Make Appointment

อาการเสียงแหบ

04 Sep 2016 เปิดอ่าน 4714

เสียงแหบ

เป็นภาวะที่เสียงพูด เสียงร้องเปลี่ยนแปลงไปจากภาวะปกติ อาการเสียงแหบนี้เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่สามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ

คือ ภาวะความผิดปกติของรูปร่างของสายเสียง (Anatomical Change) หรือภาวะความผิดปกติของการทำงาน (Functional Change) ซึ่งสามารถวินิจฉัยได้โดยการตรวจทางหู คอ จมูก โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
กล่องเสียง (Larynx) เป็นอวัยวะส่วนสำคัญในการก่อกำเนิดเสียง ขณะที่ลมจากปอดผ่านมายังกล่องเสียงนั้น สายเสียง (Vocal Cord) ซึ่งควบคุมด้วยแขนงของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 10 (Cranial nerve) จะควบคุมการสั่นสะเทือนของเสียงให้มีระดับเสียงสูงหรือต่ำตามต้องการ เมื่อคลื่นเสียงที่สั่นตามความถี่ที่กำหนดผ่านโคนลิ้น ลิ้น เพดาน ปาก ฟัน ริมฝีปาก จะออกมาเป็นภาษาพูดที่ต้องการ

สาเหตุของการเกิดเสียงแหบที่พบบ่อย

 1.การอักเสบของสายเสียง (Laryngitis)  การอักเสบของสายเสียงที่เกิดจากการติดเชื้อ มักมีอาการเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายไข้หวัด (Flulike symptoms) มาก่อน 2-3 วัน จากนั้นมีอาการเจ็บคอมากขึ้น เสียงจะเริ่มเปลี่ยนจนถึงเสียงหายไป การรักษาขั้นต้น ผู้ป่วยจำเป็นต้องพักเสียง งดใช้เสียง ดื่มน้ำมากๆ ยาปฏิชีวนะจำเป็นในรายที่มีการติดเชื้อแบคทีเรีย

2.การใช้เสียงผิดวิธี (Voice abuse) พบในผู้ที่มีอาชีพต้องใช้เสียงมาก เช่น พ่อค้า แม่ค้า นักร้อง ครู ฯลฯ ใช้เสียงผิดวิธี หรือใช้เสียงมากเกินไป ตะโกน ตะเบ็งเสียง ทำให้เกิดการอักเสบของสายเสียงชนิดที่ไม่มีการติดเชื้อ การรักษาในระยะเริ่มต้น ใช้เพียงการพักเสียงและใช้เสียงให้ถูกต้อง ถ้าสายเสียงบวมมากเสียงแหบอยู่นาน ต้องใช้ยาลดอาการบวม ในรายที่เป็นตุ่มแผลเป็นที่ไม่ตอบสนองต่อการฝึกพูด การใช้ยาจำเป็นต้องได้รับการส่องกล้องทำการผ่าตัด ตกแต่งสายเสียง โดยใช้กล้องจุลทัศน์ (Microscopic excision)

3.ความผิดปกติของระบบประสาท การเกิดอัมพาตของแขนงเส้นประสาทสมองคู่ที่ 10 (Recurrent laryngeal nerve) ที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของสายเสียงจะทำให้ผู้ป่วยมีเสียงแหบขณะออกเสียง ซึ่งสาเหตุอาจเกิดได้จากการผ่าตัดบางชนิด, โรคทางระบบสมอง โรคเกี่ยวกับปลายประสาท หรือสาเหตุจากภายนอก ตรวจร่างกายจะพบอัมพาตของสายเสียงขณะออกเสียง อาจมีอาการสำลักอาหารหรือน้ำลายได้ การหายใจปกติ อาการอาจดีขึ้นได้เองจากการที่เส้นประสาทกลับมาทำงานเหมือนเดิม หรือมีการทำงานชดเชยจากสายเสียงอีกข้าง ในรายที่อาการเสียงแหบไม่ดีขึ้น ต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไข

4.เนื้องอก เนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงจะเกิดจากไวรัส (Laryngeal papilloma) มักพบในเด็ก เป็นซ้ำๆ ได้บ่อย การรักษาจะต้องได้รับการผ่าตัดก้อนเนื้อเป็นระยะๆ

โดยสรุป เสียงแหบ เกิดได้หลายสาเหตุ ตั้งแต่ระดับไม่รุนแรงจนถึงอันตราย บางสาเหตุหายได้เอง บางชนิดต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ในผู้ป่วยที่มีอาการเสียงแหบและได้รับการรักษาแล้วไม่ดีขึ้นใน 2 สัปดาห์ ควรได้รับการตรวจจากแพทย์หู คอ จมูก เพื่อแยกโรคที่เป็นอันตราย และเพื่อการดูแลรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

ข้อมูลจาก รศ.นพ.วีระชัย คีรีกาญจนะรงค์

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.ryt9.com/s/bmnd/902119