Make Appointment

เนื้องอกมดลูก ตำแหน่งไหน-อาการใดถึงควรจิตตก ต้องผ่าตัด? สัญญาณสู่เนื้อร้ายหรือไม่?!

17 Sep 2016 เปิดอ่าน 33897

เชื่อเหลือเกิน ผู้หญิงส่วนใหญ่เกือบร้อยทั้งร้อย หวาดผวาสิ่งที่เรียกว่า "เนื้องอก" ถึงขั้นจิตตก วิตกจริต และหากเนื้องอกแผ่ขยายตั้งรกรากพำนักในมดลูกตนเองด้วยแล้ว บอกได้ว่าคำเดียว "หวาดกลัว" มิหนำซ้ำบางรายเคราะห์ร้ายถึงขั้นลุกลามกลายร่างแปลงกายเป็นเนื้อร้าย ย่างเข้าสู่วินาทีเป็นวินาทีตาย ลามความเครียด สร้างความกังวลเกาะกุมใจต่อตัวเอง คนในครอบครัว และคนรอบข้างด้วย

บางท่านอาจจินตนาการล้ำหน้าไปถึงบันไดขั้นสุดท้ายคือ "มะเร็ง"

เนื้องอกจะมีวิวัฒนาการไปถึงขั้นนั้นได้ไหม และเนื้องอกเกิดขึ้นได้อย่างไร ไขทุกความสงสัย และคลายกังวลกับ นพ.กิตติ ตู้จินดา สูติ-นรีแพทย์ แห่งโรงพยาบาลพญาไท 2 ได้เลยค่ะ
       
       “มดลูกมีส่วนประกอบ 3 ชั้น คือ เยื่อบุโพรงมดลูก กล้ามเนื้อมดลูก และเยื่อหุ้มมดลูก
       
       สาเหตุ ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีปัจจัยที่อาจทำให้เพิ่มอัตราการเป็นเนื้องอกมดลูก หมายความว่า คนที่จะเป็นง่ายขึ้น สาเหตุอันดับหนึ่งเลยคือ เรื่องพันธุกรรม คนที่มีประวัติในครอบครัวเป็น เช่น มีคุณแม่ คุณยาย เป็นเนื้องอกมดลูก”
       
       นพ.กิตติ ย้ำว่า พันธุกรรมเป็นตัวแปรเพิ่มการเป็นเนื้องอก และอีกหลายสารพัดสาเหตุที่ก่อให้เกิดเนื้องอกมดลูก คือ การเพิ่มความเสี่ยงจากพฤติกรรมของเรานั่นเอง โดยเฉพาะคอน้ำเมา คลั่งเนื้อแดงทั้งหลาย ระวังให้ดีเถอะ
       
       "นอกจากผู้ป่วยที่มีประวัติครอบครัวเป็นเนื้องอกแล้ว การดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเบียร์ พบว่า เพิ่มอัตราการเป็นเนื้องอกมดลูก และในคนที่เป็นโรคความดันสูงมากๆ เป็นมานาน มีอัตราการเป็นเนื้องอกมดลูกมากกว่าคนปกติ ส่วนคนอ้วนก็เช่นกัน และพวกที่ชอบการทานเนื้อ แฮม และพวกเนื้อแดงอีกด้วย"
       
       อย่าเพิ่งตกอกตกใจไปกันใหญ่ พฤติกรรมที่ลดการเป็นเนื้องอกก็มีเช่นกัน
       
       "การมีบุตร การตั้งครรภ์ การคลอดลูก ช่วยลดอัตราการเป็นเนื้องอก การกินยาคุม การกินผักใบเขียวและการยาฉีดคุมกำเนิด อาจลดความเสี่ยงการเป็นเนื้องอกได้"
       
       นพ.กิตติ กล่าวว่า ส่วนใหญ่ผู้หญิงที่ตรวจเจอเนื้องอกมดลูกอายุประมาณ 30-50 ปี และตำแหน่งของเนื้องอกก็เป็นสิ่งสำคัญ ว่าจะตรวจเจอหรือไม่ด้วย ซึ่งพบว่า 25% เท่านั้นที่คุณหมอจะมีโอกาสพบเห็นหน้าเนื้องอก

