โรคกรดไหลย้อน

11 Aug 2023 เปิดอ่าน 1533

 

          โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux disease, GERD) คือกลุ่มโรคอันเกิดจากภาวะที่มีน้ำย่อยจากกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กไหลย้อนเข้ามาในหลอดอาหาร ส่งผลรบกวนต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย และ/หรือมีภาวะแทรกซ้อน

          อาการของโรคกรดไหลย้อนแสดงถึงการอักเสบของเยื่อบุหลอดอาหารอันเกิดจากการไหลย้อนของกรดและน้ำย่อยจากกระเพาะอาหารเข้าสู่หลอดอาหาร โดยพยาธิสภาพของหลอดอาหารมีตั้งแต่ความผิดปกติไม่มากซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า จนกระทั่งมีอาการอักเสบ หรือมีผลแทรกซ้อนจากการอักเสบคือ การตีบของหลอดอาหารส่วนปลาย, เซลล์เยื่อบุหลอดอาหารเปลี่ยนเป็นเซลล์ที่มีลักษณะคล้ายเซลล์จากลำไส้ (Barrett’s esophagus) และมะเร็งหลอดอาหารส่วนปลาย

 

อาการ

อาการทางหลอดอาหาร คือ อาการแสบร้อนยอดอก หรืออาการแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ร้าวมาบริเวณหน้าอกหรือเรอเปรี้ยว ในรายที่เป็นมากอาจมีอาการกลืนติด หรือกลืนเจ็บ ซึ่งบ่งถึงภาวะแทรกซ้อนจากตัวโรครุนแรงจนมีแผล หลอดอาหารตีบ หรือมะเร็งหลอดอาหารส่วนปลาย

อาการนอกหลอดอาหาร ผู้ป่วยอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการนอกหลอดอาหารเป็นหลักหรือมีอาการทางหลอดอาหารไม่ชัดเจนได้แก่ อาการด้านระบบหูคอจมูก เช่น เสียงแหบเรื้อรัง, เจ็บคอเรื้อรัง หรือมาด้วยอาการด้านระบบหายใจเช่น ไอเรื้อรัง หอบหืด อาการทางช่องปาก เช่นฟันผุ มีกลิ่นปาก

 

การวินิจฉัย

1. วินิจฉัยจากอาการทางหลอดอาหาร ถ้าไม่มีอาการเตือนสามารถวินิจฉัยกรดไหลย้อนและเริ่มต้นการรักษาได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องสืบค้นเพิ่มเติม

2. การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น (Upper gastrointestinal endoscopy) มีจุดประสงค์เพื่อประเมินหลอดอาหาร เป็นการตรวจมาตรฐานเพื่อหาความผิดปกติของหลอดอาหาร โดยข้อดีคือสามารถประเมินว่ามีการอักเสบของหลอดอาหารหรือไม่ และประเมินระดับความรุนแรง รวมถึงภาวะแทรกซ้อนของตัวโรคได้  ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องทำทุกราย แนะนำให้ตรวจในกรณีผู้ป่วยความเสี่ยงสูง ดังนี้

  • ผู้ป่วยกลุ่มที่มีอาการเตือน คือ อาการกลืนติด กลืนเจ็บ อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำ ซีดจากการขาดเหล็กที่หาสาเหตุอื่นไม่พบ น้ำหนักลด หรือมีก้อนบริเวณลิ้นปี่

  • ผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนที่ไม่ตอบสนองต่อการทดลองรักษาด้วยยาลดกรดในกระเพาะอาหาร

  • ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคไม่ชัดเจน จุดประสงค์เพื่อตัดสาเหตุอื่นๆที่ไม่ใช่โรคกรดไหลย้อน

  • เพื่อประเมินความรุนแรงของภาวะหลอดอาหารอักเสบรวมถึงติดตามหลังการรักษาว่าผู้ป่วยหายจากหลอดอาหารอักเสบจริงหรือไม่

  • ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อ Barrett’s esophagus คือกลุ่มผู้ป่วยชายอายุมากกว่า 50 ปี ที่มีอาการโรคกรดไหลย้อนนานมากกว่า 5 ปี

  • การวัดกรดในหลอดอาหารตลอดเวลา สามารถทำได้สองวิธี คือการใส่สายผ่านจมูกและค้างไว้ 24 ชั่วโมง หรือวัดโดยอาศัย แคปซูลวัดกรดติดไว้ในหลอดอาหาร เป็นเวลา 48  ชั่วโมง (Bravo capsule)

