Make Appointment

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

24 Aug 2016 เปิดอ่าน 3051

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบส่วนใหญ่กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ มีสาเหตุจากผนังหลอดเลือดหนาแข็งตัว ซึ่งเกิดจาก "ปัจจัยเสี่ยง" ต่างๆ ดังนั้น ประชาชนทั่วไปควรรู้เพื่อประโยชน์ในการป้องกันโรค ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญๆได้แก่ ไขมันสูงในกระแสเลือด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โคเลสเตอรอล การสูบบุหรี่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน นอกจากนั้นยังอาจรวมถึงความเครียด ทำงานนั่งโต๊ะไม่ออกกำลังกาย โรคอ้วนในแง่พยาธิสภาพของหลอดเลือดที่หนาแข็งตัว แพทย์พบว่าภายในประกอบด้วยสารไขมันโคเลสเตอรอลเป็นส่วนใหญ่

โดยสรุป ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่างๆเหล่านี้มักจะมีการหนาแข็งตัวของผนังหลอดเลือด และมีแนวโน้วที่จะหนาขึ้นเรื่อยๆ และนูนเข้าไปภายในท่อหลอดเลือด ส่วนใหญ่จะใช้เวลาหลายปี จนมีขนาดใหญ่และอุดกั้นการไหลของเลือด และทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด แต่ในทางตรงกันข้ามผู้ที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่างๆเหล่านี้ อาจเกิดโรคได้แม้โอกาสจะน้อยกว่า ดังนั้นทุกคนไม่ควรประมาท ท่านควรต้องรู้จักและจำปัจจัยเสี่ยงต่างๆนี้ไว้ให้ดี

อาการของหลอดเลือดหัวใจตีบ
อาการนั้นจะปรากฎต่อเมื่อหลอดเลือดตีบไปมากแล้ว เช่น ตีบไปแล้ว 50-75 เปอร์เซ็นต์ ขนาดท่อภายในเหลือเพียง 25-50 เปอร์เซ็นต์ และมีผลทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจลดลง จะเกิดความิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจและทำให้เกิดอาการต่างๆ อาการที่พบบ่อยได้แก่

1.การเจ็บหรือปวด หรือแน่นหน้าอก
2.อาการที่เกิดจากการเสื่อมสมรรถภาพของกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งหมายถึงหัวใจวายเลือดคั่ง

อาการเหล่านี้เป็นอาการของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อันเป็นผลจากหลอดเลือดหัวใจตีบ ดังนั้น ความรุนแรงของอาการจึงขึ้นอยู่กับ

1.ระดับการขาดเลือดของกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งขึ้นอยู่กับการตีบมากหรือตีบน้อยของหลอดเลือดหัวใจ
2.สภาวะการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ ถ้าหัวใจทำงานมากย่อมต้องใช้พลังงานมาก แต่เลือดมาเลี้ยงได้น้อยเพราะหลอดเลือดตีบ กล้ามเนื้อหัวใจจะขาดเลือดมาก อาการต่างๆมักรุนแรงขึ้น ในทางตรงกันข้ามถ้าหัวใจทำงานน้อยลง การใช้พลังงานลดลง แม้เลือดจะมาเลี้ยงน้อยลงก็อาจเพียงพอ ดังนั้นอาการอาจจะไม่รุนแรงหรือกลับทุเลาลง เปรียบเหมือนรถยนต์ที่ขับเร็วพอควร วิ่งบนพื้นราบย่อมกินน้ำมันน้อยกว่าการขับเร็วมากและวิ่งขึ้นเขา ถ้าท่อน้ำมันเปรียบเสมือนหลอดเลือดหัวใจ เล็กหรือตีบแคบ น้ำมันไหลไม่สะดวก เครื่องยนต์ต้องติดขัดแน่นอน

หลอดเลือดหัวใจตีบรักษาอย่างไร?

