Make Appointment

เด็กร้อง 3 เดือน (โคลิก)

12 Sep 2016 เปิดอ่าน 2454

เมื่อเด็กทารกในช่วงอายุ 3 เดือนแรกมีอาการร้องไห้รุนแรงและร้องเป็นเวลานาน เป็นผลให้พ่อแม่มีความกังวลใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับทารก มีโรคอะไรร้ายแรงที่เป็นสาเหตุ   โดยทั่วไปเรียกอาการดังกล่าวว่า   โคลิก (colic)    ในต่างประเทศพบได้ประมาณร้อยละ 5-25     ซึ่งจะมีอาการร้องไห้มากในช่วงอายุเหล่านี้ได้บ่อยอยู่แล้ว แต่จะถือว่ามีอาการโคลิกเมื่อทารกมีอาการร้องไห้ที่รุนแรง โมโห ร้องแบบแผดเสียง หน้าแดง กำหมัดแน่น ขางอเข้าหาหน้าท้อง โดยมีอาการนานมากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน มากกว่า 3 วันต่อสัปดาห์และเป็นอยู่นานมากกว่า 3 เดือน โดยทารกต้องมีสุขภาพดีและกินอาหารได้เป็นปกติ   เริ่มมีอาการเมื่ออายุประมาณ 2 สัปดาห์และจะค่อย ๆ ดีขึ้นภายในอายุ 4 เดือน  อาการร้องมักจะเกิดขึ้นในช่วงบ่ายหรือเย็น

สาเหตุ

สาเหตุของอาการเหล่านี้ยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจน แต่เชื่อว่าน่าจะมีสาเหตุหลาย ๆ อย่างร่วมกันของระบบทางเดินอาหาร จิตวิทยาระบบประสาทและพัฒนาการในทารก  อย่างไรก็ตามอาการโคลิกจะพบได้ในโรคหลายโรค แต่จะเป็นสาเหตุได้น้อยในโคลิก และโรคเหล่านี้ส่วนใหญ่จะมีอาการแบบเฉียบพลัน เช่น ความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง ท้องผูก แพ้นม การขย้อนหรือสำลักอาหาร แผลที่รูก้น การติดเชื้อในร่างกาย เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ทางเดินปัสสาวะอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ การได้รับอุบัติเหตุ  เช่น กระดูกหัก แผลที่ตาดำ แมลงเข้าไปในหู เป็นต้น   

เนื่องจากขณะที่ทารกร้องไห้จะมีท่างอขาไปชิดหน้าท้อง ทำให้คิดว่าน่าที่จะมีความผิดปกติที่ระบบทางเดินอาหาร  การที่ทารกร้องไห้มาก ๆ ทำให้มีการกลืนก๊าซเข้าไปลำไส้มาก เป็นผลให้แน่นท้อง ไม่สบายตัว แต่ไม่น่าจะทำให้ทารกมีอาการร้องไห้ที่รุนแรง    ข้อมูลที่กล่าวว่าอาจเป็นผลจากการแพ้สารอาหารที่รับประทานซึ่งยังไม่สรุปแน่นอน  การเคลื่อนไหวของลำไส้ที่มากกว่าปกติ อาจทำให้ทารกมีอาการเจ็บปวด ซึ่งทารกบางรายอาจมีอาการดีขึ้น  เมื่อได้รับยาลดการบีบตัวของลำไส้

 ด้านของสุขภาพจิตของมารดาและความสัมพันธ์ระหว่างมารดากับทารก พบว่ามารดาอาจคิดว่าตัวเองยังไม่มีความชำนาญในการเลี้ยงดู มีความกังวลและรู้สึกล้าในการดูแลทารกมารดาที่อายุน้อยและไม่มีผู้ใหญ่ช่วยเลี้ยงดูทารก มารดาจะรู้สึกเครียด เมื่อทารกร้องไห้และไม่รู้วิธีการที่ทำให้ทารกหยุดร้อง  

