Make Appointment

สะโพกเสื่อมก่อนวัย ยืดอายุใช้งานนานที่สุดอย่างไร

04 Sep 2016 เปิดอ่าน 4416

 เมื่อพูดถึงความเสื่อมของข้อสะโพก หลายคนเชื่อว่าจะเกิดกับผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ความจริงคือ คนในวัยหนุ่มสาวก็มีโอกาสเกิดภาวะข้อสะโพกเสื่อมได้เช่นกัน

ปัจจุบันคนไทยได้รับความทุกข์ทรมานจากโรคข้อสะโพกเสื่อม และโรคหัวสะโพกขาดเลือดเป็นจำนวนมาก ผู้ป่วยจะรู้สึกติดขัดบริเวณสะโพก จนเกิดการอักเสบเจ็บปวดทรมาน ซึ่งการรักษาที่ได้ผลแน่นอนที่สุดคือ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม สาเหตุอาจมาจากหลายปัจจัย เช่น ความผิดปกติของข้อสะโพกแต่กำเนิน การรับประทานยาบางชนิด โดยเฉพาะยาแก้ปวด อุบัติเหตุ โรคติดเชื้อบางอย่าง น้ำหนักตัวมาก มีพฤติกรรมการใช้ข้อหนักๆ รวมถึงความผิดปกติทางพันธุกรรม เป็นต้น

นพ.วิโรจน์ ลาภไพบูลย์พงศ์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ศูนย์ฟื้นฟูข้อเสื่อมเวชธานี ยืนยันว่าการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมเป็นวิธีที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ซึ่งหลังจากผ่าตัดแล้วผู้ป่วยห้ามใช้งานข้อสะโพกหนักมาก แต่ด้วยไลฟ์สไตล์ของคนหนุ่มสาวแตกต่างจากคนสูงอายุอย่างสิ้นเชิง รวมถึงช่วงอายุที่ต้องใช้งานข้อสะโพกก็ยาวนานกว่ามาก หากทำการผ่าตัดนี้ในผู้ป่วยที่มีอายุน้อย จะมีปัญหาเรื่องอายุการใช้งานสั้นลง เหลือเพียง 5 - 10 ปี และอาจต้องเปลี่ยนข้อสะโพกใหม่ ซึ่งผลการรักษาจะแย่ลงเรื่อยๆ ทุกครั้งที่มีการผ่าตัดแก้ไขข้อสะโพกใหม่ รวมทั้งมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนสูงขึ้น ดังนั้น แพทย์ด้านกระดูกและข้อจึงได้พยายามชะลอการเปลี่ยนข้อสะโพกครั้งแรกให้ได้นานที่สุด หรือจนกว่าผู้ป่วยจะมีอายุมากกว่า 60 ปี เพื่อเป็นทางออกของคนในวัยทำงานและคนหนุ่มสาวที่มีปัญหาข้อสะโพกเสื่อม จนเมื่อประมาณปี 1989 ได้มีการพัฒนาการเปลี่ยนข้อสะโพกที่เหมาะสำหรับคนที่มีอายุน้อยกว่า 65 ปี ปัจจุบันได้รับความนิยมมากทั่วโลก ถือได้ว่าเป็นการปฏิวัตินวัตกรรมการออกแบบการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเลยทีเดียว การผ่าตัดชนิดนี้คือ การครอบข้อสะโพกเบอร์มิงแฮม ซึ่งเป็นข้อสะโพกแบบโลหะชนกับโลหะ วิธีนี้ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกใหม่ แต่ใช้งานได้ดีดังเดิม และช่วยยืดอายุการใช้งาน

การผ่าตัดครอบข้อสะโพกเบอร์มิงแฮม (Birmingham Hip Resurfacing : BHR) เป็นการผ่าตัดแบบใหม่รักษาโรคที่เกิดจากความเสื่อมของข้อสะโพก โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า 65 ปี โดยข้อสะโพกเทียมเบอร์มิงแฮมมีจุดเด่นหลายประการ คือ

