Make Appointment

ลูกป่วยหน้าฝน

14 Aug 2016 เปิดอ่าน 2922

  โรคในเด็กที่พบบ่อยในฤดูฝนที่พบบ่อยสุดคือ ไข้หวัด ส่วนโรคอื่น ๆ ที่พบเพิ่มขึ้นในฤดูฝนคือไข้หวัดใหญ่ และไข้เลือดออก
           สาเหตุของไข้หวัด ไข้หวัดเกิดจากการติดเชื้อไวรัส โดยติดต่อกันทางน้ำมูก น้ำลาย จากการไอ จาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอยู่ในที่แออัด เช่น สถานเลี้ยงเด็ก โรงเรียนอนุบาล ห้างสรรพสินค้าต่างๆ ที่อากาศถ่ายเทไม่ดี ในเด็กเล็กและคนสูงอายุ อาจติดหวัดได้ง่าย และมีอาการรุนแรงกว่าในช่วงอายุอื่น ๆ

อาการของไข้หวัด
            อาจมีไข้ต่ำ ๆ หรือไม่มีก็ได้ มีอาการ ไอ จาม น้ำมูกไหล ส่วนมากในช่วงแรกจะเป็นน้ำมูกใส ๆ ถ้าเป็นหลายวันสีจะข้นขึ้น นอกจากนี้มีอาการคัดจมูก แน่นจมูกหายใจไม่ออก เบื่ออาหาร ในเด็กเล็กมีอาการกวนมากกว่าปกติได้

จะแยกไข้หวัดใหญ่ และไข้เลือดออกได้อย่างไร
            ไข้หวัดธรรมดามักจะไข้ต่ำ ๆ หรือไม่มีไข้ มีอาการน้ำมูก ไอ จามชัดเจน ส่วนไข้หวัดใหญ่มักจะไข้สูง ปวดเมื่อยตัว ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร อาจมีคลื่นไส้ อาเจียน ผู้ป่วยจะค่อนข้างซมดูไม่สบาย ขณะที่เด็กเป็นไข้หวัดธรรมดาอาจกวนบ้างแต่ยังเล่นได้ ส่วนไข้เลือดออกนั้นจะมีไข้สูงลอย ทานยาลดไข้ ไข้ก็ไม่ค่อยลง มีอาการหน้าแดง อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ อาจมีปวดท้องคลื่นไส้อาเจียน มักมีจุดเลือดออกหลังจากมีไข้ 3-4 วัน ดังนั้นกรณีที่มีไข้สูง และมีอาการดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์

จำเป็นต้องรีบมาพบแพทย์ทันทีหรือไม่ ในกรณีที่เพิ่งเป็นหวัดอาการไม่รุนแรง
            ไข้หวัดโดยทั่ว ๆ ไป จะอาการไม่รุนแรงและหายได้เอง ถ้ากรณีเด็กเป็นเด็กปกติ แข็งแรงดี ไม่มีโรคแทรกซ้อนอะไร ไม่จำเป็นต้องมาพบแพทย์ทันที ทำการดูแลเบื้องต้นที่บ้านก่อนได้ แต่ในกรณีที่เป็นเด็กเล็กมาก, หรือเด็กที่มีโรคประจำตัวเช่น หอบหืด โรคหัวใจ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องควรมาปรึกษาแพทย์

ผู้ปกครองควรปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างไร เมื่อทราบว่าลูกเริ่มเป็นไข้หวัด
            โดยทั่วๆ ไปเมื่อทราบว่าลูกเป็นหวัด บิดามารดาควรให้ความอบอุ่นให้เพียงพอ ถ้าไอก็ให้ดื่มน้ำอุ่นมาก ๆ ถ้าไอมากให้น้ำมะนาวผสมเกลือและน้ำตาลหรือน้ำผึ้ง เพื่อขับเสมหะ ถ้ามีอาการไข้ต่ำ ๆ การลดไข้อาจใช้เพียงเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่น หรือน้ำจากก๊อกธรรมดา ถ้ายังมีไข้สูงเด็กซึมหรือกวน ควรให้ยาลดไข้ขนาดตามน้ำหนักตัว เช่น Paracctamol ให้ขนาด 10 มิลลิกรัม / นน. 1 กก. ทุก 4-6 ชม. เวลามีไข้ อาการน้ำมูกถ้ามีไม่มากนัก ใช้สำลีพันปลายไม้ชุบน้ำอุ่นหรือน้ำเกลือเช็ดในจมูก ถ้ามีน้ำมูกมากใช้ลูกยางแดงดูดน้ำมูก ออก การใช้กระดาษชำระพัน ๆ เป็นแท่งใส่ในจมูกเช็ดน้ำมูกหรือใช้สำลี ต้องทำด้วยความระมัดระวัง อาจมีเศษติดอยู่ในรูจมูกได้ และกระดาษชำระบางยี่ห้ออาจทำให้ระคายเคืองจมูกได้

