Make Appointment

เมื่อเป็นข้อสะโพกเสื่อม

30 Aug 2016 เปิดอ่าน 1939

 ข้อสะโพกเป็นข้อต่อระหว่างกระดูกเชิงกรานและกระดูกต้นขา ทำหน้าที่งอเหยียดในเวลานั่ง เดิน ยืนหรือนอน และรับน้ำหนักในทุกอิริยาบถของร่างกาย เมื่อข้อสะโพกผ่านการใช้งานเป็นเวลานาน หรือเกิดพยาธิสภาพจากสาเหตุอื่น มักทำให้เกิดการสึกหรอของผิวข้อ หรือการทรุดตัวของหัวกระดูกต้นขาตามา

ปัญหาข้อสะโพกที่พบในคนไทย ส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 80 เกิดจากการขาดเลือดไปเลี้ยงในส่วนของกระดูกต้นขา การได้รับยาสเตียรอยด์ หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ผสมเป็นจำนวนมาก และบางรายอาจเกิดจากอุบัติเหตุ หรือข้อเสื่อมตามสภาพจากการใช้งานมาก
       
       วิธีการรักษาข้อสะโพกเสื่อม ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูกล้ามเนื้อ การให้ยา การใช้อุปกรณ์ประคองการเดิน การส่องกล้องล้างข้อสะโพก การผ่าตัดเปลี่ยนแนวแกนกระดูก หรือในขั้นสุดท้ายคือ “การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม”
       
       ปัจจุบันวิทยาการการผ่าตัดมีความก้าวหน้าไปมาก ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้นำการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมชนิด MIS THA(Mininal Invasive Totalhip Arthroplasty) มารักษาผู้ป่วยตั้งแต่ปี 2546
       
       ข้อดีของการผ่าตัด MIS THA คือ สามารถลดอาการชอกช้ำของเนื้อเยื่อบริเวณข้อสะโพกในระหว่างการผ่าตัด และช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว เจ็บปวดน้อย โดยพักฟื้นในโรงพยาบาลประมาณ 3-7 วัน(จากเดิม 7-10 วัน) ซ้ำรอบแผลผ่าตัดยังสั้นและสวยกว่าวิธีเดิม

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยแต่ละรายต้องได้รับการพิจารณาเลือกวิธีผ่าตัดที่เหมาะสม

ซึ่งเทคนิคการผ่าตัด MIS THA มีหลายวิธีคือ
       
       1.Mini anterior approach คือการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกโดยมีบาดแผลเข้าทางด้านหน้าของข้อสะโพก ขนาดของแผลประมาณ 8-10 ซม. อย่างไรก็ตาม วิธีนี้หลังผ่าตัดจะมีปัญหาการเดินกะเผลกชั่วคราว
       
       2.Mini posterior approach คือการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก โดยไม่มีบาดแผลเข้าทางด้านหลังสะโพก ขนาดของแผลประมาณ 4-8 ซม. เป็นวิธีที่ศัลยแพทย์ส่วนใหญ่คุ้นเคย อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ยังมีการผ่าตัดผ่านกล้ามเนื้อบางส่วน หลังผ่าตัดอาจมีปัญหาข้อสะโพกเคลื่อนหลุดได้ร้อยละ 2-4
       
       3.Nano hip surgery (anterosuperior) มีศัลยแพทย์บางกลุ่มดัดแปลงการผ่าตัดโดยพยายามไม่ผ่าตัดผ่านกล้ามเนื้อทางด้านหน้าและบนของข้อสะโพก และเรียกการผ่าตัดชนิดนี้ใหม่ว่าเป็น Nano technology มีบาดแผลประมาณ 4-7 ซม. แต่มีข้อจำกัดคือ ไม่สามารถผ่าตัดในผู้ป่วยที่มีกล้ามเนื้อมากหรือตัวใหญ่ และอ้วนมากได้
       
       4. Two incisions MIS THA คือ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมโดยไม่ผ่าตัดผ่านกล้ามเนื้อ มีแผลผ่าตัด 2 แผล แผลแรกขนาด 4-6 ซม. เข้าทางด้านหน้าเพื่อเปลี่ยนเบ้าข้อสะโพกเทียม และอีกแผลหนึ่งขนาด 4-6 ซม. เพื่อใส่ก้านข้อสะโพกเทียมกระดูกต้นขา วิธีนี้เคยเป็นวิธีที่มีการประชาสัมพันธ์อย่างมากเมื่อ 3 ปีก่อน ในปัจจุบันวิธีนี้ไม่เป็นที่นิยมอีกต่อไป เนื่องจากมีภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด เช่น กระดูกต้นขาแตกสูงถึงร้อยละ 30

        5. Anterolateral MIS THA : คือ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมโดยการไม่ผ่าตัดผ่านกล้ามเนื้อทางด้านหน้า มีบาดแผลขนาดประมาณ 6 ซม. เจ็บปวดน้อย ฟื้นตัวเร็ว แต่วิธีนี้ จำเป็นต้องอาศัยเทคนิคและความเชี่ยวชาญของศัลยแพทย์เป็นอย่างสูง เพราะพื้นที่ในการทำงานเล็ก ทำให้ผ่าตัดยาก ต้องใช้เทคนิคและความชำนาญอย่างสูง
       
       ทุกวิธีที่กล่าวมานี้ ผู้ป่วยสามารถลุก ยืน เดินได้ภายใน 1 วันหลังผ่าตัด สามารถออกกำลังกาย ว่ายน้ำ หรือทำกิจวัตรประจำวัน เช่น ขับรถ ภายใน 2-3 สัปดาห์หลังผ่าตัด
       
       อย่างไรก็ตาม ขนาดของบาดแผลไม่ใช่หัวใจของความสำเร็จในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม การผ่าตัด MIS THA ทุกวิธีมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดสูง ฉะนั้นต้องคัดเลือกผู้ป่วยให้เหมาะสมกับการรักษา รวมทั้งความเชี่ยวชาญของศัลยแพทย์เฉพาะทางด้วย ซึ่งในขณะนี้ทีมศัลยแพทย์กระดูกและข้อ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้เริ่มมีการใช้คอมพิวเตอร์นำวิถีช่วยในการผ่าตัดข้อสะโพกเทียม หลังจากที่ได้มีการใช้เทคโนโลยีนี้ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างสูงในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมเมื่อปี 2548 รวมทั้งเทคนิคการผ่าตัดเปลี่ยนเฉพาะผิวข้อสะโพกเทียมเพื่อเก็บรักษากระดูกบริเวณรอบข้อสะโพก (Articular surface replacement) ให้สามารถใช้งานได้ยืนยาวต่อไป

 โดย : รศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9490000110511