“มันขึ้นอยู่กับตำแหน่งของเนื้องอกด้วย ว่าจะตรวจเจอหรือไม่ ถ้าเนื้องอกเล็ก อยู่ตรงไหนก็อาจไม่มีอาการ แต่ถึงแม้จะใหญ่แต่อยู่ข้างนอกมดลูก ก็อาจไม่มีอาการเช่นกัน ดังนั้นขึ้นอยู่กับตำแหน่ง”
       
       ตำแหน่งเนื้องอกที่อันตรายแบบสุดๆ คือ ข้างในมดลูก เพราะอาจทำให้เลือดออกมาก ในทางกลับกันเนื้องอกนอกมดลูกก็อันตรายน้อยสุดเช่นกัน
       
       “ตำแหน่งที่อันตรายที่สุดคือ อยู่ในมดลูก อาจทำให้เลือดออกได้มาก ส่วนตำแหน่งที่อันตรายน้อยคือ อยู่ข้างนอกมดลูก ตำแหน่งของเนื้องอก แบ่งคร่าวๆได้ 5 ตำแหน่ง คือ อยู่นอกมดลูก กล้ามเนื้อมดลูก ภายในโพรงมดลูก และอยู่ที่ปากมดลูก และภายในมดลูก”
       
       นพ.กิตติ บอกเล่าถึงอาการของเนื้องอกมดลูก โดยให้สังเกตสัญญาณอันตรายต่างๆ เหล่านี้ ส่วนการปวดประจำเดือน และการมามาก-น้อย ก็เป็นข้อบ่งชี้ในการเป็นเนื้องอกเช่นกัน
       
       “อาการของเนื้องอกมดลูกสังเกตง่ายๆ เช่น ประจำเดือนมามาก หรือมาตรงทุกรอบ แต่มามากขึ้น กว่าเดิม เช่น มา 3 วัน แต่มากขึ้นเป็น 5 วัน หรือเคยใช้ผ้าอนามัยแค่ 3 ผืน กลายเป็น 5 ผืน หรือไม่เคยมีก้อนเลือดออกมา แต่ระยะหลังดันพบก้อนเลือดออกมามากด้วย หรือปวดประจำเดือนมากขึ้นกว่าปกติ ถึงขนาดต้องกินยา อาการเหล่านี้คือ สัญญาณการเป็นเนื้องอกมดลูก"
       
       หรือแม้แต่อาการท่อรั่ว ปวดปัสสาวะเข้าห้องน้ำบ่อยเกินเหตุ ก็เป็นอีกหนึ่งสัญญาณเตือนภัยที่ต้องระวัง
       
       “อีกอาการ คือ ถ้าเนื้องอกใหญ่ อาจจะไปกดทับกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะบ่อย หรือ บางคนอาจจะปัสสาวะไม่ออกก็มีในบางราย
       
       หรือเนื้องอกไปกดทับบริเวณลำไส้ตรง ก็อาจทำให้ท้องผูก แต่อันนี้โอกาสจะน้อย บางคนอาจจะเจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ เพราะเนื้องอกบางชนิดไปอยู่ที่ตรงปากมดลูก แต่พบน้อย ส่วนใหญ่จะมาด้วยเรื่องไปกดทับกระเพาะปัสสาวะมากกว่า”
       
       นพ.กิตติ คลายความกังวลใจโล่งอกกะเปาะใหญ่ ว่าเนื้องอกมดลูกส่วนใหญ่ ไม่เป็นมะเร็ง อัตราการดำเนินไปเป็นมะเร็งน้อยมาก น้อยกว่า 1 ต่อ 10,000 ที่จะเป็นมะเร็ง
       
       สาวๆ คนใดที่มีฮอร์โมน (hormone) เพศหญิงสูงระวังเนื้องอกมดลูกจะถามหา ส่วนหญิงชราวัยทองโล่งใจหายห่วงได้ เนื้องอกฝ่อไปตามกาลเวลา
       
