ผู้หญิงสมัยใหม่ แต่งงานช้า มีลูกช้า เพราะรอความพร้อมต่างๆ นานา ยิ่งรอให้พร้อมนานเท่าไหร่อายุก็มากขึ้นเท่านั้น ความเสี่ยงระหว่างการตั้งครรภ์ก็มาพร้อมด้วยเช่นกัน หนึ่งในนั้นคือ “เบาหวานระหว่างตั้งครรภ์”
ปัจจุบันพบว่า 1 ใน 3 ของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์เป็นเบาหวาน เนื่องจากผู้หญิงในปัจจุบันตั้งครรภ์กันตอนอายุมาก เหตุผลเพราะรอให้มีความพร้อมทางฐานะการเงินก่อน เมื่อฐานะทางการเงินพร้อม เบาหวานก็พร้อมจู่โจมด้วยเช่นกัน
เบาหวานระหว่างตั้งครรภ์เกิดขึ้นได้อย่างไร
เบาหวาน เกิดจากการทำงานของ “ฮอร์โมนอินซูลิน” ในร่างกายผิดปกติ ส่งผลให้อินซูลิน ซึ่งมีหน้าที่นำน้ำตาลในเลือดเข้าสู่เซลล์ต่างๆ เพื่อไปใช้เป็นพลังงาน ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพและเกิดการคั่งของน้ำตาลในเลือดส่งผลให้อวัยวะต่างๆ เสื่อม
คุณแม่ทั้งหลายคงอดสงสัยกันไม่ได้ ตอนที่ไม่ท้องก็ปกติดี แต่พอท้องแล้วทำไมจึงเป็นเบาหวานไปได้ ก็เนื่องมาจากเมื่อตั้งครรภ์ ฮอร์โมนต่างๆ ในร่างกายจะลุกโชน รกจะสร้างฮอร์โมนบางชนิดที่มีฤทธิ์ต่อต้านฮอร์โมนอินซูลินที่คอยคุมระดับน้ำตาลในเลือด จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น จึงเรียกว่า เบาหวานระหว่างตั้งครรภ์นั่นเอง ถ้าภาวะนี้ไม่ได้รับการควบคุม จะมีผลกระทบต่อทั้งตัวแม่และทารกในครรภ์ได้ แต่เมื่อคลอดแล้วคุณแม่ก็จะกลับสู่ภาวะปกติที่ไม่เป็นเบาหวาน แต่ก็ยังต้องคอยติดตามตรวจสุขภาพให้ดี เพราะผู้ที่เคยเป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ ในอนาคตมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานจริงๆ มากกว่าคนที่ไม่เป็น
คุณแม่แบบไหนเสี่ยงเป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์
- คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป
- คุณแม่ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นเบาหวาน
- มีภาวะความดันโลหิตสูง
- ตรวจพบว่ามีน้ำตาลในปัสสาวะติดต่อกัน 2 ครั้งในระหว่างการตั้งครรภ์
- ตรวจพบภาวะน้ำคร่ำมากกว่าปกติ
- คุณแม่มีน้ำหนักตัวมากหรืออ้วนมาก
- เคยคลอดลูกที่มีน้ำหนักมาก ตั้งแต่ 4,000 กรัมขึ้นไป ในการตั้งครรภ์ครั้งก่อน
รู้ได้อย่างไรว่าเป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์
การตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ จะเริ่มทำเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 24-28 สัปดาห์ ในคุณแม่ที่ไม่มีประวัติเป็นโรคเบาหวานมาก่อน แต่สำหรับคุณแม่ที่มีความเสี่ยงสูง หรือเป็นเบาหวานอยู่แล้วจะเริ่มตรวจตั้งแต่มาฝากครรภ์ครั้งแรกเลย
