Make Appointment

สาเหตุและวิธีแก้ไขตาขี้เกียจ Lazy eye

19 Dec 2016 เปิดอ่าน 2756

ตาขี้เกียจ Lazy eye
สายตาขี้เกียจ หมายถึง ภาวะที่ความคมชัดของสายตา(Visual acuity) ของตาข้างใดข้างหนึ่งลดน้อยลงไป หรือมีภาวะมัวลง ทำให้มองเห็นภาพวัตถุใดๆไม่เท่ากับตาอีกข้างหนึ่ง เป็นเพราะสาเหตุที่ตาข้างนั้นๆไม่ถูกใช้งานด้วยการมองภาพ หรือถูกปิดบังมิให้แสงจากภาพเข้าสู่ศูนย์กลางความคมชัดได้ตรงเป้า (Fovea centralis) ภาวะเช่นนี้จะเกิดขึ้นเฉพาะเด็กแรกเกิดจนกระทั่งถึงอายุ 6-7 ขวบ ซึ่งเป็นระยะที่ความคมชัดของสายตาเด็กกำลังเจริญเติบโตและพัฒนาไปเรื่อยๆถ้าไม่ถูกใช้งานจะทำให้เกิดภาวะตาขี้เกียจเพิ่มปริมานมากขึ้นตามอายุ

สาเหตุมีได้ดังนี้
- ตาเขตั้งแต่แรกเกิด โดยเฉพาะตาเขเข้าด้านใน คือตาดำเข้ามาชิดกันมาก ทำให้ตาข้างที่เขเข้าไม่ถูกใช้งาน หรือมองภาพด้วยศูนย์กลางการมองภาพชัด ทำให้ประสิทธิภาพค่อยๆลดลง จนกระทั่งถึงอายุ 6-7 ขวบ เลยจากอายุนี้ไปภาวะนี้จะไม่เกิด
การแก้ไขลักษณะนี้จักษุแพทย์หรือผู้ที่เกี่ยวข้องเรื่องนี้จึงต้องพยายามปิดตาเด็กทีละข้างสลับกันเพื่อให้ตาข้างที่เขใช้งานเสียบ้าง เพราะลูกตาคนเรายิ่งใช้มองอะไรมากเท่าไหร่ ประสาทการรับภาพจะทำงานดีเป็นปกติ หรือถ้าตรวจพบว่าตาข้างใดข้างหนึ่งเข ตั้งแต่อายุ 1-2 ขวบ ต้องพยายามช่วยเหลือเบื้องต้นด้วนการปิดตาข้างที่ไม่เขเพื่อบังคับตาข้างที่เขให้ใช้มองเป็นระยะๆ

- เด็กที่สายตาผิดปกติต่างกันมากๆสายตาสั้นมีขนาดไม่เท่ากันหรือยาวไม่เท่ากัน (Anisometropia) ยกตัวอย่างเช่น สายตาขวาสั้น 100 ข้างซ้ายสั้น 800 จะพบว่าข้างซ้ายมีภาวะการมองเห็นไม่ชัดเท่าข้างขวา ตาซ้ายจะเกิดตาขี้เกียจภายหลัง จวบจนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่ ถ้าตรวจสายตาด้วยแผ่นตัวอักษรหรือตัวเลข (Snellen chart) ตาขวาจะได้ 6/6 ส่วนตาซ้ายแม้จะใช้แว่น 800 จะได้เพียง 6/12 หรืออย่างดี 6/9 เท่านั้น

- เด็กหรือคนไข้ที่มีสายตาผิดปกติมากๆและพอๆกัน คือสั้นมากๆหรือยาวมากๆหรือเอียงมากๆทั้งสองข้าง เมื่อโตขึ้นจนกระทั่งเข้าโรงเรียนได้จึงมาตรวจวัดสายตา พบว่าเมื่อใช้แว่นแล้วจะมีอยู่ 1ข้างหรือบางคนทั้ง 2ข้างเลย ที่ไม่สามารถจะปรับสายตาให้ขึ้นมาระดับคนปกติได้ เนื่องจากตาของคนไข้เกิดภาวะขี้เกียจนำมาก่อนหน้านี้แล้ว ยกตัวอย่างเช่น คนที่สายตาสั้น 900 หรือ 1200 พวกนี้วัดสายตาประกอบแว่นอาจไม่เห็นภาพคมชัดเช่นคนปกติ

