คนส่วนใหญ่รูู้สึกว่า “ขี้หู” คือสิ่งสกปรกที่ต้องขจัดออกไปจากร่างกาย โดยหารู้ไม่ว่าการแคะหรือปั่นหูบ่อย อาจก่อให้เกิดการอุดตันมากกว่าจะช่วยให้ช่องหูโล่งสบาย
“ขี้หู” เกิดจากสารไขมันที่ผลิตจากต่อมเหงื่อและต่อมพิเศษ โดยประกอบด้วยผิวหนังและเยื่อบุช่องหูที่หลุดลอก โดยอยู่ในส่วนของช่องหูชั้นนอก มีหน้าที่เป็นสารหล่อลื่นคอยดักจับเชื้อโรคหรือฝุ่นเข้าหูชั้นนอกและหูชั้นกลาง ซึ่งโดยปกติแล้วมนุษย์มีกลไกที่เรียกว่าการพลัดขี้หูให้หลุดออกเอง
แพทย์หญิงอุศนา พรหมโยธิน ผู้เชี่ยวชาญด้านโสต ศอ นาสิกวิทยา โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า อธิบายว่าคนที่ชอบปั่นหูด้วยไม้พันสำลี อาจเสี่ยงให้ผิวหนังในช่องหูเกิดอาการแพ้ นานวันเข้าจะทำให้ช่องหูแคบลง ส่งผลให้ไม่สามารถพลัดออกมาเองได้
คุณหมออุศนาให้ข้อมูลต่ออีกว่า คนไข้จะเริ่มจากมีอาการหูอื้อ การได้ยินลดลง ขยับศีรษะแล้วได้ยินเสียงดังก๊อกแก๊ก หรือปวดหูร่วมด้วย โดยขั้นตอนการรักษา แพทย์จะซักประวัติและตรวจแยกอาการ จากนั้นจะตรวจร่างกายด้วยการส่องกล้องในช่องหูด้วยเครื่องมือ Otoscope หากพบว่ามีขี้หูอุดตันอยู่ ถ้าเป็นขี้หูที่มีลักษณะนิ่มจะใช้เครื่อง Suction ดูดออก แต่กรณีที่ค่อนข้างแข็งจะใช้วิธีคีบหรือการแคะด้วยเครื่องมือแพทย์
ทั้งนี้ โดยส่วนใหญ่ภาวะขี้หูอุดตันมักเกิดกับผู้ที่มีความผิดปกติในช่องหู ได้แก่
1. ผู้ที่มีลักษณะทางกายวิภาคในช่องหู เช่น ช่องหูแคบ ช่องหูคด ช่องหูหักมุม
2. ขี้หูแข็ง จากส่วนประกอบของขี้หูที่ผิดสัดส่วน เช่น สาร Keratin มากทำให้เคลื่อนตัวจากช่องหูลำบาก
3. ความผิดปกติของผิวหนังในช่องหู เช่น โรค Keratosis Obturans เกิดจากการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังจึงมี Keratin มากทำให้ขี้หูแข็งและติดแน่นกับช่องหู ถ้าทิ้งไว้นานๆ ผนังช่องหูอาจเกิดการกร่อนได้ ซึ่งขณะนำขี้หูออกมาจะเกิดความเจ็บปวดแพทย์ต้องให้ยาหยอดละลายขี้หูช่วยในการนำขี้หูออกลดอาการเจ็บปวดเมื่อนำขี้หูออกมาแล้ว ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าการได้ยินดีขึ้น แต่สำหรับกลุ่มคนที่มีความผิดปกติในช่องหูจะเกิดการอุดตันซ้ำ ฉะนั้นต้องมาพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ 2 - 3 เดือนต่อครั้ง รวมถึงผู้ที่ใส่เครื่องช่วยฟัง ถ้ามีอาการหูอื้อ ควรพบแพทย์เพื่อนำขี้หูออกมา เพราะยากต่อผู้ป่วยในการทำความสะอาดช่องหูเอง และอาจเกิดการบาดเจ็บต่อช่องหูได้
เมื่อถามว่าให้ช่างในร้านตัดผมแคะหูได้หรือไม่ พญ.อุศนา ให้คำแนะนำว่า บางกรณีสามารถเอาออกได้ แต่ถ้าขี้หูแข็งมาก มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่นกระแทกจนเกิดเป็นแผลหรือหากเครื่องมือไม่สะอาดก็จะพาเชื้อโรคเข้าไปได้ ก่อให้เกิดการอักเสบดังนั้นถ้าเป็นขี้หูอุดตันควรพบแพทย์ดีที่สุด
เบื้องต้นควรหมั่นทำความสะอาดด้วยการเช็ดบริเวณหูส่วนนอก หลังอาบน้ำสระผมเสร็จ อาทิตย์ละครั้งเท่านั้นก็พอ หรือใช้ไดรว์เป่าผมเป่าให้แห้ง สำคัญที่สุดคือควรหยุดการใช้ไม้พันลำลีหรือไม้แคะหูเพราะยิ่งดันขี้หูให้อุดตัน สำหรับคนที่ใช้หูฟังเป็นประจำ ควรหลีกเลี่ยงการใส่หูฟังแบบสอดหู (In Ear) เป็นเวลานานๆ เพราะอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อปัญหาขี้หูอุดตันได้ เนื่องจากกลไกการพลัดขี้หูทำงานไม่เต็มที่ จำเป็นต้องใช้ควรเลือกหูฟังแบบ On Ear หรือ Over Ear และมีการถอดพักเป็นระยะๆ จะดีกว่า
เมื่อมีอาการผิดปกติไม่ว่าจะหูอื้อ การได้ยินลดลง ปวดหู คันหู ควรพบแพทย์เฉพาะทางด้านหูคอจมูก เพื่อตรวจแยกโรค เพราะนอกจากภาวะขี้หูอุดตันแล้ว อาจเกิดจากการติดเชื้อช่องหูด้านนอก หรือประสาทหูอักเสบเฉียบพลันได้ ฉะนั้นการพบแพทย์ด้านหูคอจมูกโดยเร็ว ย่อมเป็นผลดีต่อตัวเราเอง
* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.healthchannel.co.th/index.php?modules=articles&f=view&newsCatID=1&news_id=141