Make Appointment

เคล็ดลับลดการนอนกรน

04 Sep 2016 เปิดอ่าน 1488

เสียงกรนอันดัง คล้ายสิงโตคำราม สนั่นหวั่นไหว อยู่ข้างๆ ตัว นับเป็นโศกนาฏกรรมของชีวิตลูกผู้หญิงหลายๆ ท่าน ที่ต้องประสบอยู่ทุกค่ำคืน รวมทั้งอาจจะเป็นสาเหตุทำลายชีวิตคู่ของหลายๆ ท่านได้ซ้ำไป

ถ้าคุณสามีของท่านมีน้ำหนักตัวมาก ดื่มเบียร์ คงต้องแนะนำว่าให้พยายามลดน้ำหนักตัว ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และควรออกกำลังกายมากขึ้น

ถ้าสามีสุดที่รักของท่านมีปัญหาโรคภูมิแพ้ ชอบมีน้ำมูก แน่นจมูกโดยเฉพาะเวลากลางคืน นอนอ้าปาก น้ำลายไหล ตื่นเช้ามาแล้วรู้สึกคอแห้ง แสบคอ ควรไปปรึกษาแพทย์

การผ่าตัดและการใช้เครื่องช่วยหายใจแรงดันบวก ที่หลายคนคงเคยได้ยินได้ฟังมาในชื่อภาษาอังกฤษว่า เครื่องซีแพ่บ (CPAP ย่อมาจาก Continuous Positive Airway Pressure) เป็นการรักษาที่ถือว่าเป็นการรักษาวิธีหลัก โดยเฉพาะการใช้เครื่องช่วยหายใจ เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปในโลกว่าได้ผลดีที่สุด

แต่บางรายอาจไม่สามารถใช้ได้ด้วยเหตุผลต่างๆ จึงมีการผ่าตัดเป็นอีกวิธีที่เป็นทางเลือก บางคนอาจต้องผ่าตัดจมูกเพื่อให้หายใจสะดวกขึ้น บางคนได้รับการผ่าตัดเอาต่อมทอนซิลออก บางคนต้องผ่าตัดเอาเพดานอ่อนออกบางส่วน

ในปัจจุบันมีการพูดถึง การใช้วัสดุฝังเพื่อยึดตรึงเพดานอ่อน (Pillar Palatal Implant) ในรักษาการนอนกรน ว่าได้ผลเร็ว เจ็บน้อย แต่มีราคาแพงพอสมควร

หลักการของวิธีนี้คือการสอดวัสดุที่ทำมาจากพลาสติก 3 แท่ง โดยใช้อุปกรณ์ที่ปลายเป็นเข็มยาวๆ แทงเข้าไปในเพดานอ่อนผ่านทางช่องปาก การทำนี้ไม่ต้องวางยาสลบ เพียงใช้การพ่นยาชาแล้วตามด้วยการฉีดยาชาเฉพาะที่เล็กน้อย ใช้เวลาในการทำทั้งหมดไม่นาน หลังทำผู้ป่วยมักรู้สึกเจ็บบ้างเล็กน้อย วัสดุดังกล่าวจะทำหน้าที่ยึดตรึงเพดานอ่อนให้มีการสั่นสะเทือนลดลง ทำให้เสียงกรนลดลงได้

แต่อย่างไรก็ตาม องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกายังไม่ได้ให้การรับรองการรักษาวิธีนี้ในกรณีนอนกรนที่มีอันตราย หมายถึงมีการหยุดหายใจขณะนอนหลับอันเนื่องจากมีทางเดินหายใจอุดกั้น ซึ่งคุณภรรยาอาจต้องลองสังเกตดูว่า คุณสามีมีการนอนกรนที่ขาดหายไปเป็นช่วงๆ มีลักษณะเหมือนหายใจไม่สะดวกแล้วตามมาด้วยการหายใจแรงๆ สลับไปมา คุณสามีที่เป็นแบบนี้มักไม่รู้ตัวแต่มักจะพบว่ามีอาการนอนไม่อิ่ม และง่วงเหงาหาวนอนได้ง่ายๆ

ประชาชนผู้สนใจเรื่องนี้จึงควรมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า วิธีนี้ใช้ได้เฉพาะกรณีนอนกรนธรรมดา โดยไม่มีการหยุดหายใจ หมายความว่า ถ้าท่านยังไม่แน่ใจว่า คุณสามีของท่านนอนกรนแบบไหน อันตรายรึเปล่า ควรไปปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญ และวิธีที่จะช่วยวินิจฉัยได้ดีที่สุดว่าเป็นอันตรายหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน คือการตรวจการนอนหลับ (Sleep Test)

โดย รศ.นพ.ประกอบเกียรติ หิรัญวิวัฒน์กุล

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.srisangworn.go.th/modules.php?op=modload&name=News&file=article&sid=605