1.การใช้ยา โดยมีจุดประสงค์เพื่อลดความรุนแรงของการขาดเลือดของกล้ามเนื้อหัวใจ ยาที่แพทย์ใช้จะมีฤทธิ์ขยายหลอดเลือดเพื่อเพิ่มเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งมีผลให้อาการเจ็บแน่นหน้าอกทุเลาลง แต่การรักษาด้วยยา ไม่สามารถแก้ไขการตีบของหลอดเลือดได้ เป็นเพียงบรรเทาอาการ แต่ในกรณีที่หลอดเลือดหัวใจตีบอย่างเฉียบพลันเพราะมีลิ่มเลือดอุด และผู้ป่วยสามารถไปถึงโรงพยาบาลได้อย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่เกิน 6 ชั่วโมง การใช้ยาละลายลิ่มเลือดอาจช่วยชีวิตและช่วยไม่ให้กล้ามเนื้อหัวใจตายมาก แต่รอยตีบที่หลอดเลือดก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม ยาอื่นๆนอกจากนี้ เช่นยาต้านเกร็ดเลือดเพื่อสลายลิ่มเลือดเล็กๆ หรือป้องกันไม่ให้เกิดลิ่มเลือดอุด หรือยาลดไขมันในกระแสเลือด หรือยารักษาเบาหวาน เป็นต้น

2.การรักษาด้วยสายสวน ซึ่งหมายถึงการใส่สายสวนผ่านจากหลอดเลือดแดงที่ขาหนีบหรือแขน สวนตามแนวหลอดเลือดไปยังขั้วหัวใจ แล้วทำการแก้ไขรอยตีบของหลอดเลือดด้วยวิทยาการทันสมัยต่างๆ เช่น การใช้ลูกโป่ง (บอลลูน) เข้าไปถ่างให้รอยตีบขยายออก ทำให้หายตีบหรือตีบน้อยลง หรือใช้หัวกรอกากเพ็ชรเข้าไปกรอบริเวณรอยตีบ ทำให้หายตีบหรือน้อยลง หรือใช้เครื่องตัดผนังหลอดเลือดเข้าไปตัดเกลี่ยบริเวณรอยตีบ หรือวิทยาการล่าสุดคือ พอถ่างหลอดเลือดเสร็จแล้วก็ใช้ขดลวดพิเศษเข้าไปค้ำ หรือยันไว้เพ่อทำให้หลอดเลือดไม่กลับตีบซ้ำในระยะยาว ข้อดีของการรักษาด้วยสายสวนคือไม่ต้องผ่าตัด ไม่ต้องใช้ยาสลบ ผู้ป่วยพูดคุยได้ อยู่โรงพยาบาลไม่นานและฟื้นตัวเร็ว ส่วนข้อเสียคือค่อนข้างแพง และอาจตีบซ้ำใหม่อีก

3.การผ่าตัด คือการผ่าตัดต่อหลอดเลือด เอาหลอดเลือดใหม่ต่อเข้ากับหลอดเลือดแดงใหญ่ทางด้านหนึ่ง และอีกด้านหนึ่งต่อเข้ากับหลอดเลือดหัวใจตรงบริเวณปลายของรอยตีบ วิธีการนี้เรียกว่าทำบายพาส [bypass] เหมือนทำถนนบายพาสหรือทางเบี่ยงเพื่อเลี่ยงเมือง หลอดเลือดใหม่นี้นิยมนำมาจากหลอดเลือดแดงที่ผนังทรวงอก และหลอดเลือดดำที่ขา ข้อดีของการผ่าตัดคือ ผลมักจะดีกว่าการรักษาด้วยวิธีอื่นทั้งในระยะสั้นและระยะยาว แต่ข้อเสียคือต้องผ่าตัดหน้าอก ต้องดมยาสลบ อยู่โรงพยาบาลหลายวันและพักฟื้นหลายวัน

ศ.นพ.วิเชียร ทองแตง

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=century&date=30-10-2008&group=15&gblog=34