       "เนื้องอกโตเร็ว หรือ ช้า ขึ้นอยู่กับคน เพราะเนื้องอกถูกกระตุ้นด้วยฮอร์โมนเพศหญิง คือ ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) เนื้องอกจะโตเร็วขึ้นด้วยฮอร์โมน หรือแม้แต่ ฮอร์โมนที่ได้รับจากภายนอก เช่น กวาวเครือ อาจจะไปกระตุ้นได้ หรืออาหารเสริมบางชนิด
       
       และเนื้องอกของใครจะ sensitive (ไวต่อสิ่งกระตุ้น) ต่อฮอร์โมนเร็วด้วย บางคนก็โตช้า แต่ถ้าเป็นผู้หญิงใกล้วัยทองหายห่วงได้ เพราะถ้าประจำเดือนหมดแล้วเนื้องอกจะฝ่อไปเองได้ เพราะไม่มีฮอร์โมนเพศหญิงแล้ว"
       
       นพ.กิตติ บอกว่า วิธีการรักษามีตั้งแต่การใช้ยา และการผ่าตัด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล
       
       “การรักษา มีทั้งการใช้ยา และการผ่าตัด ซึ่งการใช้ยานั้น ก็มีตั้งแต่ยาที่ทำให้เนื้องอกเล็กลง เป็นยาฉีด สามารถทำให้เล็กลงได้ 35 - 60 % ใน 3 เดือน เช่น เนื้องอกใหญ่ 10 เซนติเมตร ฉีดยาตัวนี้ไปแล้วใน 3 เดือน มันจะเล็กลงเหลือประมาณครึ่งหนึ่ง แต่ข้อเสียหลังจากหมดฤทธิ์ยาแล้ว มันจะกลับมาเป็นเท่าเดิมได้ เพราะฉะนั้นกรณีนี้ก็จะใช้กรณีที่ใกล้จะหมดประจำเดือน”
       
       นพ.กิตติ กำชับ คนไข้บางรายไม่เหมาะกับการผ่าตัด เสี่ยงไม่ฟื้น หลับยาว
       
       “ผู้หญิงใกล้วัยทองอายุ 50 ปี มาตรวจเจอเนื้องอก และมีเลือดออกผิดปกติ หมอจะแนะนำให้ฉีดยาลดขนาด ไม่ต้องผ่าตัด เพราะเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน มันก็จะฝ่อไปเอง
       
       หรือกรณีที่คนไข้ไม่พร้อมจะผ่าตัด เพราะโรคประจำตัวเยอะ ผ่าตัดแล้วอาจเกิดอันตรายจากภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น เป็นโรคหัวใจตีบ ผ่าไม่ได้ หมายความว่า การผ่าอาจจะเสี่ยงมาก ดมยาไปอาจจะไม่ฟื้นเลย จึงต้องบรรเทาไปด้วยการฉีดยา

ปัจจุบันมีเทคนิคการรักษาที่ทันสมัยเช่นใช้อัลตราซาวด์ (Ultrasound)สลาย แต่ประเทศไทยยังไม่มี ตอนนี้จึงใช้เครื่อง MRI (Magnetic Resonance Imaging)เป็นตัวนำทาง แล้วใช้อัลตราซาวด์ยิงเข้าไป เพื่อสลายเนื้องอก หรือฉีดสารเข้าไปอุดเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงเนื้องอก เพื่อให้เนื้องอกสลายไป จะทำในกรณีที่คนไข้ไม่อยากผ่าตัด หรือไม่ต้องการมีลูกแล้ว ก็ใช้วิธีนี้ได้ แต่ไม่หายขาดนะ การหายขาดคือ ตัดมดลูกออก”
       
       นพ.กิตติ แนะว่า ผู้หญิงที่อยากมีลูกให้รีบตื่นตัวกำจัดเนื้องอกออกไปให้สิ้นซากซะ เพราะเนื้องอกอาจเป็นมารผจญขัดขวางการมีบุตรได้
       
