Make Appointment

"หอบหืด" อาจดูไม่ร้าย แต่อันตรายไม่ใช่เล่น

16 Dec 2016 เปิดอ่าน 1041

ใครๆ ก็เคยเหนื่อยทั้งนั้น แต่สิ่งสำคัญที่เราทุกคนควรตระหนักก็คือ เราจำเป็นต้องรู้ว่า อาการเหนื่อยของเรานั้น ผิดปกติหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับเด็กๆ เพราะหากอาการเหนื่อยของเรานั้น มีภาวะของโรคหอบหืดรวมอยู่ด้วยล่ะก็ นั่นหมายความว่า เราอาจได้รับอันตรายจากการเหนื่อยแต่ครั้งได้เลยทีเดียว

โรคหอบหืดคืออะไร?

พญ.ศศิธร แก้วโคมทอง กุมารแพทย์ด้านโรคระบบทางเดินหายใจและนอนกรนในเด็ก โรงพยาบาลพญาไท 3 ได้อธิบายถึง "โรคหอบหืด" ว่า โรคหอบหืด หรือ "asthma" คือ โรคที่มีการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม ทำให้หลอดลมมีความไวต่อการถูกกระตุ้นด้วยสารก่อภูมิแพ้ต่างๆ ตามมาด้วยการตีบแคบลงของหลอดลมจากการที่มีการหดเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบบริเวณหลอดลม เยื่อบุหลอดลมบวมอักเสบ และมีการสร้างเสมหะเพิ่มมากขึ้น การดำเนินโรคมักเป็นๆ หายๆ และมีความรุนแรงแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย

โรคหอบหืด อันตรายแค่ไหน?

โรคหอบหืด จัดเป็นโรคที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยค่อนข้างมาก เพราะโดยลักษณะของโรคนั้น จัดเป็นโรคที่มีภาวะเรื้อรัง ผู้ป่วยจะมีอาการหอบหืดเป็นช่วงๆ เป็นๆ หายๆ สลับกันไป ตามแต่ละสถานการณ์ที่ได้รับปัจจัยร่วมกระตุ้นให้เกิดอาการกำเริบของโรคหอบหืด โรคหอบหืดส่งผลทำให้ผู้ป่วย มีสมรรถภาพในการดำเนินชีวิตที่ต่ำลง เพราะผู้ป่วยจะเหนื่อยง่ายกว่าคนปกติทั่วไป ซึ่งบางครั้งรุนแรงจนถึงขั้นอาจทำให้ผู้ป่วยต้องเข้าโรงพยาบาลได้

โรคหอบหืด ถึงแม้จะดูเหมือนไม่อันตราย แต่ความร้ายแรงนั้นอาจมีได้ถึงขั้นเสียชีวิต ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละราย รวมไปถึงปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการกำเริบ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะดูเป็นโรคที่ไม่ค่อยน่ากังวล แต่ไม่น่าเชื่อว่า สามารถพบได้บ่อยมากในจำนวนประชากรทั้งหมดของทั้งประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโรคหอบหืดในเด็ก ที่พบสูงถึงมากกว่าร้อยละ 11 ของเด็กทั้งหมด ทำให้โรคหอบหืด ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ที่เราควรมองข้าม กลับกันที่เราควรใส่ใจสังเกตอาการและดูแลบุตรหลานให้ดี เพื่อให้เขาสามารถปรับตัวและวิถีการดำเนินชีวิตให้อยู่กับโรคได้อย่างมีความสุข

ปัจจัยใดบ้างที่กระตุ้นให้โรคหอบหืดกำเริบ?

พญ.ศศิธร แก้วโคมทอง กุมารแพทย์ด้านโรคระบบทางเดินหายใจและนอนกรนในเด็ก โรงพยาบาลพญาไท 3 ได้อธิบายถึง การกำเริบของโรคหอบหืดว่า สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย อาทิ

สารก่อภูมิแพ้ ได้แก่ ไรฝุ่น แมลงสาบ เชื้อรา ละอองเกสรดอกไม้ รังแคในสัตว์เลี้ยง
สารที่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อทางเดินหายใจ ได้แก่ ควันบุหรี่ น้ำหอม ควันธูป
การติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ
อื่นๆ เช่น ยาบางชนิด การออกกำลังกาย ความเครียด อากาศร้อน อากาศเย็น และอาหารบางชนิด
อาการของโรคหอบหืด