คุณแม่จะต้องมาตรวจเลือดตอนเช้าก่อนรับประทานอาหารและน้ำ หลังจากนั้นคุณหมอจะให้ดื่มน้ำตาลกลูโคส 50 กรัม จากนั้น 1 ชั่วโมง จะตรวจระดับน้ำตาลในเลือด หากพบว่าระดับน้ำตาลเท่ากับหรือมากกว่า 140 มก./ดล. บ่งชี้ว่าคุณแม่มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคเบาหวาน จะต้องทำการทดสอบต่อโดยให้ดื่มน้ำตาลกลูโคส 100 กรัมและเจาะเลือดตรวจอีก 3 ครั้ง โดยเจาะห่างกันทุกๆ 1 ชั่วโมง (รวมแล้วเจาะเลือดทั้งหมด 4 ครั้งในวันเดียวกัน) สาเหตุที่ต้องเจาะเลือดตรวจรวมกันถึง 4 ครั้ง ก็เพื่อต้องการดูว่า อินซูลินในร่างกายของคุณแม่สามารถทำงานได้ปกติหรือไม่ คุณแม่มีภาวะเบาหวานแฝงอยู่จริงๆ ใช่ไหม
เบาหวานระหว่างตั้งครรภ์อันตรายไหม
คุณแม่ที่ระดับน้ำตาลสูงระหว่างตั้งครรภ์ จะมีความเสี่ยงทั้งตัวคุณแม่เองและทารกในครรภ์ ภาวะเสี่ยงต่อตัวคุณแม่ เช่น การเกิดครรภ์เป็นพิษ ความดันโลหิตสูง ติดเชื้อง่ายโดยเฉพาะระบบทางเดินปัสสาวะนอกจากนี้ความเสี่ยงยังส่งผลไปยังลูกน้อยอีกด้วย เช่น ระดับน้ำตาลที่สูงจะส่งผลให้ทารกตัวใหญ่กว่าปกติ ทำให้คลอดยาก คลอดธรรมชาติไม่ได้ หลังคลอดระบบการหายใจของทารกอาจมีปัญหาพัฒนาช้ากว่าปกติ ไม่สามารถหายใจได้เองเมื่อแรกคลอด เสี่ยงต่อการเกิดภาวะเหลืองหลังคลอดมากกว่าทารกทั่วไป
เป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ต้องดูแลกันอย่างไร
สำหรับคุณแม่ที่เป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ ถ้ามีระดับน้ำตาลในเลือดน้อย คุณแม่สามารถดูแลตัวเองได้ด้วยการควบคุมอาหาร ลดการรับประทานจำพวกแป้ง น้ำตาล เพิ่มอาหารจำพวกโปรตีน เนื้อสัตว์ และผักผลไม้ให้มาก การหลีกเลี่ยงน้ำตาลในที่นี้ รวมถึงต้องหลีกเลี่ยงผลไม้ที่มีรสหวานจัด เช่น มะม่วง ทุเรียน ส้ม สัปปะรด เป็นต้น ผลไม้ที่คุณแม่เป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ควรรับประทาน ได้แก่ แอปเปิ้ลเขียว ฝรั่ง เพราะพวกนี้น้ำตาลน้อย
แต่สำหรับคุณแม่ที่เป็นเบาหวานแบบรุนแรง คุณหมอจะให้ฮอร์โมนอินซูลินชนิดฉีดเพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลให้เป็นปกติ เนื่องจากคุณแม่ไม่สามารถรับประทานยากินชนิดเม็ด เพราะอาจทำให้ทารกในครรภ์มีภาวะเสี่ยงต่อความพิการได้ เมื่อคุณหมอสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติได้แล้ว คุณหมอจะสอนวิธีฉีดยาให้คุณแม่ไว้ดูแลตนเองขณะอยู่ที่บ้าน ส่วนทารกในครรภ์จะได้รับการตรวจสุขภาพเป็นระยะๆ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนหรืออันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น
สุดท้ายคุณหมอขอฝากไว้ว่า “เบาหวานระหว่างตั้งครรภ์อาจนำไปสู่ภาวะเสี่ยงต่างๆ ได้ก็จริง แต่คุณแม่ไม่ต้องวิตกกังวลจนเกินไปนักใครที่เป็นคุณหมอจะช่วยดูแลอย่างใกล้ชิด โดยทีมแพทย์หลายสาขา รวมทั้งนักโภชนากร ที่จะมาช่วยควบคุมอาหาร ซึ่งส่วนใหญ่ 80% ของคุณแม่ที่เป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีช่วยลดภาวะแทรกซ้อนได้มาก ปลอดภัยทั้งคุณแม่และคุณลูกค่ะ”
โดย : พญ. สิริพัฒน์ ปรีชาสนองกิจ
ขอบคุณบทความจาก : https://www.samitivejhospitals.com/th/%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A0%E0%B9%8C-%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%99/