Make Appointment

สุขภาพดีในฤดูร้อน

01 Mar 2017 เปิดอ่าน 2279

หน้าร้อนมาถึงแล้ว เป็นช่วงที่ทุกๆครอบครัวมักจัดกิจกรรมคลายร้อนมากมาย เช่น พาบุตรหลานไปเยี่ยมญาติ การท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ ปัญหาของสุขภาพ ซึ่งอาจจะทำให้ฤดูร้อนหมดสนุกได้ วันนี้เรามารู้จักโรคต่างๆที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ว่ามีอะไรบ้าง เราควรระมัดระวังตัวอย่างไร เพื่อป้องกันโรคดังกล่าว

โรคต่างๆที่สามารถเกิดขึ้นได้ในฤดูร้อน

1. โรคอุจจาระร่วง

เกิดจากการติดเชื้อได้หลายชนิด เช่น แบคทีเรีย ไวรัส หรือ พยาธิ โปรโตซัว ที่ปนเปื้อนในอาหารน้ำดื่มจากสุขอนามัยที่ไม่ดีพอ หรือ บูดเสีย ก่อ ให้เกิดโรคอหิวาตกโรค บิด ไทฟอยด์ ตับอักเสบเอ โรตาไวรัสซึ่งมักเจอในเด็กเล็ก แนะนำจิบผงเกลือแร่ผสมน้ำทดแทน หากอาการไม่ทุเลา ก็ควรพบแพทย์

2. โรคอาหารเป็นพิษ

เป็นโรคที่พบมากในฤดูร้อน มักพบในคนที่รับประทานอาหารแบบเดียวกัน ส่วนใหญ่มักหายได้เอง บางรายเป็นมากอาจต้องฉีดยา ให้น้ำเกลือเพื่อทดแทนน้ำที่สูญเสียไป สาเหตุ มักเกิดจากรับประทานอาหารที่ปรุงสุกไว้ล่วงหน้านานๆ

3. โรคผิวหนัง ผดร้อน ฝีหนอง กลาก เกลื้อน

ผด เป็นโรคที่พบบ่อยจากอากาศร้อน ต่อมเหงื่ออุดตัน ทำให้เหงื่อระบายออกไม่ได้ มักจะคันร่วมด้วย เกิดบริเวณ ใบหน้า ไรผม ซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ ไหล่ ข้อพับ แนะนำหลีกเลี่ยงอากาศร้อนอบอ้าว อยู่ในที่อากาศถ่ายเท หมั่นอาบน้ำ หากไม่ดีขึ้นอาจพาพบแพทย์พยายามอย่าแกะเกา เพราะจะทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นแผลฝีหนองได้

4. โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่

เกิดจากติดเชื้อไวรัสทางระบบหายใจ ที่พบบ่อยในช่วงนี้ สามารถเกิดได้ทุกเพศทุกวัย มักมีอาการรุนแรงกว่าไข้หวัดธรรมดา เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่ายกว่า เช่น ปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ และรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต การรักษา ส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการ ได้แก่ ทานยาลดไข้ เช็ดตัวด้วยน้ำสะอาด พักผ่อนให้เพียงพอ งดดื่มน้ำเย็นๆ ดื่มน้ำมากๆ ทานอาหารย่อยง่าย ทานผลไม้ที่มีวิตามินซี หากอาการไม่ทุเลาลงใน 1-2 วัน ควรพบแพทย์

5.ไมเกรน

เป็นโรคปวดศีรษะชนิดหนึ่ง จะปวดบริเวณขมับข้างเดียวหรือหน้าก็ได้ อาการปวดจะเป็นพักๆเป็นๆหายๆ ตามความรุนแรง มีตั้งแต่ปานกลางจนถึงรุนแรงมาก อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ตาพร่า อาจไวต่อแสงและเสียง ดังนั้นผู้ป่วยไมเกรนชอบอยู่ในที่เงียบๆเพื่อให้อาการดีขึ้น การรักษาทั่วไปได้แก่ การพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น เช่น ความตึงเครียด สถานที่ที่อุณหภูมิร้อน แสงแดดจัด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

6. โรคฮีทสโตรค

ถือเป็นโรคฉุกเฉินทางการแพทย์ เพราะถึงแก่ชีวิตได้ เกิดจากอุณหภูมิในร่างกายสูง มีผลต่อระบบประสาท และอวัยวะอื่นๆ มักพบในผู้อยู่ในอากาศร้อนจัดเวลานาน ความชื้นสูง ออกกำลังหนัก และพบร่วมกับการขาดน้ำ เช่น เด็กทารก ผู้สูงอายุ นักกีฬา คนงานกลางแจ้ง ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ สับสน ชัก เป็นลม หมดสติ การป้องกันคือ หลีกเลี่ยงสถานที่ดังกล่าว และระวังภาวะขาดน้ำ

7. โรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวน้ำ

เป็นโรคติดต่อร้ายแรง เกิดจากการกัด ข่วน เลียบาดแผล ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สุนัข แมว หนู ที่มีเชื้อไวรัส “เรบีส์” เมื่อถูกสัตว์ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันกัด แนะนำล้าง ทำแผลเบื้องต้น และรีบไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทันที เนื่องจากหากเป็นโรคแล้วมักเสียชีวิต

ข้อควรปฏิบัติในการป้องกัน

  1. แนะนำเลือกรับประทานอาหารและน้ำดื่มที่สะอาด ป้องกันตัวเองง่ายๆโดยวิธี กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ
  2. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หากต้องไปกลางแจ้ง ควรสวมหมวก กางร่ม ทาครีมกันแดด ดื่มน้ำ 6-8 แก้วต่อวัน
  3. หากอากาศร้อนมาก ควรอาบน้ำบ่อยๆ อยู่ในที่อากาศถ่ายเท สวมเสื้อผ้าโปร่ง ไม่รัดแน่น ระบายอากาศได้ดี
  4. นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้สบาย ไม่เครียด อาจหากิจกรรมที่ผ่อนคลายทำ เช่น ทำสมาธิ
  5. ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อแก่ผู้อื่น เช่น หวัด โดยการสวมหน้ากากอนามัย ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ประจำปี
  6. นำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า เพื่อลดความเสี่ยงโรคนี้ของผู้เลี้ยงและผู้อื่น

ขอบคุณบทความจาก : https://www.samitivejhospitals.com/th/%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%94%E0%B8%B5-%E0%B8%A4%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99/