พญ.ศศิธร แก้วโคมทอง กุมารแพทย์ด้านโรคระบบทางเดินหายใจและนอนกรนในเด็ก โรงพยาบาลพญาไท 3 ได้อธิบายถึง อาการของโรคหอบหืด ว่า เราสามารถสังเกตได้ จากหลายๆ ลักษณะอาการ ดังต่อไปนี้

อาการไอ โดยมากมักจะเป็นการไอแห้ง หรืออาจมีเสมหะปะปนเพียงเล็กน้อย
อาการหอบ หายใจลำบาก รู้สึกเหนื่อยง่ายกว่าปกติ
อาการหายใจมีเสียงวี้ด เนื่องจากหลอดลมหดตัวตีบแคบลง เมื่อได้สัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ ทำให้เวลาหายใจเกิดการติดขัดและมีเสียงวี้ด
อาการ ไอ หอบ มักเป็นๆ หายๆ
มักจะไอในเวลากลางคืนหรือเวลาที่สัมผัสกับสิ่งกระตุ้น
ทั้งนี้ หากผู้ป่วยมีอาการกำเริบมากๆ หลอดลมอาจหดตัวจนรุนแรงถึงขั้นหายใจไม่ออก ส่งผลทำให้ร่างกายขาดอาการหายใจ และนำไปสู่การเสียชีวิตได้ในที่สุด

วินิจฉัยอย่างไร จึงทราบว่าใครเป็นโรคหอบหืด?

สำหรับแนวทางในการวินิจฉัยผู้ป่วยว่าเป็นโรคหอบหืดหรือไม่นั้น พญ.ศศิธร แก้วโคมทอง กุมารแพทย์ด้านโรคระบบทางเดินหายใจและนอนกรนในเด็ก โรงพยาบาลพญาไท 3 ได้อธิบายว่า เริ่มต้น แพทย์จะทำการซักประวัติอาการผู้ป่วย เพื่อดูว่ามีแนวโน้มของเหตุก่อโรคหรือไม่ โดย สอบถามจากอาการไอ หอบ หรือหายใจมีเสียงบ่อยแค่ไหน มีอาการไอเรื้อรัง หรือเหนื่อยง่ายมาก่อนนานเพียงใด เพราะลักษณะของโรคหอบหืดนี้คือเป็นโรคเรื้อรัง ฉะนั้น หากผู้ป่วยมีประวัติอาการดังกล่าวข้างต้น ก็เป็นสมมติฐานที่น่าจะนำไปเชื่อมโยงกับการตรวจละเอียดด้วยอื่นๆ ได้ โดยมีแนวทางปฏิบัติในการวินิจฉัยนอกเหนือจากการซักประวัติอาการ ดังนี้

ตรวจร่างกายทางระบบหายใจพบเสียงวี้ด ซึ่งตอบสนองต่ออาการพ่นยาขยายหลอดลม
การทดสอบสมรรถภาพปอด ในรายที่อาการไม่ชัดเจน
อย่างไรก็ตาม สำหรับปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่อาจทำให้เป็นโรคหอบหืดได้ ซึ่งมีส่วนช่วยในการวินิจฉัย ได้แก่ กรรมพันธุ์ และ สิ่งแวดล้อม โดยในครอบครัวที่พ่อแม่เป็นโรคหอบหืด จะส่งผลทำให้ลูกมีโอกาสเป็นโรคหอบหืดเพิ่มมากขึ้นกว่าคนปกติทั่วไป ในขณะที่ เด็กซึ่งอยู่ในบ้านที่พ่อแม่ พี่น้อง หรือ ญาติและคนในครอบครัวสูบบุหรี่ จะมีโอกาสเป็นโรคหอบหืดในมากกว่าในบ้านที่ไม่มีคนสูบบุหรี่ เป็นต้น

รักษาได้อย่างไร เมื่อเป็นโรคหอบหืด?

พญ.ศศิธร แก้วโคมทอง กุมารแพทย์ด้านโรคระบบทางเดินหายใจและนอนกรนในเด็ก โรงพยาบาลพญาไท 3 ได้อธิบายถึงแนวทางการรักษาโรคหอบหืดว่า สามารถทำได้ ดังนี้

