Make Appointment

"เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่"

05 Aug 2016 เปิดอ่าน 2188

ผู้หญิงหลายคนมีอาการปวดท้องขณะมีระดู หรือ มีประจำเดือน ส่วนจะมีสาเหตุมาจากอะไรนั้น นพ.สันธา ศรีสุภาพ คลินิกผู้มีบุตรยาก กลุ่มงานสูติ-นรีเวชศาสตร์ รพ.ราชวิถี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

บอกว่า ผู้หญิงมากกว่า 40% ที่มารับการตรวจ ณ ห้องตรวจนรีเวช มักจะมีปัญหาเรื่องอาการปวดท้องขณะมีระดู มากบ้าง น้อยบ้าง แตกต่างกันไป แต่สิ่งที่ผู้ป่วยได้รับคือ ความทรมานทุกรอบเดือน บางรายถึงกับหยุดงาน หยุดเรียน นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายมักจะมีปัญหาเรื่องการมีบุตรยาก ซึ่งปัญหาเหล่านี้ส่วนใหญ่เกิดจากภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ที่เชื่อว่าการไหลย้อนกลับของเลือดประจำเดือนเข้าไปในอุ้งเชิงกรานทำให้เกิดพังผืด หรือ ถุงน้ำที่รังไข่ เป็นผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องขณะมีระดูมากกว่าปกติ หรือมากขึ้นกว่าเดิมจนต้องรับประทานยา ในขณะที่บางรายอาการรุนแรงกระทั่งการฉีดยาแก้ปวดก็เอาไม่อยู่ บางรายก็จะมีปัญหาการมีบุตรยาก ปัญหาเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด บางรายก็ตรวจพบถุงน้ำช็อกโกแลต บางรายกลับโชคร้ายไม่มีอาการเลย แต่วันดีคืนดีก็มีการตรวจพบโดยบังเอิญหรือจากภาวะแทรกซ้อนของโรค ซึ่งพบถึง 30%

การวินิจฉัย เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ดูได้จากประวัติ การตรวจร่างกาย และการตรวจด้วยคลื่นความถี่สูง แต่ปัญหาคือการรักษาและการติดตามอาการที่เหมาะสมเนื่องจากเป็นภาวะที่เกี่ยวเนื่องกับรังไข่ และฮอร์โมนเพศหญิง ที่จำเป็นกับสตรีที่ยังอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ การรักษาไม่สามารถทำได้แบบถอนรากถอนโคนได้ แต่ต้องประคับประคองเพื่อให้ผู้ป่วยลดความทรมานและมีชีวิตอยู่ได้อย่างปกติและที่สำคัญคือ สามารถมีบุตรได้

การรักษามี 2 แบบ คือ การให้ยาและการผ่าตัด ขึ้นอยู่กับสภาพปัญหาและความรุนแรงของโรค โดยการรักษาด้วยยาก็ยังเป็นที่นิยม ยาชนิดต่าง ๆ มีการเลือกใช้ที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับอาการ ความต้องการมีบุตรและอายุของผู้ป่วย ส่วนการผ่าตัดในปัจจุบันนิยมผ่าตัดผ่านกล้อง นอกเหนือจากลดความทรมานจากความเจ็บปวดและฟื้นตัวเร็วแล้ว ยังมีข้อมูลว่าทำให้มีพังผืดหลังการผ่าตัดต่ำ และเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์สูงเมื่อเทียบกับการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง

นพ.สันธา กล่าวต่อว่า ส่วนการตัดมดลูกและรังไข่ทิ้ง ผู้ป่วยจะเข้าสู่วัยทองโดยปริยาย ก็ต้องได้รับการดูแลต่อเนื่องเช่นกัน ดังนั้นจะผ่า ตัดเก็บมดลูก รังไข่เอาไว้ หรือผ่าตัดเอาออกหมดก็มีผลได้ผลเสียอยู่ในตัวของมันเอง จึงต้องมีการพูดคุยระหว่างผู้ป่วยกับครอบครัว หรือ ผู้ป่วยกับแพทย์ ซึ่งที่ผ่านมามีบางกรณีที่ผู้ป่วยอยากเก็บเอาไว้ แต่บางกรณีไม่สามารถทำได้จริง ๆ เพราะว่าเป็นรุนแรงมากต้องเอาออกหมด