- ภาวะที่ตาข้างใดข้างหนึ่งมีความผิดปกติมาแต่กำเนิด เป็นต้นว่าเปลือกตาตี่ลงมาปิดตาดำครึ่งหรือค่อนข้างใดข้างหนึ่งตลอดเวลา ทำให้ตาข้างนั้นถูกปิดบังการมองเห็นหรือกระจกตาดำเป็นฝ้าขาว กระจกตาดำโค้งผิดรูปร่าง และที่สำคัญคือเป็นต้อกระจกตั้งแต่กำเนิด เด็กพวกนี้จึงต้องรีบแก้ไขให้ตาข้างนั้นใช้งานได้ด้วยการให้แสง ผ่านศูนย์กลางการมองภาพชัดให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

อาการ
- ภาพไม่คมชัดในตาแต่ละข้างที่เป็น สามารถตรวจวัดได้ด้วยแผ่นตัวอักษรหรือตัวเลข (Snellen chart) พบว่าทั้ง 2ข้างจะไม่เท่ากัน แม้จะแก้ไขด้วยแว่นสายตาแล้วก็ตาม คนไข้จะปรับตัวเองด้วยการชดเชยตาข้างที่เห็นให้ทำงานตลอดเวลา ทำให้เหมือนแบกน้ำหนักข้างเดียว จนบางครั้งมีอาการปวดกรับอกตาได้ แต่ไม่ค่อยพบบ่อยนัก

การป้องกันและแก้ไข
ทำได้ถ้าเริ่มดำเนินการตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนกระทั่งก่อนอายุ 6-7 ขวบ ถ้าเลยจากอายุนี้ไปแล้วแก้ไขยาก จึงเป็นเพียงแก้พอให้ข้างที่ขี้เกียจไม่เลวไปกว่าเดิมเท่านั้น ดังนั้นถ้าพบเด็กที่มีตาเข หรือพบว่ามีสายตาไม่เท่ากัน 2 ข้าง ทั้งที่ใส่แว่นตาแล้ว ควรแนะนำให้ไปพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุ และแก้ไข ถ้าเราได้ใบสั่งแว่นตาของเด็กบางคนที่มีค่าสายตาเอียงมากๆหรือค่าสายตา 2 ข้างต่างกันมากๆไม่ต้องไปลดแว่นให้เขา เพราะเด็กจะปรับตัวได้ดี ไม่งงเหมือนผู้ใหญ่ เพราะถ้าไปลดค่าสายตาแล้ว ตาข้างนั้นอาจได้รับการแก้ไขไม่เต็มที่ สายตาขี้เกียจก็อาจจะไม่ดีขึ้น
ในผู้ใหญ่ที่สายตาขี้เกียจไปแล้ว แก้ไขไม่ได้ ถ้าสวมแว่นสายตาหรือคอนแทคเลนส์ก็ควรจะสวมเป็นประจำเพื่อให้ตาได้ทำงานเต็มที่พร้อมๆกัน ไม่พยายามปล่อยให้ตาข้างหนึ่งทำงานอยู่ข้างเดียวนานๆบางครังพบว่าถ้าไม่ใส่แว่นแล้ว ตาข้างที่ขี้เกียจไม่ได้ใช้งานนานๆอาจลอยเขออกไปก็ได้

พญ.ฐิดานันท์ รัตนธรรม

ขอบคุณบทความจาก : http://www.bridders.com/%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%95%E0%B8%B8%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B9%81%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B9%84%E0%B8%82%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%82%E0%B8%B5/