Make Appointment

โรคมือ เท้า ปาก

23 Apr 2017 เปิดอ่าน 401

โดย Dr. N. T.

   พ่อแม่หลายคนมีความวิตกกังวลอย่างมากเมื่อได้ยินข่าวการระบาดของโรคมือ เท้า ปาก และมีการเสียชิวิตของเด็กที่เป็นโรคนี้ทั้งในและต่างประเทศจากสื่อต่าง ๆ เมื่อลูกน้อยมีอาการไข้ ร่วมกับแผลในปาก และมีผื่นตุ่มแดงบริเวณมือและเท้า พ่อแม่ควรจะดูแลลูกน้อยอย่างไรดี เรามาทำความรู้จักโรคนี้กัน

โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากอะไร ?
     เกิดจากการติดเชื้อไวรัสลำไส้หรือเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) หลายชนิด พบได้บ่อยในเด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี พบโรคนี้ได้ตลอดทั้งปี และมักพบการระบาดในช่วงฤดูฝน

ติดต่อกันได้อย่างไร ?
      การติดต่อคล้ายกับไข้หวัดได้แก่ น้ำมูก น้ำลาย ไอจาม อุจจาระ หรือได้รับเชื้อเข้าสู่ปากโดยตรง เชื้ออาจติดมากับมือหรือของเล่น มักพบการระบาดในโรงเรียนอนุบาล สถานรับเลี้ยงเด็ก สถานที่เล่นของเด็กในห้างสรรพสินค้า สถานที่แออัดต่างๆ

อาการเป็นอย่างไร ?
      เริ่มจากมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย เจ็บปาก กินได้น้อยลง ในช่องปากจะพบแผลตุ่มแดงที่ลิ้น กระพุ้งแก้ม เพดานปากและช่องคอ ที่ฝ่ามือฝ่าเท้าจะพบผื่นตุ่มแดง อาจพบที่เข่าและก้นร่วมด้วยได้ ตุ่มแดงอาจพองและแตกออกเป็นแผลตื้นๆ หายได้เองใน 7-10 วัน

รักษาอย่างไร ?
      1. ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อประเมินความรุนแรงของโรค การรักษาแพทย์จะให้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาชาชนิดหยอดปากในกรณีที่มีอาการเจ็บปากมากจนกินได้น้อยลง ไม่มียาที่ฆ่าเชื้อไวรัสนี้โดยตรง ส่วนใหญ่ร่างกายสามารถกำจัดเชื้อนี้ได้เอง
      2. ให้รับประทานอาหารอ่อนๆ และอุณหภูมิค่อนข้างเย็นจะทำให้ลูกรับประทานได้ง่ายขึ้นและเจ็บปากลดลง ดื่มน้ำ และนอนพักผ่อนมากๆ เช็ดตัวลดไข้เป็นระยะ
      3. โดยทั่วไปโรคนี้สามารถหายเองได้ แต่ให้เฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดได้แม้จะมีโอกาสเกิดน้อยก็ตาม ได้แก่ ไข้สูง ซึม กินไม่ได้ หายใจหอบเหนื่อย ชัก แขนขาอ่อนแรง ต้องรีบพาไปโรงพยาบาลทันที เพราะอาจเกิดภาวะก้านสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และน้ำท่วมปอดซึ่งอาจเสียชีวิตได้

เราจะป้องกันโรคได้อย่างไร ?
     - รักษาสุขอนามัย สอนลูกให้ล้างมือด้วยสบู่ ก่อนรับประทานอาหาร และหลังขับถ่ายทุกครั้ง
     - หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ ขวดนม ช้อนส้อม
     - โรงเรียนอนุบาลและสถานรับเลี้ยงเด็กควรดูแลรักษาความสะอาดสถานที่ อุปกรณ์เครื่องใช้ ของเล่นเด็กให้สะอาดอยู่เสมอ หากพบเด็กป่วยต้องรีบแยกเด็กเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปยังเด็กคนอื่น หากมีการระบาดควรปิดห้องเรียนที่มีเด็กป่วย หรืออาจปิดทั้งโรงเรียนถ้ามีเด็กป่วยหลายห้องชั่วคราวประมาณ 5-7 วัน

นพ. ณัฐพล ธรรมสกุลศิริ กุมารแพทย์ด้านโรคผิวหนัง

ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.chularat.com/knowledge_detail.php?id=97