การรักษาด้วยยา
ยาต้านการอักเสบของหลอดลม ได้แก่ ยาพ่นสเตียรอยด์ ซึ่งยังคงเป็นยาหลักที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคหอบหืด และยารับประทาน Montelukast
ยาขยายหลอดลม ซึ่งมีทั้งชนิดพ่น และรับประทานเพื่อลดอาการหอบเหนื่อยเมื่อโรคกำเริบโดยในกลุ่มนี้จัดว่าเป็นยาที่ใช้สำหรับบรรเทาอาการ
การปรับสภาพแวดล้อมและหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น โดยผู้ป่วยมีแนวทางปฏิบัติ ดังนี้
ผู้ป่วยจะต้องหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้อาการหอบหืดกำเริบ โดยเฉพาะสารก่อภูมิแพ้ เช่น ขนสัตว์ ไรฝุ่น ละอองเกสรดอกไม้ เป็นต้น
ผู้ป่วยจำเป็นต้องรู้จักประเมินโรคของตนเองให้ได้ เพื่อรู้ระดับของความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น อันจะทำให้เราสามารถบรรเทาอาการ และป้องกันอันตรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผู้ป่วย และ ญาติใกล้ชิด จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับโรคหอบหืด และ การใช้ยารักษา อย่างถูกต้อง เหมาะสม เพื่อให้กระบวนการการดูแลรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วยเอง
อย่างไรก็ตาม โรคหอบหืด เป็นโรคที่สามารถดูแลให้อยู่ในภาวะสงบได้ ซึ่งหากผู้ป่วยเข้าใจและปฏิบัติตามวิธีการการรักษาอย่างเคร่งครัด ก็จะสามารถมีชีวิตได้อย่างปกติ และปราศจากความเสี่ยง แต่เมื่อใดก็ตามที่ผู้ป่วยไม่สามารถหลีกเลี่ยงจากปัจจัยกระตุ้นให้การการกำเริบได้ อาการของโรคก็อาจมีเกิดขึ้น และทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นได้เสมอเช่นกัน

ดูแลอย่างไร ให้ปลอดภัยจากโรคหอบหืด?

สำหรับแนวทางการดูแลตัวเองให้ปลอดภัยจากโรคหอบหืดนั้น พญ.ศศิธร แก้วโคมทอง กุมารแพทย์ด้านโรคระบบทางเดินหายใจและนอนกรนในเด็ก โรงพยาบาลพญาไท 3 ได้แนะนำเป็นแนวทางปฏิบัติ ดังนี้

หมั่นสังเกตอาการของบุตรหลาน ว่ามีอาการของภูมิแพ้ เป็นหวัดคัดจมูกบ่อยไหม ซึ่งอาจเป็นโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้และมีความสัมพันธ์กับโรคหอบหืด
สังเกตว่าอะไร เป็นสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ ควรหลีกเลี่ยง
หมั่นทำความสะอาดห้องนอนที่อยู่อาศัย
หลีกเลี่ยงสิ่งแวดล้อมที่มีควันพิษ ควันบุหรี่
ดูแลให้บุตรหลานได้มีโอกาสออกกำลังกาย สม่ำเสมอ (กรณีผู้ที่ออกกำลังกายแล้วมีอาการหอบหืดกำเริบ ควรปรึกษาแพทย์ก่อน)
การดูแลให้บุตรหลานเข้านอนเป็นเวลา พักผ่อนให้เพียงพอ
การตรวจคัดกรองว่าเป็นสารกระตุ้นอะไรที่ทำให้เกิดภูมิแพ้ เมื่อทราบว่าแพ้สารอะไรก็สามารถหลีกเลี่ยงได้ถูกต้องมากยิ่งขึ้น
ผู้ป่วยโรคหอบหืด ควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ทุกปี
อย่างไรก็ตาม สาเหตุของโรคหอบหืดอย่างหนึ่งนั้นเป็นผลสืบเนื่องมาจากพันธุกรรม ซึ่งเด็กที่ได้รับโรคส่งต่อมาจากทางพ่อหรือแม่ที่เป็นโรคหอบหืด นั้น ถือเป็นปัจจัยที่เราไม่สามารถป้องกันได้ แต่เราก็ยังสามารถป้องกันและดูแลความเสี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ ในส่วนที่เป็นเรื่องของความรู้ ความเข้าใจ และสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อการกำเริบของโรคหอบหืด โดยเมื่อเรามีความรู้ที่ถูกต้อง ดูแลบ้านให้สะอาดปราศจากฝุ่นละอองหรือสารก่อภูมิแพ้ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ฯลฯ เพียงเท่านี้ ก็สามารถทำให้ผู้ป่วยโรคหอบหืดสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุขเหมือนคนปกติมากยิ่งขึ้น

พญ.ศศิธร แก้วโคมทอง

* ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.facebook.com/Healthnewsdaily/posts/774160572616191