวกับโรคตาแดงหน่อยค่ะ คือเกิดถ้าลูกคนใดคนหนึ่งเป็นตาแดงขึ้นมา จำเป็นต้องให้เขาแยกห้องกันอยู่ไหมคะ แล้วสามารถดูแลอาการเบื้องต้นเองได้อย่างไรบ้าง อาการขนาดไหนที่ควรจะต้องพาเขาไปหาหมอคะ
“ส่วนใหญ่อาการตาแดง ก็คงสังเกตกันไม่ยากอยู่แล้ว เพราะอาการก็คือตาจะแดงอย่างชื่อ แล้วก็มีอาการเคืองตา น้ำตาไหล เจ็บตา และมักจะมีขี้ตามากร่วมด้วยจากการติดเชื้อแบคทีเรียมาพร้อมกัน ต่อมน้ำเหลืองหลังหูมักจะเจ็บและบวม และอาการตกแดงก็มักจะเกิดที่ตาข้างใดข้างหนึ่งก่อน แล้วจึงติดต่อมายังตาอีกข้าง ถ้าระมัดระวังไม่ให้น้ำตาข้างหนึ่งที่ติดเชื้อไวรัสมาถูกตาข้างที่ดี ตาอีกข้างก็จะไม่เป็นตาแดง แต่อย่างไรส่วนใหญ่โรคตาแดงก็มักจะเกิดกับตาอีกข้างอย่างรวดเร็ว เท่ากับเป็นทั้งสองข้างอยู่ดี ก็ต้องมารักษาตาทั้งสองข้างนั่นล่ะค่ะ
…การติดต่อของโรคตาแดง ไม่ติดต่อโดยการสบตา มองกัน หรือทานอาหารร่วมกัน ดังนั้น ไม่ถึงกับต้องแยกลูกที่เป็นตาแดงไปอยู่อีกห้องก็ได้นั่นจะยิ่งทำให้เขารู้สึกเดียวดาย และอาจไม่เข้าใจได้ว่าทำไมต้องแยกเขาออกไป แต่ที่ต้องระวังคือการสัมผัส ทั้งจากการสัมผัสมือ สัมผัสน้ำตาของผู้ป่วย เพราะผู้ป่วยอาจเอามือไปขยี้ตา ทำให้เชื้อไวรัส ซึ่งอยู่ในกลุ่มอาดิโนไวรัส อันเป็นสาเหตุของโรคตาแดง ติดมากับมือของลูกอีกคน หรือของครอบครัวคุณแม่เอง แล้วเผลอไปขยี้ตาอีกที จนเป็นโรคตาแดงตามมาได้ค่ะ ส่วนใหญ่อาการของโรคตาแดง ก็จะเกิดภายใน 1– 2 วัน แต่ระยะการติดต่อไปยังผู้อื่นยังยาวไปอีกประมาณ 14 วัน ช่วงนี้จึงยังถือว่าต้องระวังให้ดี แต่อย่างที่บอกไป ว่าไม่ต้องถึงกับแยกลูกที่ผู้ป่วยออกไปต่างหากเลย แค่คอยระวังไม่ให้ลูกคนอื่นๆ หรือตัวคุณแม่เอง เผลอไปสัมผัสมือหรือน้ำตาของลูกที่ป่วยเป็นตาแดงโดยตรงค่ะ
...การรักษาโรคตาแดง เนื่องจากโรคนี้มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส ซึ่งปัจจุบันยังไม่มียาฆ่าเชื้อนี้โดยตรง เป็นการรักษาตามอาการมากกว่า กล่าวคือ ถ้าผู้ป่วยมีขี้ตามาก ก็อาจให้การหยอดยาที่ตา เมื่อมีไข้ เจ็บคอ ก็ใช้ยาแก้อักเสบร่วมกับยาลดไข้เพื่อรักษาอาการ มีอาการปวดก็ให้ยาแก้ปวด และแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ ซึ่งคุณแม่เมื่อเห็นว่าลูกมีอาการตาแดง ก็ควรให้การรักษาและให้ลูกได้นอนพักผ่อนด้วย ช่วงนี้ไม่ควรให้เขาใช้สายตามากๆ อย่างเช่นการเล่นคอมพิวเตอร์ ก็ควรงดไปก่อน อาจใช้ผ้าปิดตาข้างที่เป็นตาแดงด้วยก็ได้ เพื่อป้องกันการขยี้ตา และไม่ควรแยกเขาออกไปต่างหาก จะทำให้เขารู้สึกขาดความอบอุ่น ไม่เป็นที่รักได้ ช่วงนี้คุณแม่สามารถให้เขาได้พบเพื่อนๆได้ค่ะ แต่ต้องระวังไม่ให้เพื่อนไปสัมผัสมือเขา ควรทำความสะอาดผ้าเช็ดหน้าของลูกให้สะอาดเพียงพอ และไม่ควรให้เขาออกไปข้างนอก หรือลงเล่นน้ำในช่วงนี้ค่ะ”
พ.ญ.ลัคนา กาญจนกูล
กุมารแพทย์
ขอบคุณบทความจาก : http://motherandchild.in.th/content/view/617/