Make Appointment

อย่าคิด…ว่าเด็กไม่เป็นไซนัส

01 Mar 2017 เปิดอ่าน 1634

ตัวร้อน น้ำมูกไหล ไอตอนกลางคืน เป็นวัฏจักรที่วนเวียนอยู่แบบนี้ เรื่องไข้นั้นยังไม่เท่าไหร่ มีบ้างไม่มีบ้างก็ยังดี แต่เรื่องน้ำมูกนี่สิแทบจะไม่เคยห่างหายไปจากลูกเลย จนบางครั้งลูกต้องหายใจทางปากตอนนอน เพราะคัดจมูก หายใจไม่ออก แม่ก็กลุ้มใจทำไมลูกเป็นหวัดไม่หายเสียที

อาการแบบนี้อาจไม่ใช่ไข้หวัดธรรมดา แต่กำลังบ่งบอกว่า ลูกของคุณอาจเป็นไซนัสอักเสบ ซึ่งในเด็กเล็ก มักเป็นหวัดบ่อยกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉลี่ยเด็กจะเป็นไข้หวัดจากเชื้อไวรัส ประมาณ 6-8 ครั้งต่อปี และประมาณร้อยละ 10 ของเด็กเหล่านี้ จะมีไซนัสอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนตามมา

ไซนัสคืออะไร

ไซนัสเป็นโพรงอากาศในกะโหลก ซึ่งพบได้ที่หัวคิ้วขอบจมูกและโหนกแก้ม หน้าที่ปกติของโพรงไซนัสไม่เป็นที่ทราบแน่นอน แต่อาจทำให้กะโหลกเบา เสียงก้อง สร้างเมือกและภูมิคุ้มกันให้กับโพรงจมูก โดยปกติเมือกโพรงไซนัสจะไหลเข้าสู่โพรงจมูก ผ่านช่องเล็กๆ (Ostium) ที่ผนังข้างจมูกเพื่อใช้ในการต่อสู้เชื้อโรคและระบายสิ่งแปลกปลอมจากจมูกลงสู่ลำคอ หรือออกทางจมูก

ไซนัสอักเสบได้อย่างไร

เมื่อโพรงจมูกเกิดอาการบวม เช่น ในขณะเป็นหวัด หรือขณะที่เป็นจมูกอักเสบจากภูมิแพ้หรือมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในจมูก จะทำให้ช่องติดต่อระหว่างโพรงไซนัสและจมูกดังกล่าวอุดตัน และเกิดคั่งค้างของน้ำเมือกในโพรงไซนัส และเมื่อเชื้อโรคจากจมูกเข้าสู่โพรงไซนัสได้ก็จะแบ่งตัว และทำให้เกิดการติดเชื้อของโพรงไซนัสและมีหนองเกิดขึ้น ทำให้จมูกบวมมากยิ่งขึ้น ซึ่งเรียกว่าเกิดโรค “ไซนัสอักเสบ”

อาการของโรคไซนัสอักเสบอาจแตกต่างกันระหว่างในเด็กและผู้ใหญ่ โดยในผู้ใหญ่จะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ และอ่อนเพลียได้มากกว่าในผู้ป่วยเด็ก ซึ่งมักไม่ค่อยมีอาการดังกล่าว เมื่อช่อง (Ostia) ที่ติดต่อระหว่างโพรงไซนัสและจมูกเปิดออกเป็นครั้งคราว หนองและเมือกจากโพรงไซนัสก็จะไหลลงสู่จมูกและคอทำให้เด็กเกิดอาการ

  • น้ำมูกไหลโดยสีของน้ำมูกอาจเป็นสีเขียว เหลือง หรือขาวเป็นมูก
  • ไอ เพราะเมือกหรือหนองไหลลงคอ กระตุ้นให้เกิดอาการไอโดยเฉพาะตอนนอนในเวลากลางคืน
  • ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น

การรักษา ประกอบด้วยหลักใหญ่ 3 ประการคือ

  1. การให้ยาฆ่าเชื้อโรค โดยแพทย์จะเป็นผู้เลือกใช้ยาเหล่านี้ตามความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละคน ระยะเวลาในการใช้ยาจะนานกว่าการรักษาการติดเชื้อของระบบหายใจตามปกติ เพราะจะต้องรักษาจนหนองหมดไปจากโพรงไซนัส ซึ่งอาจจะใช้เวลานานถึง 3-6 สัปดาห์
  2. การทำโพรงจมูกที่บวมให้ยุบลง เพื่อให้หนองในโพรงไซนัสไหลถ่ายเทออกมาให้หมด โดยการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ และใช้ยาพ่นจมูก
  3. การหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น ผู้ป่วยที่เป็นโรคไซนัสอักเสบจำนวนหนึ่ง (อาจถึงร้อยละ 50) อาจจะมีอาการของโรคไซนัสอักเสบเนื่องมากจากโรคภูมิแพ้ของจมูก ซึ่งจะทำให้จมูกบวมและมีอาการติดเชื้อตามมา ผู้ป่วยดังกล่าวควรหลีกเลี่ยงสารแพ้จากไรฝุ่น ควันบุหรี่ การติดเชื้อจากคนรอบข้าง การอยู่ในที่แออัด การว่ายน้ำในสระที่ไม่ได้มาตรฐาน ฯลฯ ตามคำแนะนำของแพทย์

ไซนัสอักเสบเป็นโรคที่พบได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ อาจสร้างความรำคาญใจให้ทั้งคุณแม่และคุณลูกที่เป็น แต่ไซนัสไม่ใช่เรื่องน่ากลัว หากคุณพ่อคุณแม่มีความเข้าใจ ก็สามารถป้องกันไม่ให้เกิดอาการไซนัสอักเสบกับลูกเล็กได้

ด้วยความปรารถนาดีจาก ศ.นพ.ปกิต วิชยานนท์ สถาบันโรคภูมิแพ้สมิติเวช โรงพยาบาลสมิติเวช ธนบุรี

โดย : ศ.นพ.ปกิต วิชยานนท์

ขอบคุณบทความจาก : https://www.samitivejhospitals.com/th/%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%81%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%8B%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%AA/