Make Appointment

เป็นต้อหินมีสิทธิเป็นโรคตาบอด

05 Jan 2017 เปิดอ่าน 2179

โรคต้อหิน เป็นกลุ่มโรคที่เกิดความผิดปกติที่ขั้วประสาทตา โดยเกี่ยวข้องกับความดันภายในลูกตา ซึ่งอาจจะสูงหรือเป็นปกติก็ได้ ในกรณีที่ความดันตาสูงเกินกว่า 21 มิลลิเมตรปรอท ถือว่าน่าจะผิดปกติ โรคนี้จะมีการทำลายขั้วประสาทตา และเส้นประสาทตาอย่างค่อยเป็นค่อยไป การทำลายดังกล่าวมีผลทำให้ลานสายตา หรือความกว้างของการมองเห็นแคบลง หากไม่ทำการรักษา หรือตรวจพบแล้ว แต่ทำการรักษาไม่ต่อเนื่อง ควบคุมโรคไม่ดี จะสูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด โดยทั่วไปมักไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรค แต่ในรายที่ทราบสาเหตุนั้น มักเกิดจากโรคตาอื่นๆ เช่น การอักเสบภายในลูกตา, เนื้องอกหรือมะเร็งในลูกตา

โรคต้อหินพบได้ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงสูงอายุ
และมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการ เช่น อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะในรายที่อายุมากกว่า 70 ปีจะมีโอกาสเสี่ยงมากยิ่งขึ้น, มีประวัติครอบครัวและญาติใกล้ชิดเป็นโรคต้อหิน, มีระดับความดันในลูกตาสูง, สายตาสั้นมากหรือยาวมาก, เป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ หรือโรคความดันโลหิตสูง มีความผิดปกติของเลือดหรือเส้นเลือด มีประวัติใช้ยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน เคยผ่าตัดตาหรือมีประวัติได้รับบาดเจ็บที่ตาอย่างรุนแรงมาก่อน อาชีพหรือกิจกรรมบางประเภทที่เพิ่มความดันบริเวณคอและใบหน้า อาจทำให้ความดันตาสูงขึ้นและควบคุมโรคต้อหินได้ยาก
จากการสำรวจในประเทศไทย พบว่า คนไทยเป็นโรคต้อหินและโรคตาบอดที่เกิดจากต้อหิน ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน มากกว่า 80% ของผู้ป่วยที่เป็นต้อหินไม่ทราบมาก่อนว่า ตนเองเป็นโรคต้อหิน และนอกจากนี้ ผู้ป่วย 9 ใน 10 ราย มักไม่มีอาการแสดง กว่าจะรู้ตัวและตรวจพบ เส้นประสาทตาก็ถูกทำลายไปมากแล้ว ดังนั้นผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจวัดความดันลูกตาและคัดกรองโรคต้อหิน โดยเฉพาะคนที่มีแนวโน้มว่าจะเป็น

พญ.ณฐมน ศรีสำราญ จักษุแพทย์
อนุสาขาต้อหิน Advanced Ophthalmology Center
โรงพยาบาล WMC (เวิลด์เมดิคอลเซ็นเตอร์)

ขอบคุณบทความจาก : http://healthinfo.in.th/hiso5/healthy/news.php?names=03&news_id=5432