เมื่อถามว่า ผู้หญิงที่ปวดประจำเดือนควรจะไปพบแพทย์เมื่อใด? นพ.สันธา กล่าวว่า เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เป็นโรคเป็นเรื้อรัง เมื่อใดก็ตามที่รู้สึกว่าอาการปวดประจำเดือนไม่เหมือนเดิม ควรจะไปปรึกษาแพทย์แทนที่จะรักษาด้วยตัวเอง วิธีสังเกต คือ 1. เริ่มปวดรุนแรงขึ้น คือเมื่อก่อนปวดอยู่ในระดับหนึ่ง แต่ 1-2 เดือนนี้ปวดมากกว่าปกติ หรือระยะเวลาที่ปวดเริ่มเนิ่นนานออกไป จากปกติจะปวดแค่ 1-2 วันแต่ปรากฏว่า ขยายออกไปเป็น 3-4 วัน 2. บางทีเริ่มปวดก่อนประจำเดือนมา พอประจำเดือนมาจะหายปวด แต่ปัจจุบันปวดทั้งก่อนและหลัง บางคนปวดช่วงที่มีประจำเดือนเท่านั้น ไม่มีประจำเดือนก็ไม่ปวด ก็เป็นข้อที่ชวนสงสัยว่าปวดไม่ปกติ3. ตำแหน่งที่ปวด ถ้าเมื่อใดก็ตามมีอาการปวดข้างซ้ายหรือขวา ข้างใดข้างหนึ่ง ผิดปกติ 100% ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีไม่ต้องไปรอว่าจะปวดมากปวดน้อย คือ ปกติถ้าปวดประจำเดือนมักจะปวดทั่ว ๆ ตรงกลาง แต่ถ้าปวดเอียงข้างเมื่อใดไปพบแพทย์ได้เลย 4. ถ้ามีอาการอย่างอื่นร่วมกับอาการปวดประจำเดือน ทั้งที่แต่ก่อนไม่เคยเป็น เช่น ปัสสาวะบ่อย อุจจาระบ่อย หรือตกเลือดรุนแรง ไม่ควรรักษาเอง ควรไปปรึกษาแพทย์ดีกว่า ส่วนไปรักษาแล้วผลจะเป็นอย่างไร คงต้องขึ้นอยู่กับการตรวจวินิจฉัย

ดังนั้นผู้หญิงควรหมั่นสังเกตตัวเอง หากปวดประจำเดือนรุนแรงขึ้น ควรจะรีบไปพบแพทย์ เพราะงานวิจัยพบว่ากว่าที่ผู้หญิงจะรู้ว่าตัวเองเป็นโรค จะใช้เวลาทรมานอยู่ 8 ปี เมื่อรู้ว่าเป็นโรคตอนปีที่ 8 แล้ว โรคจะเป็นค่อนข้างมาก เป็นรุนแรง เนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกายโดนทำลายไปค่อนข้างเยอะ พังผืดก็มาก นั่นหมายความว่าการรักษาจะยุ่งยากขึ้น ผลการรักษาก็ไม่สู้ดี โอกาสรักษาแล้วจะไม่หายขาดก็สูง แต่เมื่อใดก็ตามที่เรารู้ว่าผิดปกติควรจะรีบไปพบสูตินรีแพทย์ไม่ต้องกลัว อาจจะไม่จำเป็นต้องตรวจภายใน ก็แค่ไปพูดคุยกัน บางครั้งอาจจะส่งตรวจอย่างอื่นโดยไม่ต้องทำให้รำคาญใจ โดยเฉพาะในคนที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ก็มีวิธีที่จะไม่ทำให้เกิดความรำคาญได้.

 

* ขอบคุณข้อมูลจาก : : เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม 2554 
เรียบเรียงข้อมูล และจัดทำภาพประกอบโดย :: ห้องสมุด โรงพยาบาลราชวิถี