       “เนื้องอกมดลูกอาจมีผลทำให้มีบุตรยาก แต่ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของ ถ้าตำแหน่งไปอยู่ข้างใน แต่เปอร์เซ็นต์มีไม่มากนะ เนื้องอกทำให้มีบุตรยาก ไม่น่าถึง 5% ของผู้มีบุตรยากทั้งหมด เพราะถ้าตำแหน่งอยู่ข้างในมดลูก ไปขัดขวางการฝังตัวของรก ก็อาจทำให้ท้องยาก ตอนท้องก็แท้งง่าย อาจมีปัญหาเรื่องคลอดก่อนกำหนดได้ เพราะเนื้องอกจะไปเบียด
       
       หากอยากจะมีลูก แนะนำให้ตัดเนื้องอกออกก่อน ถ้าอยู่ข้างใน และขนาดไม่เยอะ หมอจะส่องกล้องเข้าไป และไปเลาะเนื้องอกออก
       
       ถ้าอยู่ในโพรงมดลูก ถึงแม้ไม่มีอาการอะไร ประจำเดือนมาปกติ ไม่ปวดท้อง แต่กำลังอยากมีลูกอยู่ และอัตราซาวด์เจอเนื้องอกมดลูกในโพรงมดลูก ให้ตัดออกไปก่อน ไม่เช่นนั้นหากตั้งครรภ์จะแท้งได้ง่าย หรือคลอดก่อนกำหนด
       
       ส่วนการผ่าตัดมดลูกมี 4 วิธี เริ่มจากวิธีที่ดีที่สุด คือ การตัดมดลูกทางกล้องส่องโพรงมดลูกผ่านช่องคลอด ไม่ต้องมีแผลหน้าท้อง บาดเจ็บน้อยสุด ส่วนวิธีที่ 2 คือ การผ่าตัดผ่านกล้องส่องช่องท้อง ข้อดีคือ ระยะเวลานอนโรงพยาบาลสั้น เจ็บแผลน้อยเหมือนกัน แต่จะมีแผลบริเวณหน้าท้อง 3-4 แผลเล็กๆ วิธีที่ 3 ผ่าตัดผ่านหน้าท้องแต่เปิดแผลเล็ก เปิดไม่เกิน 6 เซนติเมตร ตรงเนื้อหัวหน่าว และวิธีสุดท้าย เป็นการผ่าตัดแบบดั้งเดิม คือ เปิดหน้าท้องแผลใหญ่”
       
       นพ.กิตติ ย้ำ ขนาดไม่สำคัญขึ้นอยู่กับอาการ ถึงขนาดใหญ่ 5 เซนติเมตร แต่ไม่มีอาการอะไรเลย ไม่ปัสสาวะบ่อย ประจำเดือนมาปกติ ไม่ปวดท้อง อาจจะไม่ต้องทำอะไรเลย แค่ติดตามอาการไป
       
       คุณหมอ ทิ้งท้าย ให้กำลังใจปลอบประโลม เมื่อจ๊ะเอ๋ตรวจเจอเนื้องอก ห้ามกลัวเด็ดขาด ต้องเผชิญหน้าอย่างกล้าหาญ
       
       “ต้องเข้าใจหลักการก่อนว่า อัตราการเป็นมะเร็งต่ำมาก เมื่อตรวจเจอเนื้องอกก็อย่ากลัวเลย ว่าจะเป็นมะเร็ง และย้ำเลยว่า การรักษาขึ้นอยู่กับอาการ และตำแหน่ง เวลาตรวจเจอเนื้องอกต้องอัลตราซาวด์ดูดีๆ เลยว่าตำแหน่งอยู่ตรงไหนกันแน่”
       
       หายใจทั่วท้องกันบ้างหรือยังคะ เนื้องอกไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว หากเป็นแล้วก็รักษาตามอาการเถอะค่ะ โอกาสลุกลามเลยเถิดกลายเป็นมะเร็งเนื้อร้ายก็น้อยนิด จะผวาจิตแตกกระเจิงไปทำไม เนื้องอกมันก็แค่เนื้อนูนบวมปูดโปน ไม่ใช่ ผีซะหน่อย

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.manager.co.th/CelebOnline/ViewNews.aspx?NewsID=9530000107786