Make Appointment

“ตาขี้เกียจ” โรคแบบนี้ก็มีด้วย!!

17 Aug 2016 เปิดอ่าน 1628

เป็นที่ทราบกันดีว่าดวงตา เป็นอวัยวะที่สำคัญของร่างกายกาย เพราะการมีดวงตาที่คมชัดและไม่เป็นโรคนั้น สามารถทำให้เราดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุข แต่กระนั้นก็ยังมีโรคมากมายที่มักทำให้การมองเห็นของเรามีปัญหา ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ “โรคตาขี้เกียจ”

     หลายคนอาจไม่คุ้นเคยกับชื่อโรคนี้มากนัก ซึ่งตาขี้เกียจ ไม่ได้มีความเกี่ยวพันกับอาการขยันของคนเราแต่อย่างใด แต่ตาขี้เกียจ เป็นโรคทางตาชนิดหนึ่ง ที่อาจเกิดขึ้นได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งมีอาการไม่รุนแรงนักแต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้ตาบอดหรือสายตามีปัญหาอย่างถาวรได้ และวันนี้เราจะไปทำความรู้จักกับโรคนี้กัน
 
พญ.ชลธิชา จารุมาลัย จักษุแพทย์ รพ.ปิยะเวท อธิบายถึงภาวะตาขี้เกียจว่า “ภาวะตาขี้เกียจ ( Lazy Eye) หรือภาษาทางการแพทย์เรียกว่า Amblyopia หมายถึง ภาวะที่สายตาข้างใดข้างหนึ่งมัวลง หรือคุณภาพการมองเห็นของสายตาไม่เท่ากันทั้งสองข้างเทียบเท่ากับคนปกติ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการพัฒนาของสายตาด้านนั้นๆ ถูกขัดขวางหรือหยุดไป จากภาวะต่างๆ ดังนี้

1.ตาเข ตาเหล่ ทำให้ผู้ป่วยต้องใช้ตาข้างที่ดี เพียงข้างเดียวในการมอง ทำให้ตาข้างที่เขไม่ทำงาน ส่งผลให้เกิดภาวะตาขี้เกียจในที่สุด
2.สายตาผิดปกติ สั้น ยาว และเอียง ภาวะนี้แสงจะไม่สามารถโฟกัสมาที่จอประสาทตาได้ ทำให้สายตามองชัดไม่เท่ากัน หากไม่ได้รับการแก้ไขก็จะเกิดภาวะตาขี้เกียจในที่สุด
3.โรคทางตาบางชนิด เช่น ต้อกระจก หนังตาตก โรคทางตาเป็นแผล ตั้งแต่กำเนิด อาจจะเป็นข้างเดียวหรือ 2 ข้างก็ได้ ทำให้การ พัฒนาของสายตาไม่เป็นไปตามขั้นตอนปกติก็จะเกิดภาวะตาขี้เกียจขึ้น คนไข้โรคตาขี้เกียจส่วนใหญ่จะมาด้วยอาการตามัว มองไกลไม่ชัด ตาเข หรือในบางรายก็ไม่มีอาการอะไรเลยแต่มาตรวจสุขภาพสายตาแล้วตรวจพบว่ามีตาขี้เกียจแถมไปก็มี และเมื่อเกิดภาวะตาขี้เกียจขึ้น

       การรักษา  ต้องเริ่มด้วยการแก้ไขที่ต้นเหตุตามด้วยการกระตุ้นตาขี้เกียจให้กลับมาทำงานตามปกติด้วยวิธีการปิดตาข้างที่ดีเอาไว้เพื่อให้ตาข้างที่ขี้เกียจทำงานบ้าง โดยต้องแก้ไขอาการผิดปกติทางสายตาร่วมไปด้วย และถ้าหากพบในเด็กต้องรีบรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้แล้วมารักษาตอนโตมักไม่ได้ผล ฉะนั้นจึงไม่ควรละเลยขั้นตอนการตรวจตาเด็ก เพราะเด็กเล็กๆ จะไม่สามารถรู้ได้ด้วยตัวเองว่าตาของตนเองมองไม่ค่อยเห็น รวมถึงไม่มีอาการเจ็บปวดหรือตาแดง เด็กอาจไม่ทราบว่าตนเองมองเห็นได้น้อยกว่าผู้อื่น ทำให้การพัฒนาทางสายตาด้อยกว่าคนอื่นโดยไม่รู้ตัว ซึ่งอาจจะเป็นอุปสรรคในการศึกษาและการเลือกอาชีพบางอย่างได้ในอนาคต

   ฉะนั้นเพื่อเป็นการป้องกันภาวะตาขี้เกียจ แพทย์จึงแนะนำให้ผู้ปกครองพาเด็กมารับการตรวจเป็นระยะ คือ ตั้งแต่แรกคลอด อายุ 6 เดือน อายุ 3 ปี หลังจากนั้นก็ให้ตรวจตาทุกปีหรืออย่างน้อยปีเว้นปีทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ นอกจากนั้นยังมีวิธีการรักษาอีก 2วิธี คือการสวมแว่นสายตาหรือการทำเลสิค ในกรณีที่มีสายตาผิดปกติ และการผ่าตัดกล้ามเนื้อตา สำหรับผู้ที่มีตาเขร่วมด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจักษุแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยอย่างละเอียด และเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับคนไข้ เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด”
      
      จะเห็นได้ว่าโรคตาขี้เกียจ มีวิธีการรักษาที่ไม่ยุ่งยากและมีอาการไม่รุนแรงนัก สำคัญคือผู้ปกครองจะต้องใส่ใจในดวงตาของตนเองและบุตรหลาน หมั่นสังเกต และเข้ารับการตรวจสายตาเป็นประจำ หากพบความผิดปกติควรรีบเข้าพบจักษุแพทย์เพื่อขอคำแนะนำและรีบทำการรักษาโดยทันที เพราะดวงตาเรามีติดตัวกันมาคนละคู่ หากเสียไป หรือคุณภาพการมองเห็นไม่ดีเท่าที่ควร อาจเป็นเรื่องที่ได้ไม่คุ้มเสียอย่างแน่นอน
 
โดย พญ.ชลธิชา จารุมาลัย จักษุแพทย์ โรงพยาบาลปิยะเวท
 
* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.tnews.co.th/html/content/130767/