Make Appointment

เทคนิครับมือ ‘เจ้าตัวเล็ก’ ชอบร้องงอแงกลางดึก

03 Aug 2016 เปิดอ่าน 4074

ปัญหาการร้องโยเย ไม่ยอมหลับในตอนกลางคืนของลูกเล็ก ถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับพ่อแม่หลายคน เพราะอาจกล่าวได้ว่า เวลากลางคืนเป็นเวลาพักผ่อนที่ยาวนานที่สุดของคนเป็นพ่อแม่ เมื่อลูกร้องก็จะต้องผลัดกันตื่นมาดูแลลูก จนอาจทำให้ทั้งพ่อ และแม่ก็พลอยไม่ได้หลับไม่ได้นอน เสียสุขภาพไปด้วย

ซึ่งปัญหาดังกล่าวนี้อาจแก้ได้ไม่ยาก โดยต้องมองย้อนถึงสาเหตุของปัญหาก่อนว่า เกิดจากอะไร ซึ่งโดยปกติแล้วอาจเกิดจากการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการที่เด็กไม่ได้รับการปลูกฝังให้กล่อมตัวเองนอนตั้งแต่เล็ก หรือแม้แต่เรื่องพื้นอารมณ์ของเด็กก็มีผลอยู่ด้วยเช่นกัน

"พญ.อดิศร์สุดา เฟื่องฟู" กุมารแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวกับทีมงานในงาน Interactive Workshop 10 บัญญัติ สร้างลูกสมองดี by Baby Love ครั้งที่ 2 ที่บริษัทรักลูก กรุ๊ปว่า "ปัญหาดังกล่าวอาจเกิดจากพ่อแม่คนไทยมีความรู้สึกเป็นห่วงลูก ไม่อยากให้ลูกนอนคนเดียว แถมการนอนกับลูกนั้นก็มีทั้งการกอด การกล่อมนอน การตบก้น การลูบหลัง หรือป้อนนมจนหลับ ขณะที่เด็กเล็กในประเทศตะวันตกจะถูกสอนให้รู้จักการกล่อมตัวเองนอน และพ่อแม่จะแยกห้องนอนออกไป เมื่อลูกร้องงอแง หรือตื่นขึ้นมาไม่พบใคร เด็กก็จะสงบลงได้ด้วยตัวเอง"

"หมอเอง ช่วงที่มีลูกคนแรก ก็ตอบสนองลูกเร็วเกินไป เวลาลูกร้องตอนช่วงดึก จะรีบเข้าไปอุ้ม และตบก้นกล่อมให้นอนจนหลับทันที ซึ่งการตอบสนองตรงนั้น ทำให้เรียนรู้ว่า เมื่อลูกร้อง แล้วเข้าไปอุ้มทันที ลูกจะชินกับการอุ้ม หรือถูกกล่อมนอน เวลาตื่นขึ้นมา ไม่มีใครอุ้ม ก็จะร้องเพื่อเรียกแม่ทันที กระทบถึงเวลานอนของแม่ด้วย"

"เมื่อมีลูกคนที่สอง จึงฝึกลูกใหม่ โดยให้นอนคนละเบาะกับพ่อแม่ เวลาลูกร้อง ก็จะทำเฉย หรือถ้าร้องนานหน่อย ก็จะเข้าไปตบก้น หรือหาตุ๊กตามาให้ลูกกอด แต่ทั้งนี้หลัง 6 เดือน ก็ต้องฝึกไม่ให้ลูกทานมื้อดึก หรือกล่อมลูกนอนโดยเอานมให้กิน เพราะจะทำให้เขาชิน ที่สำคัญจะทำให้อ้วน ฟันผุ และฟันเหยินได้ค่ะ"

อย่างไรก็ดี หากลูกตื่นขึ้นมาร้องไห้ตอนกลางคืน คุณหมอแนะนำว่า พ่อแม่ควรปล่อยให้ลูกร้องต่อไปสักพัก เมื่อพ่อแม่ไม่เข้ามาดู เด็กจะหลับไปเอง แต่พ่อแม่ต้องใจแข็งด้วย เมื่อลูกรู้ว่าการร้องไม่ได้ผล เด็กจะเงียบ และไม่ส่งเสียงการร้องอีก แต่ทั้งนี้ต้องไม่ควรทำกับเด็กที่เล็กเกิน 6 เดือน

"เมื่อร้องนานมาก จนคุณแม่รู้สึกสงสาร อาจเข้าไปดู และตบก้นเบาๆ เพื่อให้ลูกรู้สึกสบายใจ แต่ต้องทำเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ไม่กล่อม หรือเข้าไปเอาใจจนเกินความจำเป็น เพราะจะทำให้ลูกชินกับการร้องงอแงและมีคนเข้ามากล่อม ที่สำคัญเมื่อลูกร้อง พ่อแม่ไม่ควรป้อนนมลูก" คุณหมอกล่าว

นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตสาเหตุการร้องของลูกด้วย เช่น การที่ลูกเจ็บป่วย ไม่สบายตัว อาจทำให้ลูกร้องไห้และตื่นขึ้นมาตอนดึกได้ แต่หากการร้องของลูก เป็นเพียงช่วงสั้นๆ ในตอนกลางคืน ก็ไม่จำเป็นต้องเข้าไปโอบอุ้ม เปิดไฟให้สว่าง หรือให้นมมื้อดึก เพราะจะเป็นการสร้างเงื่อนไขในการนอนให้กับเด็กมากขึ้น

วิธีรับมือที่ได้ผลที่สุด จึงหนีไม่พ้นการให้ความรัก และความอบอุ่นกับลูกอย่างเต็มที่ แล้วเด็กจะมีความสุข ส่งผลให้การนอน เป็นช่วงที่มีความสุขตามไปด้วย นอกจากนี้ ควรให้เด็กเล่น และนอนให้เป็นเวลา ไม่ควรให้เล่นกิจกรรมรุนแรง เพราะจะทำให้เด็กละเมอ หรือฝันร้าย จนสะดุ้งตื่นช่วงกลางดึกได้

อย่างไรก็ดี แม้จะมีมุมมองที่แตกต่างระหว่างวัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตก แต่ในด้านหนึ่ง การดูแลเด็กยามนอนหลับด้วยความเป็นห่วงเป็นใยซึ่งเป็นวิถีของไทยมาแต่โบราณนั้น ก็มีข้อดีหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการช่วยเหลือได้ทันท่วงที ในกรณีที่ลูกเกิดเผลอเอาหัวมุดเข้าไปในหมอนจนขาดอากาศหายใจ หรือการเกิดอาการ SIDS (Sudden infant death syndrome) ซึ่งเป็นภาวะที่เด็กนอน แล้วก็ตายโดยที่พ่อแม่ไม่รู้ตัว ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเกิดกับเด็กในประเทศตะวันตก

 

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9520000099783