การใช้ยา ในกรณีที่การรักษาเบื้องตันไม่ดีขึ้น
            ถ้ายังมีอาการน้ำมูกแน่นคัดจมูกมาก อาจใช้ยาแก้หวัดได้ โดยต้องคำนึงถึงน้ำหนักตัวของผู้ป่วย ยาแก้หวัด พวกต้านฤทธิ์ฮีสตามีนนั้นไม่นิยมให้ในเด็กเล็ก ๆ หรือผู้ป่วยที่เป็นหอบหืดอยู่เดิมแล้ว ยากลุ่มนี้จะทำให้น้ำมูกแห้งและจามน้อยลง ส่วนอาการคัดจมูกจะต้องใช้ยากลุ่มพวกทียุบบวมในจมูก ซึ่งก็ไม่นิยมในเด็กเล็กเช่นกัน ในกรณีแน่นจมูกมาก หายใจไม่ออกอาจให้ยาเช็ดจมูกช่วยยุบบวมในจมูกได้ ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์เร็วช่วยให้โล่งจมูกทันที แต่ไม่สมควรจะใช้นานเกิน 3 วัน ถ้าใช้แล้ว 3 วัน จะต้องหยุดยาก่อนถ้าเป็นใหม่ครั้งต่อไปสามารถนำมาใช้อีกได้ ยานี้ถ้าใช้ติดกันนาน ๆ จะเกิดผลข้างเคียงต่อจมูกทำให้เยื่อบุจมูกเกิดการอักเสบและบวมเพิ่มขึ้นได้
            ส่วนยาปฏิชีวนะ หรือเรียก กันทั่วๆ ไปว่ายาฆ่าเชื้อ ยาแก้อักเสบนั้นไม่ควรให้ในผู้ป่วยหวัดทั่วไป เนื่องจากโรคไข้หวัดเกิดจากเชื้อไวรัส จะนำมาใช้ก็ในกรณีมีผลข้างเคียงจากการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน หรือกรณีที่ผู้ป่วยมีปัญหาเรื่องภูมิต้านทานอยู่เดิมเท่านั้น ยาฆ่าเชื้อไวรัส ยังไม่มียาที่นำมาใช้เฉพาะสำหรับโรคนี้ เนื่องจากอาการไม่รุนแรงและอาจมีผลข้างเคียงด้วย และยากลุ่มนี้แพงมาก

เมื่อได้รับการรักษาแล้ว เด็กเริ่มมีอาการที่ดีขึ้น จำเป็นต้องรับประทานยาต่อหรือไม่
            เมื่ออาการดีขึ้น ยาแก้หวัด และลดไข้ก็หยุดได้ แต่คงต้องเฝ้าระวังอาการ ว่าจะมีอาการแทรกซ้อนเกิดขึ้นหรือไม่ด้วย
ถ้าเด็กหายใจไม่สะดวก ผู้ปกครองควรใช้ยูคาลิปตัสหรือยาจำพวกยาดม ยาหม่องทาบริเวณหน้าอกหรือโพรงจมูกหรือไม่
            ไม่ควรใช้ เนื่องจากจะทำให้ระคายเยื่อบุจมูก ทำให้เกิดการอักเสบตามได้ โดยเฉพาะถ้าใช้ทาโดยตรง หรือให้สูดดมเป็นเวลานาน ๆ ผู้ปกครองมักจะบอกว่าเมื่อทาหรือให้ดมผู้ป่วยจะหายใจโล่งขึ้นระยะหนึ่ง แล้วก็จะมีอาการอีก ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ยากลุ่มนี้ ถ้ากรณีที่ผู้ปกครองยืนยันจะใช้ควรใช้ในเด็กโต และไม่ควรใช้ทาโดยตรง และควรใช้ระยะสั้นที่สุด