ด้านระบบประสาทและพัฒนาการพบว่า ทารกที่ร้องไห้มาก ๆ อาจถือว่าเป็นปกติสำหรับเขาเพียงแต่ว่าทารกกลุ่มนี้อยู่ในกลุ่มที่ร้องไห้มากกว่าทารกทั่วไป และเมื่อเวลาผ่านไประบบประสาทและการพัฒนาการดีขึ้นอาการก็จะหายไปได้เอง

การวินิจฉัยโรค

ผู้ปกครองมักมีความกังวลว่าจะมีโรคที่รุนแรงที่ทำให้ทารกร้องไห้มาก การซักประวัติและการตรวจร่างกายอย่างรอบคอบของแพทย์จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง  แพทย์จะถามถึงพฤติกรรมขณะที่ร้องไห้ ช่วงของเวลา และระยะเวลาของการร้อง  ประวัติการหยุดหายใจ อาการเขียว หายใจลำบาก อาการแหวะนมและอาเจียน  การตรวจร่างกายของแพทย์มีจุดประสงค์เพื่อหาสาเหตุที่จะทำให้ทารกมีอาการร้องไห้อย่างรุนแรง ไม่มีความจำเป็นในการทำการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น ตรวจเลือด ปัสสาวะหรือเอกซเรย์ถ้าทารกมีการเจริญเติบโตและการตรวจร่างกายที่ปกติ

การรักษา

สิ่งที่สำคัญคือ การให้ข้อมูลกับผู้ปกครองให้เข้าใจถึงอาการนี้รวมทั้งการดำเนินโรค การให้คำแนะนำจะช่วยลดความกังวลของตัวผู้ปกครองรวมทั้งญาติที่อยู่ด้วยกัน

ข้อแนะนำในการดูแลทารกทีมีอาการ ได้แก่  การสร้างบรรยากาศในการเลี้ยงดูให้สงบ อุ้มทารกเมื่อมีอาการ โดยพยายามสังเกตว่ามีอะไรที่ทำให้ทารกไม่สบายตัว เช่น ผ้าอ้อมเปียก อากาศที่ร้อนหรือเย็นเกินไป   ให้อาหารไม่มากหรือน้อยเกินไป สังเกตอาการหิวของทารก และให้นมตามที่ต้องการ  อาการโคลิกจะพบได้ทั้งในทารกที่กินนมมารดาและนมผสม   ถ้าทารกที่กินนมมารดาแนะนำให้กินต่อไป ถ้าคิดว่าทารกอาจมีปฏิกิริยาต่อสารอาหารที่มารดารับประทาน  และสารนั้นอาจผ่านมาทางน้ำนม  อาจลองให้มารดาหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์จากนมวัว ไข่ ถั่ว แล้วดูการตอบสนอง ในทารกที่ดื่มนมผสมแนะนำให้ดื่มต่อไปยกเว้นมีข้อมูลที่ชี้นำว่าอาจแพ้นมวัว เช่น อาการแหวะนม มีผื่นขึ้น ถ่ายเหลว หรือถ่ายเป็นเลือด ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อแนะนำให้เปลี่ยนนมเป็นชนิดอื่น

การใช้ยาขับลม  simethicone  ไม่ค่อยได้ผลมากนัก การใช้ยาขับลมที่ผสมสารหลายอย่าง เช่น Gripe Water เพื่อลดอาการท้องอืด ย่อยไม่ดี แต่ต้องระวังในส่วนประกอบว่ามี น้ำตาลหรือแอลกอฮอล์ ซึ่งจะมีผลเสียกับทารกได้  ยากลุ่มที่ลดการบีบตัวของลำไส้อาจทำให้อาการดีขึ้น แต่จะต้องระวังผลข้างเคียงของยา เช่น กดการหายใจ ทำให้ง่วงซึม  จึงควรหลีกเลี่ยง

การดำเนินโรค

โดยทั่วไปอาการจะดีขึ้นเมื่ออายุ 3 - 4 เดือน  การศึกษาในต่างประเทศพบว่า เมื่อติดตามทารกเป็นระยะเวลา 1 ปีพบว่าไม่มีความแตกต่างในด้านพฤติกรรม หรือโรคภูมิแพ้เมื่อเปรียบเทียบกับทารกที่ไม่มีอาการโคลิก

 รศ.นพ.ประพันธ์  อ่านเปรื่อง

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=568