Make Appointment

เตือน “ลมชัก” ห้ามใช้ช้อน มือ อุดปาก เสี่ยงฟันหักอุดหลอดลม

22 Sep 2016 เปิดอ่าน 1782

แพทย์ชี้ “ลมชักในเด็ก” เกิดจากคลื่นสมองไฟฟ้าผิดปกติ มีหลายสาเหตุ เผยส่วนใหญ่มาจากผลกระทบทางสมอง รับยาต่อเนื่องหายได้เมื่อเข้าวัยรุ่น ย้ำเด็กชักให้จับนอนตะแคง เอาของทุกอย่างในปากออก เตือนห้ามเอาช้อน มือ อุดปาก เสี่ยงฟันหัก อุดหลอดลม ทำพิการ เสียชีวิต ก่อนนำส่ง รพ.
       
       นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ นายแพทย์เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์ ประสาทวิทยา สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ภาวะลมชักในเด็กเกิดจากการสร้างคลื่นไฟฟ้าในสมองผิดปกติ สาเหตุมาจากกรรมพันธุ์ หรือระหว่างตั้งครรภ์มีการใช้ยาเสพติด ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัด สูบบุหรี่จัด หรือระหว่างคลอดมีปัญหาสมองขาดออกซิเจน หลังคลอดเด็กเกิดติดเชื้อในสมอง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เส้นเลือดตีบ ตัน หรือได้รับอุบัติเหตุ เป็นต้น หรือบางครั้งก็เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ อัตราการเกิดอยู่ที่ร้อยละ 0.5 - 1 ของประชากรเด็ก แต่หากได้รับการรักษาและรับประทานยาต่อเนื่องพบว่าประมาณร้อยละ 60 - 70 สามารถหายได้เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น
       
       นพ.ธนินทร์ กล่าวว่า การชักจะแสดงออกมาหลายลักษณะโดยสัมพันธ์กับอายุ เช่น ชักเกร็ง ชักกระตุก ชักเหม่อ ซึ่งคนมักเรียกว่าฝันกลางวัน แต่ภาวะเหล่านี้สัมพันธ์กับอายุ โดยเด็กอายุไม่เกิน 1 ขวบมักพบอาการนอนสะดุ้ง งอตัว คอพับเข้าหาตัว เป็น ๆ หาย ๆ ส่วนใหญ่มักจะมีภาวะตากระตุก หรือม่านตาขยายร่วมด้วย ทั้งนี้ หากพบเด็กมีอาการชักต้องปฐมพยาบาลด้วยการจับนอนตะแคงให้ศีรษะอยู่ต่ำ เอาของที่อยู่ในปากออก ไม่ให้ไปขวางทางเดินหายใจ ห้ามมุงดู ต้องเปิดให้อากาศปลอดโปร่ง และสังเกตอาการว่าเด็กชักท่าไหน พยายามปลุกเด็กเบา ๆ หากชักนานต้องรีบพาส่ง รพ. และระมัดระวังเรื่องการเคลื่อนย้ายอาจจะรีบจนทำให้หัวเด็กไปกระแทกกับขอบประตู โต๊ะ ได้
       
       “ที่ผ่านมา จะพบว่าคนไทยปฐมพยาบาลผู้ป่วยลมชักด้วยการใช้ช้อน มือตัวเอง หรืออะไรก็ตามมาอุดปากผู้ป่วย เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยกันลิ้นตัวเอง ตรงนี้ห้ามทำเด็ดขาด เพราะปกติ ผู้ป่วยชัก ลิ้นจะหดตัว การหาสิ่งของอุดปาก จะทำให้เด็กได้รับบาดเจ็บโดยเฉพาะฟัน ที่ยังไม่แข็งแรงมากพอ อาจจะหักและหลุดเข้าไปในหลอดลมทำให้เด็กเสียชีวิต หรือพิการ ปอดแฟบ หรือปากแตกได้ เช่นเดียวกับ การงัดแขนขณะเกร็งอยู่ อาจจะทำให้กระดูกหัก ข้อหลุด ตรงนี้ขอห้ามเลยไม่ว่าจะเป็นการปฐมพยาบาลผู้ป่วยชักในเด็กหรือผู้ใหญ่” นพ.ธนินทร์ กล่าว

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9580000079231&Html=1&TabID=3&