ในกรณี ถ้าเด็กเป็นไข้หวัดเรื้อรังจะมีอันตรายมากน้อยเพียงใด จะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้อีกหรือไม่
            หากเด็กเป็นหวัดเรื้อรัง คือมีอาการเป็นหวัดเป็นเวลานานนาน มากกว่า 10 วัน จะต้องพิจารณาดูว่าเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือไม่ เช่น หู น้ำหนวก ไซนัสอักเสบ หรือปอดอักเสบ โรคอื่น ๆ ที่อาจเข้าใจผิดว่าเป็นหวัดได้แก่ โรคภูมิแพ้ของจมูก หรือมีสิ่งแปลกปลอมในจมูก ทำให้เกิดเป็นหวัดเรื้อรัง ในภูมิแพ้จมูกจะพบผู้ป่วยคันจมูก คันตา น้ำมูกใส ๆ ไหล แน่นคัดจมูก ส่วนมากเป็นเช้ามืดและกลางคืน พอสาย ๆ อาการก็จะ หายไป ในรายที่มีสิ่งแปลกปลอมในจมูกมักพบในเด็กอายุ 2-5 ปี มีอาการน้ำมูกข้น ๆ เขียวหรือเหลืองไหลจากจมูกข้างเดียว อาจมีกลิ่นเหม็นจากจมูกข้างนั้นด้วยก็ได้ ในกรณีหูน้ำหนวกอาจมีอาการปวดหู หรือถ้าแก้วหูทะลุก็อาจมีหนองไหลออกจากหู ในกรณีที่มีไซนัสอักเสบ อาจมีอาการน้ำมูกข้นเขียว เสมหะข้น ๆ ลงคอ ไอ มีเสมหะ กระแอมไอ หายใจมีกลิ่น อาจมีอาการปวดศีรษะหรือหายใจไม่ได้กลิ่นร่วมด้วย ในรายที่มีปอดอักเสบ จะพบไข้สูง ไอมาก หายใจเร็วขึ้นได้

ยาป้องกันหวัดมีหรือไม่
            เนื่องจากหวัดสามารถเกิดจากไวรัสหลายชนิด การทำวัคซีนเป็นไปได้ยาก จึงยังไม่มีวัคซีนเฉพาะ

ข้อแนะนำในการดูแลร่างการเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นไข้หวัด
            ให้ร่างกายอบอุ่นให้เพียงพอ โดยเฉพาะในหน้าฝน มีฝนตกอยู่บ่อย ๆ ควรเตรียมพร้อมเวลาฝนตกโดยมีร่ม หรือเสื้อกันฝนติดตัวไว้ ถ้าบังเอิญเปียกฝนก็ต้องรีบทำตัวให้แห้งเร็วที่สุด ไม่โดนอากาศเย็น
            การเลี่ยงจากสารระคายเคือง เช่น ฝุ่น ควัน รวมถึงควันรถ ควันบุหรี่ด้วยเป็นสิ่งจำเป็น เพราะสารระคายเคืองเหล่านี้จะทำให้ทางเดินหายใจอักเสบ ทำให้ติดเชื้อหวัดได้ง่ายขึ้น
            การอยู่ในที่แออัด อากาศถ่ายเทไม่ดี ร่วมกับคนที่เป็นหวัด จะทำให้ติดหวัดได้ง่าย ควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรงโดยรับประทานอาหารให้เพียงพอ และถูกสัดส่วนรวมทั้งออกกำลังให้เพียงพอด้วย

ศ.พญ.นวลอนงค์ วิศิษฎสุนทร

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.si.mahidol.ac.th/th/department/pediatrics/dept_article_detail.asp?a_id=277