Make Appointment

ไข้เลือดออก: โรคร้ายที่ไม่ควรมองข้าม

16 Aug 2016 เปิดอ่าน 1229

โรคไข้เลือดออกเกิดจากอะไร?
 
โรคไข้เลือดออก เกิดจากเชื้อไวรัสชื่อว่าเดงกี่ (Dengue) ซึ่งมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ด้วยกัน โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค คือ เมื่อยุงลายไปกัดคนที่เป็นไข้เลือดออกก็จะดูดเชื้อโรคไว้ และเพิ่มจำนวนในตัวของยุง จากนั้นยุงไปกัดคนอื่นก็จะถ่ายทอดเชื้อเดงกี่ให้ต่อไป
 
อาการของไข้เลือดออกเป็นอย่างไร?
 
อาการของโรคไข้เลือดออก คุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตได้ง่ายๆตามชื่อโรคคือ มีไข้ และมีเลือดออก นอกจากนั้นคือมีอาการร่วมอื่นๆ และอาจมีอาการรุนแรงได้ ไข้ จะเป็นลักษณะไข้สูงลอย ทานยาแล้วไข้ไม่ค่อยลด มีอาการปวดศีรษะเวลามีไข้เลือดออก คือ มีอาการเลือดออกตามอวัยวะต่างๆ ที่สังเกตได้ชัดเจนเช่นจุดเลือดออก เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำอาการร่วมอื่นๆ คือ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง เบื่ออาหาร และบางคนอาจมีอาการรุนแรง ได้แก่ ช็อค หมดสติ
 
ทราบได้อย่างไรว่าลูกเป็นไข้เลือดออก?
 
หากลูกมีอาการที่เข้าได้กับอาการของไข้เลือดออก คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบคุณหมอ เพื่อตรวจวินิจฉัยจากอาการ การตรวจร่างกาย และการตรวจเลือดเพื่อวินิจฉัย โดยดูจากปริมาณเกร็ดเลือดที่ต่ำกว่าปกติ ความเข้มข้นของเลือดที่สูงกว่าปกติ นอกจากนี้ยังมีการตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อไวรัสเดงกี่ และการตรวจเลือดเพื่อหาภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อไวรัสเดงกี่อีกด้วยค่ะ
 
หากลูกเป็นไข้เลือดออกคุณพ่อคุณแม่ควรให้การดูแลอย่างไร?
 
เนื่องจากโรคนี้ไม่มียาต้านไวรัส การรักษาจึงต้องใช้การรักษาตามอาการ หากลูกมีอาการรุนแรงคุณหมอจะแนะนำให้สังเกตอาการในโรงพยาบาลทันที แต่หากอาการไม่รุนแรงคุณหมออาจแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ดูอาการลูกที่บ้าน ให้ทานยาลดไข้เมื่อมีไข้สูง เช็ดตัวลดไข้ ทานยาแก้คลื่นไส้อาเจียน จิบน้ำเกลือแร่ งดอาหารและเครื่องดื่มที่มีสีแดง ดำ หรือน้ำตาลเพื่อมิให้เข้าใจผิดหากมีอาการอาเจียนว่ามีเลือดปนออกมา และคอยสังเกตอาการที่ต้องรีบมาพบคุณหมอ ได้แก่ ทานไม่ได้ คลื่นไส้อาเจียนมาก มีเลือดออกผิดปกติ ปัสสาวะออกน้อย มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงเช่น ซึมมากหรือร้องกวน โวยวายมากผิดปกติ นอกจากนี้คุณหมออาจนัดมาดูอาการและเจาะเลือดเป็นระยะก็ควรจะมาทุกครั้ง
 
เราจะปกป้องลูกน้อยจากการติดเชื้อไข้เลือดออกได้อย่างไร?
 
การป้องกันการติดเชื้อไข้เลือดออกมี 2 หลักการใหญ่ๆด้วยกันคือ การป้องกันไม่ให้ยุงกัดและการกำจัดยุงลายค่ะ
 
การป้องกันไม่ให้ยุงกัด ทำได้โดยนอนกางมุ้ง หรือในห้องที่มีมุ้งลวด ทายากันยุง โดยเลือกใช้ยาชนิดที่สามารถใช้ได้อย่างไม่เป็นอันตรายในเด็ก ส่วนการกำจัดยุงลายควรเริ่มตั้งแต่กำจัดลูกน้ำด้วยทรายอะเบท ปิดภาชนะใส่น้ำให้มิดชิด คว่ำภาชนะที่ไม่ใช้ ล้างภาชนะใส่น้ำเช่นแจกันและเปลี่ยนน้ำบ่อยๆ นอกจากนี้บางบ้านอาจกำจัดยุงด้วยการฉีดพ่นสารเคมี หรือใช้สารเคมีกำจัดยุง ซึ่งต้องระมัดระวังอย่างมากในบ้านที่มีเด็กเล็กๆนะคะ
 
 
 
โดย : ผศ.พญ.รวีรัตน์ สิชฌรังษี
* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.up2zab.com/news3028.html