เป็นข้อสะโพกเทียมชนิดหัวโลหะชนกับเบ้าโลหะ ในขณะที่ข้อสะโพกเทียมทั่วไปเป็นแบบหัวโลหะชนกับเบ้าพลาสติก ซึ่งแน่นอนว่าข้อสะโพกเบอร์มิงแฮมมีความทนทานในการใช้งานมากกว่า จึงสามารถผ่าตัดในผู้ป่วยอายุน้อยได้ ข้อสะโพกเบอร์มิงแฮมไม่มีการตัดหัวสะโพกเดิมออกไป หากแต่เป็นการครอบหัวโลหะลงไปที่หัวสะโพก กระดูกส่วนใหญ่ของผู้ป่วยยังคงอยู่ ซึ่งในอนาคตหากต้องเปลี่ยนเป็นข้อสะโพกเทียมแบบตัดหัวสะโพกสามารถดำเนินการต่อได้เลย โดยไม่ต้องรื้อเบ้าโลหะเก่าออก นอกเสียจากว่าเบ้าเดิมจะหลวมมาก ข้อสะโพกเบอร์มิงแฮมมีหัวขนาดใหญ่ตั้งแต่ 38 – 62 มิลลิเมตร ขึ้นอยู่กับขนาดหัวสะโพกเดิมของผู้ป่วย ในขณะที่ข้อสะโพกเทียมธรรมดาแบบโลหะชนกับพลาสติก มีขนาดหัว 28 มิลลิเมตร จึงพบโอกาสเกิดข้อสะโพกหลุดได้มากกว่า 5 – 10 เท่าตัว ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดข้อสะโพกเบอร์มิงแฮม สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติเล่นกีฬาหนักๆ ได้ ตรงกันข้ามกับผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแบบเดิม ที่แพทย์จะสั่งให้จำกัดการทำงานหนัก ห้ามแบกหาม หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนัก มิฉะนั้นอายุการใช้งานของข้อสะโพกจะน้อยกว่าปกติมาก คือน้อยกว่า 5 – 10 ปี ซึ่งการผ่าตัดรอบสองหรือมากกว่า จะให้ผลดีสู้ครั้งแรกไม่ได้ ความเป็นมาของเทคนิคการผ่าตัดครอบข้อสะโพกเบอร์มิงแฮม นพ.วิโรจน์กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องใหม่ทั้งหมด เดิมเคยมีการผ่าตัดคล้ายกันทำนองนี้ตั้งแต่ปี 1950 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงได้ปรับปรุงและแก้ไขเรื่อยมา จนกระทั่งศัลยแพทย์กระดูกและข้อ นพ.ดิเรค แมคมิน ในเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ ประสบความสำเร็จในการพัฒนาการเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแบบพิเศษนี้ตั้งแต่ปี 1989 และได้พัฒนาปรับปรุงเทคนิคต่างๆ ในรายละเอียดจนเป็นรุ่นที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 1997 เป็นต้นมา

ในต่างประเทศผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ผลลัพธ์ดีมากจนมีการบอกต่อๆ กัน โดยเฉพาะในชุมชนเครือข่ายทางอินเตอร์เน็ต เกิดการแพร่สะพัดอย่างรวดเร็ว ในเวลา 10 ปี ทั่วโลกมีการผ่าตัดด้วยวิธีนี้กว่า 80,000 ข้อ โดยที่องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาได้อนุมัติให้ใช้ข้อสะโพกเบอร์มิงแฮมเพียงยี่ห้อเดียว ปรากฏว่าในเวลาแค่ 1 ปี เฉพาะที่สหรัฐอเมริกาประเทศเดียวมีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเบอร์มิงแฮมไปแล้วกว่า 6,500 ข้อ นับว่าเป็นจำนวนมากและเติบโตอย่างรวดเร็ว ในประเทศไทย มีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเบอร์มิงแฮมครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายนปี 2549 และในเวลาต่อมาได้มีการผ่าตัดอีกเป็นจำนวนมาก โดยผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้เหมือนปกติ

การรักษาวิธีนี้เหมาะกับใครบ้าง การผ่าตัดครอบข้อสะโพกเบอร์มิงแฮม แนะนำให้ทำในผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อสะโพกเสื่อม ข้อสะโพกขาดเลือด ที่ยังเหลือกระดูกพอที่จะครอบได้ และข้อสะโพกที่เสื่อมจากการพัฒนาการผิดปกติ

อย่างไรก็ตาม ข้อสะโพกเบอร์มิ่งแฮมยังมีข้อจำกัดบางประการคือ ผู้ป่วยควรมีอายุน้อยกว่า 65 ปี โดยประมาณ ขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของกระดูก เนื่องจากการผ่าตัดในผู้ป่วยที่มีกระดูกพรุน มีความเสี่ยงที่กระดูกคอสะโพกจะหักได้ และผู้ป่วยต้องมีเนื้อกระดูกส่วนเบ้าและหัวสะโพก เหลือเพียงพอที่จะครอบโลหะลงไปได้ โดยหลังผ่าตัดผู้ป่วยจะมีระดับอิออนของโลหะในกระแสเลือดสูงขึ้นกว่าคนปกติเล็กน้อย แต่ไม่มากพอที่จะเป็นอันตรายต่อร่างกาย

จากการเก็บข้อมูลนานกว่า 30 ปี ยังไม่มีรายงานเกี่ยวกับผลข้างเคียงดังกล่าว เช่น ไม่พบการก่อมะเร็ง ไม่พบการทำลายอวัยวะของร่างกาย ไม่พบการทำให้ทารกคลอดผิดปกติ หรืออื่นๆ โดยอิออนโลหะที่สูงขึ้นในกระแสเลือดจะถูกกำจัดออกทางไตตลอดเวลา

นอกจากนี้ ผู้หญิงมีครรภ์ซึ่งมีระดับอิออนโลหะที่สูงขึ้นในกระแสเลือดของแม่ มีรายงานการตรวจพบระดับอิออนโลหะสูงขึ้นในเลือดฝั่งทารกได้ แต่ไม่มีรายงานทารกแรกเกิดผิดปกติ และไม่มีรายงานว่าเป็นสาเหตุของการแท้งบุตร ปัจจุบันผู้ป่วยหญิงที่ได้รับการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ สามารถมีลูกได้ตามปกติ

อย่างไรก็ตาม วิธีที่ดีที่สุดในการรักษาข้อสะโพกให้นานที่สุด คือการใช้งานอย่างถนอมและถูกวิธี พยายามหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้ข้อสะโพกเสื่อมสภาพเร็ว และเมื่อเกิดปัญหา แพทย์คือผู้ที่ให้คำตอบได้ดีที่สุดว่าจะรักษาด้วยวิธีใด

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.hiso.or.th/hiso/public/newsx1743.php