ในปัจจุบันผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่2 ซึ่งพบได้ในผู้ป่วยอายุน้อยและอ้วน ความก้าวหน้าทางการแพทย์ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานมีอายุยืนขึ้น จึงพบภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น ภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานที่เกิดขึ้นเป็นสาเหตุสำคัญที่ต้องทำให้ผู้ป่วยอยู่โรงพยาบาลและก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมาก การเกิดแผล การติดเชื้อภาวะเนื้อตายเน่า และเท้าผิดรูป เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยต้องถูกตัดขา การป้องกันการเกิดแผลเป็นหัวใจสำคัญในการดูแลผู้ป่วย ซึ่งเป็นวิธีที่ดีกว่ารอให้เกิดแผลแล้วค่อยทำการรักษา
การเกิดแผล เป็นปัญหาสำคัญที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวาน เพราะการเกิดแผลก่อให้เกิดพยาธิภาวะความพิการ และอาจทำให้ผู้ป่วยเบาหวานเสียชีวิตได้
ผู้ป่วยเบาหวานที่มีแผลเบาหวานที่มีเกิดขึ้นที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของเท้า อาจเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยถูกตัดขา เท้า หรือนิ้วเท้าได้
ร้อยละ 14-15 ของผู้ป่วยเบาหวานจะเกิดแผลที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของเท้า
ร้อยละ 8-59 ของผู้ป่วยเบาหวานมีอัตราการเกิดแผลซ้ำ
ผู้ป่วยเบาหวานที่ถูกตัดขา เท้า หรือนิ้วเท้า มีโอกาสมากถึงร้อยละ 50 ที่จะต้องถูกตัดขา เท้า หรือนิ้วเท้าอีกข้างหนึ่งหลังจากถูกตัดข้างแรกในระยะ 2-5 ปี
สาเหตุของการเกิดแผล ที่เกิดขึ้นที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของเท้าผู้ป่วยเบาหวาน มาจากหลายสาเหตุซึ่งมักทำงานร่วมกัน โดยมี 3 สาเหตุหลัก ได้แก่
1. ภาวะโรคเส้นประสาท ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดแผลที่พบได้บ่อยที่สุดในภาวะโรคเส้นประสาท ภาวะนี้ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานมีอาการชา ไม่มีความรู้สึกที่เท้าและขาส่วนล่าง ผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะทางเส้นประสาทรับความรู้สึกเมื่อไปเหยียบเศษแก้ว เศษไม้ อาจไม่รู้สึกอะไร ดังนั้นจึงไม่รู้ว่าตนเองได้มีแผลแล้ว
2. ภาวะขาดเลือด พบในผู้ป่วยเบาหวานที่เกิดแผลถึงร้อยละ 38-52 ภาวะนี้จะทำให้เกิดหลอดเลือดแดงแข็งตามมา โดยพบว่าการดำเนินของโรคหลอดเลือดแดงแข็งในผู้ป่วยเบาหวานจะเร็วกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน
3. ภาวะติดเชื้อ ซึ่งทั้งภาวะโรคเส้นประสาท และภาวะขาดเลือด เป็นสาเหตุที่ส่งเสริมให้มีการติดเชื้อ การติดเชื้ออาจทำให้แผลลุกลามกลายเป็นแผลมีหนอง กระดูกอักเสบและเป็นหนองได้ในระยะเวลาอันสั้น แผลติดเชื้อที่เกิดขึ้นอาจไม่ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานรู้สึกปวดแผลเนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานมีอาการชา เพียงแค่เห็นเท้าบวมแดงและอาจมีไข้ ฉะนั้นการสังเกตการเปลี่ยนแปลงของเท้าจึงมีความสำคัญมาก
ลักษณะเท้าที่อาจก่อให้เกิดแผล มีดังต่อไปนี้ การมีผิวหนังเท้าแห้ง แตกเป็นร่อง เท้าที่มีตาปลา หูด ปุ่มปม หนังหนา เท้าที่มีเล็บเท้าผิดรูป เล็บเท้าขบ เท้าที่มีเล็บติดเชื้อรา เท้าที่มีแผลรองเท้ากัด เท้าที่มีนิ้วเท้าผิดรูป มีแง่งกระดูก
การวินิจฉัยของแพทย์ สิ่งที่แพทย์จะใช้ประเมินคือ การตรวจชีพจรของขาและเท้าและการวัดความดันเส้นเลือดขาเทียบกับแขน การตรวจทางกายภาพและสรีรวิทยา การตรวจผิวหนัง วัดออกซิเจนที่ใต้ผิวหนัง การตรวจการรับรู้ของระบบประสาทที่ขาและเท้า การตรวจพยาธิสภาพของหลอดเลือด
การรักษาแผลเบาหวานนอกจากตัวผู้ป่วยเบาหวานเองที่จะต้องให้ความร่วมมือกับการรักษาของแพทย์แล้ว ด้านการรักษาโดยแพทย์ยังต้องอาศัยแพทย์หลายฝ่าย ได้แก่ ศัลยแพทย์หลอดเลือด ศัลยแพทย์กระดูก อายุรแพทย์หัวใจ อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ วิสัญญีแพทย์ เป็นต้น โดยแพทย์จะมีแนวทางการรักษาตามสาเหตุแต่ละสาเหตุที่เกิดแผลที่เท้าอย่างเหมาะสมต่อผู้ป่วยเบาหวานแต่ละราย การรักษาแผลเบาหวานที่สำคัญ ๆ เช่น การใช้ยา การใช้ยาร่วมกับการตัดแต่งแผล การผ่าตัด การใช้หนอนแมลงวัน เป็นต้น
การดูแลเท้าเพื่อป้องกันการเกิดแผลสามารถทำได้โดย การทำความสะอาดเท้าอย่างสม่ำเสมอ ผู้ป่วยที่พบว่าตัวเองควรมาพบแพทย์เพื่อป้องกันการเป็นมากขึ้นของแผล หมั่นดูแลความผิดปกติของเท้า ควรใส่รองเท้าที่ไม่คับมากเกินไปเพื่อป้องกันการกัดส่วนใดส่วนหนึ่งของเท้าและหมั่นทำความสะอาดบริเวณที่อยู่อาศัยเพื่อป้องกันสิ่งกีดขวางอันอาจจะทำให้ก่อให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น
อย่าลืมว่า หากผู้ป่วยเบาหวานเกิดแผล แผลจะหายยาก แผลเกิดได้ทุกที่ ศีรษะ มือ แขน ไม่เฉพาะขา เท้า หรือนิ้วเท้าเท่านั้น เพราะฉะนั้นการดูแลและปฏิบัติที่ถูกต้องจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดแผลได้.
ศ.นพ.จุมพล วิลาศรัศมี
* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://healthnewsdaily.blogspot.com/2012/10/blog-post_3640.html