  •  

3. การตรวจหลอดอาหารโดยการกลืนแป้งแบเรียม เป็นการตรวจค้นรอยโรคของหลอดอาหารที่ใช้แพร่หลายในอดีต ปัจจุบันไม่แนะนำให้ใช้วิธีนี้ในการวินิจฉัยโรคกรดไหลย้อน

4. การตรวจการเคลื่อนไหวของหลอดอาหาร (Esophageal manometry) มักไม่ได้ประโยชน์ในแง่การวินิจฉัยโรคกรดไหลย้อน แต่มีประโยชน์ในแง่อื่นๆเช่น การประเมินผู้ป่วยก่อนเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัด ในผู้ป่วยที่มีอาการไม่ชัดเจนต้องวินิจฉัยแยกโรคกับโรคกลุ่มอาการหลอดอาหารเคลื่อนที่ผิดปกติอื่นๆ

 

การรักษา

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

          การลดน้ำหนัก จากความรู้ที่ว่าความอ้วนทำให้มีโอกาสเป็นโรคกรดไหลย้อนมากขึ้น การลดน้ำหนักทำให้ความดันในช่องท้องลดลง ส่งผลให้มีกรดไหลย้อนเข้ามาในหลอดอาหารน้อยลง ปัจจุบันแนะนำให้ลดน้ำหนักในผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน (overweight) ทุกราย โดยการศึกษาพบว่า อาการของโรคจะลดลงเมื่อผู้ป่วยลดน้ำหนักลงจน Body mass index(BMI) ลดลงจากเดิมอย่างน้อย 3.5

          การนอนยกหัวสูง โดยให้สูงประมาณ 6-8  นิ้ว จะช่วยลดการเกิดกรดไหลย้อนได้ และควรหลีกเลี่ยงการนอนหลังรับประทานอาหารภายใน 3 ชั่วโมง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการเวลากลางคืน

          ความเชื่อในอดีตที่ว่า การรับประทานอาหารมื้อใหญ่ สูบบุหรี่ เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์และคาเฟอีน อาหารที่มีไขมันสูง ช็อกโกแลต มิ้นท์ อาหารที่มีรสเปรี้ยวและน้ำอัดลม จะกระตุ้นอาการของโรค แต่ ณ ปัจจุบัน ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมดังกล่าว สามารถลดการเกิดกรดไหลย้อนได้   จึงยังไม่แนะนำในแนวทางปฎิบัติในปัจจุบัน

การรักษาด้วยยา

          การใช้ยาควรประเมินว่าผู้ป่วยตอบสนองต่อยาหรือไม่

ถ้าผู้ป่วยตอบสนองต่อยาแนะนำให้กินยาต่อในขนาดเดิมจนครบ 8 สัปดาห์ หลังจากนั้นจึงพิจารณาในการรักษาระยะยาว

ถ้าผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อยาให้พิจารณา เพิ่มขนาดของยาเดิมเป็นวันละ 2 ครั้ง หรือเปลี่ยนชนิดของยา หรือส่งต่อผู้ป่วยไปยังแพทย์ระบบทางเดินอาหารเพื่อทำการสืบค้นสาเหตุและรักษาต่อไป

การรักษาโดยการผ่าตัด

          ผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนที่อาจต้องพิจารณารักษาโดยการผ่าตัดได้แก่ ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาเป็นเวลานาน หลอดอาหารอักเสบมาก หลอดอาหารตีบ ผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา

 

เอกสารอ้างอิง

- กีรติ อัครปฏิมา, อรุณชัย แซ่ฉั่ง GASTROESOPHAGEAL REFLUX SYNDROME, อายุรศาสตร์หาดใหญ่ เล่ม 2 “Common Problem in Pmbulatory Medicine" 2017; 19-30.
- Vakil N, van Zanten SV, Kahrilas P, Dent J, Jones R. The Montreal definition and classification of gastroesophageal reflux disease: a global evidence-based consensus. The American journal of gastroenterology. 2006;101(8):1900-20; quiz 43.
- Harnik IG. In the Clinic. Gastroesophageal Reflux Disease. Annals of internal medicine. 2015;163(1):Itc1.