Make Appointment

เมื่อใบหน้ากระตุกครึ่งซีก

23 Sep 2016 เปิดอ่าน 2029

หน้าตาคนเรา ถือเป็นส่วนสำคัญของร่างกาย ที่ทุกคนต่างทำให้ใบหน้าของตนดูงามเป็นที่น่าพบเห็น แต่มีบางคนที่ประสบภาวะใบหน้ากระตุกครึ่งซีก ทำให้รู้สึกไม่มั่นใจเสียบุคลิก แล้วจะทำอย่างไร เรามีคำตอบให้คุณค่ะ

รู้จักอาการ
       ภาวะใบหน้ากระตุกครึ่งซีก เป็นโรคที่พบมากในชาวเอเชีย สาเหตุยังไม่มีใครทราบแน่ชัด พบได้ทั้งหญิงชาย โดยเฉลี่ยอายุประมาณ 20-60 ปีคนไข้จะเริ่มด้วยอาการเหมือนตาเขม่น อาจจะมีการกระตุกของกล้ามเนื้อบริเวณใต้ลูกตาข้างใดข้างหนึ่ง จากนั้นอาจเป็นมากขึ้นจนทำให้เกิดการกระตุกที่มุมปากและในที่สุดจะมีการกระตุกทั้งซีกบริเวณใบหน้าจนทำให้ตาตี่หรือตาหลิ่ว และปากเบี้ยวเป็นพักๆ
        
       สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้มีภาวะใบหน้ากระตุกครึ่งซีกเป็นมากขึ้น ได้แก่
       1.อดนอน
       2.เครียด วิตกกังวล
       3.ใช้สายตามากติดต่อกันระยะเวลานาน

การวินิจฉัย
       แพทย์จะซักประวัติและตรวจร่างกายตามปกติ โดยไม่จำเป็นต้องตรวจค้นด้วยวิธีพิเศษทางคอมพิวเตอร์สแกนสมอง หรือตรวจด้วยแม่เหล็กไฟฟ้าของสมองแต่อย่างใด เพราะการตรวจด้วยวิธีดังกล่าวมักจะไม่พบพยาธิสภาพหรือข้อบ่งชี้ว่าคนไข้เหล่านี้เกิดอาการด้วยพยาธิสภาพใด อันตรายหรือไม่
       
       หลายคนกังวลว่าโรคนี้เกิดจากเนื้องอกของสมอง หรือเป็นความผิดปกติที่ร้ายแรง แต่โดยทั่วไปคนไข้กลุ่มใบหน้ากระตุกครึ่งซีกจะไม่มีอาการของโรครุนแรงเป็นอันตรายถึงชีวิต ดังนั้น ถือว่าเป็นภาวะที่ไม่รุนแรง แต่มีข้อเสีย คือ ผู้ป่วยจะเกิดความรำคาญ หรือไม่มั่นใจเมื่อต้องอยู่ในสังคมจนเกิดเป็นปมด้อยได้
       
       แม้ในปัจจุบันจะไม่รู้ว่าสาเหตุแน่ชัด แต่มีข้อสันนิษฐานว่าอาจจะมีหลอดเลือดบริเวณก้านสมองที่ผิดปกติไปแตะอยู่บนประสาทสมองคู่ที่ 7 ซึ่งเป็นประสาทที่มาควบคุมกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าตลอดเวลา จึงทำให้มีการปล่อยกระแสไฟฟ้ามากเกินไป ทำให้เกิดใบหน้ากระตุกครึ่งซีก
        
       อย่างไรก็ตาม พบว่า คนไข้บางรายไม่เคยมีพยาธิสภาพของหลอดเลือดผิดปกติดังกล่าวมาแตะบริเวณเส้นประสาทเลย และยิ่งกว่า นั้นคนไข้จำนวนหนึ่งที่ได้รับการผ่าตัดแยกหลอดเลือดที่มาแตะบนประสาทสมองคู่ที่ 7 นี้ออกไปแล้ว อาจทำให้หายชั่วคราว แต่คนไข้เกินกว่าครึ่งมักกลับมาเป็นอีกภายหลังการผ่าตัด 3-5 ปี ดังนั้น การแก้ปัญหาโดยวิธีดังกล่าวจึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการรักษา

ประเทศไทยมีการรักษาอย่างไร
       
คนไข้จะได้รับการบำบัดรักษาหลายวิธี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค
       1.ยา อาจใช้ยากลุ่มออกฤทธิ์กล่อมประสาทบำบัดรักษาได้เช่นกัน แต่ผลข้างเคียงค่อนข้างสูง ผู้ป่วยจะง่วงนอน และไม่สามารถปฏิบัติภารกิจประจำวันได้ ขณะเดียวกัน ผลของการควบคุมการกระตุกของกล้ามเนื้อใบหน้าพบว่ามีประสิทธิผลเพียงร้อยละ 30 เท่านั้น
       
       2.ฉีดสารโบทูลินัม ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่สร้างจากเชื้อแบคทีเรีย Clostidium botulinum ซึ่งขณะนี้เป็นวิธีการรักษาที่ดีที่สุด ออกฤทธิ์โดยสกัดกั้นกระแสไฟฟ้าที่ส่งออกมาจากปลายประสาทมายังบริเวณ presynaptic site ของกล้ามเนื้อใบหน้าโดยตรง ทำให้ไม่สามารถหลั่งสาร acetyl choline ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทออกมาได้
       
       ดังนั้น คำสั่งที่มายังกล้ามเนื้อจึงลดปริมาณลง มีผลให้การกระตุกของกล้ามเนื้อลดลง อย่างไรก็ตาม วิธีดังกล่าวเป็นการรักษาตามอาการ ผู้ป่วยต้องมาฉีดสารโบทูลินัมทุกๆ 3-6 เดือน ตามระยะเวลาของยาที่ออกฤทธิ์ ซึ่งการรักษาโดยวิธีนี้ได้ผลราวร้อยละ 85
       
       3.วิธีรักษาอื่นๆ เช่น การผ่าตัด ถือเป็นวิธีที่มีความเสี่ยงสูง เพราะอาจเกิดผลแทรกซ้อน เช่น หูหนวก ปากเบี้ยว มีเลือดออกที่ก้านสมอง เลือดออกในสมองน้อยจนทำให้หมดสติ เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต เกิดภาวะเจ้าชายนิทรา หรือเสียชีวิต เพราะตำแหน่งของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 อยู่ใกล้กับก้านสมองและสมองน้อย ซึ่งเป็นตำแหน่งสำคัญของสมองนั่นเอง แม้การรักษาด้วยวิธีนี้จะได้ผลราวร้อยละ 85 แต่ราว ร้อยละ 50 อาจมีอาการเกิดซ้ำได้อีกหลังผ่าตัดแล้ว 5 ปี
       
       แต่ไม่ว่าจะรักษาด้วยวิธีใด อย่าเพิ่งกังวลเกินไป เพราะหากทำจิตใจให้สบาย พักผ่อนเพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รวมทั้งลดการใช้สายตาและความกังวลลงได้ อาการก็จะค่อยๆ ทุเลาลงครับ

ศ.นพ.นิพนธ์ พวงวรินทร์ ประสาทอายุรแพทย์

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000050724