Make Appointment

โรคหลอดเลือดสมอง หรือ โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต (Stroke)

02 Feb 2017 เปิดอ่าน 1336

โรคหลอดเลือดสมอง หรือ โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต (Stroke) เป็นโรคที่พบบ่อย โดยมีรายงานว่าทั่วโลกทุก 6 วินาทีจะมีประชากรป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง 1 ราย ดังนั้นในชั่วชีวิตของผู้หญิง 1ใน 5 และผู้ชาย 1ใน 6ทั่วโลกมีโอกาสเกิดโรคนี้ แม้ว่าจะสามารถพบได้ในทุกวัยแต่พบว่าผู้สูงอายุและผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงทางหลอดเลือดจัดว่ามีความเสี่ยงมากที่สุด 

     โรคนี้ส่วนใหญ่เกิดจากการตีบหรืออุดตันของเส้นเลือดสมอง บางส่วนเกิดจากการปริแตกของหลอดเลือด  ทำให้เนื้อสมองมีการตายจากการขาดเลือด โดยเริ่มต้นจากเนื้อสมองส่วนตรงกลางที่ขาดเลือดมากที่สุดก่อน หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมทันเวลาขนาดของเนื้อสมองส่วนที่ตายจะเพิ่มขึ้นออกมาสู่สมองส่วนอื่น ๆที่อยู่ถัดออกมา  โดยพบว่าเวลาหนึ่งชั่วโมงที่ผ่านไปเมื่อสมองขาดเลือดจะทำให้เซลล์สมองตายไปในจำนวนที่เท่ากับอายุสมองที่แก่ลง 3.6 ปี ดังนั้นนอกจากโรคนี้ทำให้เกิดอัมพฤกษ์หรืออัมพาตอันเป็นสาเหตุลำดับต้นๆของการเกิดความพิการแล้วยังนับเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดภาวะสมองเสื่อมนอกเหนือไปจากสาเหตุจากโรคอัลไซเมอร์ที่เรารู้จักดีอีกด้วย

    เดิมโรคในกลุ่มนี้ไม่มีการรักษาจำเพาะแต่ปัจจุบันความก้าวหน้าทางการแพทย์ ได้ค้นพบการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดหรือ เรียกว่า Thrombolytic  Therapyที่สามารถช่วยเปิดหลอดเลือดในผู้ป่วยที่มีอาการสมองขาดเลือดจากเส้นเลือดตีบหรืออุดตันให้หายเป็นปกติได้หากได้รับยาทันภายในเวลา 270 นาทีหรือ 4.5 ชั่วโมงหลังจากผู้ป่วยเกิดอาการ  เวลาจึงนับเป็นสิ่งสำคัญต่อผลโอกาสในการรักษา ดังนั้นเมื่อมีอาการจึงควรรีบมาถึงสถานพยาบาลที่มีการเตรียมความพร้อมในการรักษาให้เร็วที่สุด เนื่องจากสถานพยาบาลจะต้องมีระบบการดำเนินการทั้งการตรวจวินิจฉัยและการตัดสินใจในการคัดเลือกผู้ป่วยที่เหมาะกับการรักษาโดยวิธีดังกล่าวโดยแพทย์และทีมผู้เชี่ยวชาญในเวลาที่สั้นที่สุด หรือที่เราเรียกว่า “ Stroke Fast Track” หรือ  ทางด่วนโรคหลอดเลือดสมอง  เพื่อให้ผู้ป่วยมีโอกาสได้รับยาละลายลิ่มเลือดโดยเร็วที่สุดเพื่อผลการรักษาที่ดีที่สุด

 สัญญาณเตือนว่ามีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบ ได้แก่

- แขนขาอ่อนแรกครึ่งซีก (hemiparesis)

- แขนขาชาครึ่งซีก (hemisensory loss)

- แขนขาอ่อนแรงทั้ง 2 ข้าง

- พูดไม่ชัด ลิ้นแข็ง (slurred speech )

- มองเห็นภาพซ้อน (double vision )

- พูดไม่ออก ฟังไม่เข้าใจ (aphasia)

- ตามองเห็นภาพไม่ชัด 

- เดินเซทรงตัวไม่อยู่ (ataxia)

- เวียนหัว บ้านหมุน ( Vertigo, disequilibrium)

โดยอาการดังกล่าว เป็นอย่างรวดเร็ว หรือ ทันทีทันใด รู้เวลาชัดเจน หรือต้องสงสัยในกรณีพบเป็นหลังตื่นนอน

สำหรับปัจจัยเสี่ยง ของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบ คือ

เพศ   ผู้ชายมีโอกาสเกิดขึ้นสูงกว่าผู้หญิง

อายุ อายุที่สูงขึ้น  ตั้งแต่อายุ45  ปีขึ้นไป มีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมอง   ซึ่งหมายถึง เมื่ออายุมากขึ้นโอกาสในการเกิดโรคก็ยิ่งมากขึ้น

ประวัติครอบครัว   ผู้ที่มีประวัติทางครอบครัว ญาติสายตรง แม่พ่อ พี่น้อง ที่เป็นโรคนี้ก็มีโอกาสเกิดโรคนี้ 

โรคประจำตัว   ผู้ที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง  โรคไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ

ผู้ที่สูบบุหรี่ และ ผู้ที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์

โรคหลอดเลือดสมอง หรือ โรคอัมพฤกษ์ อัมพาตป้องกันได้ถ้าพบแพทย์เป็นประจำเพื่อตรวจหาความเสี่ยงและให้การรักษาและควบคุมป้องกัน รักษาโรคประจำตัวที่เป็นปัจจัยเสี่ยงเพื่อลดการเกิดโรค  ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอช่วยลดความเครียดและควบคุมนำหนัก ไม่ดื่มสุรา,สูบบุหรี่ซึ่งเป็นการเพิ่มปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรค และเมื่อเกิดอาการรู้จักอาการและพบแพทย์ให้เร็วที่สุดเพื่อรับการรักษาเพื่อลดการเสียชีวิต ความพิการ และกลับคืนสู่ภาวะใกล้เคียงปกติให้มากที่สุดมีภาวะแทรกซ้อนน้อยที่สุด

โดย พญ. กนกวรรณ วัชระศักดิ์ศิลป์ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรกรรมสมองและระบบประสาท

โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่

ขอบคุณบทความจาก : http://www.bangkokhospital-chiangmai.com/th/news/2016/march/stroke/