Make Appointment

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด

15 Dec 2016 เปิดอ่าน 1323

ผู้ปกครองหลายๆ ท่านเมื่อได้ยินโรคนี้อาจสงสัยว่า “เด็กก็เป็นโรคหัวใจด้วยหรือ”  “เคยได้ยินแต่โรคหัวใจในผู้ใหญ่” จริงๆ แล้วโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดพบได้สูงถึง 1 ใน 100 คนของเด็กคลอดมีชีวิต แต่ในจำนวนนี้ส่วนหนึ่งไม่มีอาการผิดปกติและส่วนหนึ่งสามารถหายได้เอง
 
โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (congenital heart disease) เกิดจากความผิดปกติของการสร้างหัวใจตั้งแต่เด็กอยู่ในครรภ์คุณแม่ บางรายไม่พบสาเหตุชัดเจน แต่บางรายอาจพบสาเหตุ เช่น 
 
-การที่คุณแม่ได้รับยาหรือสารเสพติดบางชนิดช่วงตั้งครรภ์ เช่น ยารักษาสิวกลุ่ม isotretinoin ยากันชักบางชนิด สารเสพติดพวกสุรา บุหรี่                                                                                        
 
-โรคประจำตัวคุณแม่ เช่น เบาหวาน หรือการติดเชื้อในไตรมาสแรกของคุณแม่ตั้งครรภ์ เช่น เชื้อหัดเยอรมัน 
 
 -ความผิดปกติทางโครโมโซมของเด็กเอง เช่น โรคดาวน์ซินโดรม  หรืออาจสัมพันธ์กับพันธุกรรม 
 
 โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ 
 
1.ชนิดเขียว หรือ มีออกซิเจนในเลือดต่ำ เกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจที่ทำให้มีเลือดดำปะปนไปกับเลือดแดงไปเลี้ยงร่างกาย ภาวะนี้ในเด็กบางคนสามารถตรวจพบได้ตั้งแต่แรกเกิด แต่บางคนอาการเขียวจะค่อยชัดขึ้นภายในขวบปีแรก  
 
2.ชนิดไม่เขียว เกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจที่ไม่มีเลือดดำและเลือดแดงมาปะปนกัน เช่น ผนังหัวใจรั่ว ลิ้นหัวใจตีบหรือลิ้นหัวใจรั่ว 
 
 การวินิจฉัยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
 
ต้องใช้ประวัติ และผลการตรวจร่างกาย ร่วมกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น ภาพถ่ายรังสีทรวงอก (chest X-ray) การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) การตรวจหัวใจด้วยคลื่นสะท้อนความถี่สูง (echocardiography) การสวนหัวใจ (cardiac catheterization) เป็นต้น
 
 เราจะทราบได้อย่างไรว่าบุตรหลานเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
 
-ช่วงก่อนคลอด: ปัจจุบันในการฝากครรภ์ คุณหมอสูติแพทย์มักจะทำอัลตราซาวนด์ตรวจเช็กสุขภาพเด็กในครรภ์ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดบางชนิดอาจทราบได้ก่อนทารกคลอดออกมา
 
-ช่วงแรกเกิด: เด็กทารกบางคนเกิดมามีอาการตัวเขียว มีอาการหายใจผิดปกติ ภาวะช็อกหรือตรวจร่างกายเสียงหัวใจพบความผิดปกติ
 
-ช่วงหลังกลับบ้าน: เด็กบางคนมีอาการเหนื่อยง่าย ใช้เวลาดูดนมนาน มีอาการหอบ เวลาดูดนมหรือร้องผิวมีสีคล้ำเขียวๆ ม่วงๆ โดยเฉพาะที่ริมฝีปาก บางรายตรวจพบเมื่อมาฉีดวัคซีน โดยกุมารแพทย์จะทำการชั่งน้ำหนัก ดูอาการทั่วไป ตรวจร่างกาย รวมทั้งการฟังเสียงหัวใจ ถ้าพบความผิดปกติเช่น น้ำหนักขึ้นน้อย มีอาการเหนื่อย พบเสียงหัวใจผิดปกติ ก็จะทำการส่งตัวมาพบกุมารแพทย์โรคหัวใจเพื่อทำการตรวจและวินิจฉัยอีกทีหนึ่ง 
 
-ช่วงเลยวัยทารกแรกเกิด บางคนอาจมีอาการเป็นปอดบวมซ้ำๆ น้ำหนักขึ้นน้อย เลี้ยงไม่โต เหนื่อยง่าย บางคนตรวจพบภาพถ่ายรังสีทรวงอกผิดปกติ บางคนมาด้วยปัญหาความดันโลหิตสูง 
 
หากบุตรหลานของท่านมีอาการดังกล่าว ควรพาบุตรหลานมารับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาและแนะนำที่ถูกต้องต่อไป เนื่องจากโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดแต่ละชนิดมีการรักษาที่แตกต่างกัน บางรายเพียงเฝ้าติดตามอาการ บางรายต้องใช้ยา บางรายต้องสวนหัวใจหรือในบางรายต้องได้รับการผ่าตัด  
 
พญ.ศรัยอร ธงอินเนตร
 
* ขอบคุณบทความจาก : http://www.komchadluek.net/news/unclecham/201926