Make Appointment

“ล้ำยุคเรื่องสุขภาพ”

26 Aug 2016 เปิดอ่าน 3464

ริดสีดวงทวารหนัก…ไม่หนักอย่างที่คิด

       ริดสีดวงทวารหนัก เป็นโรคหนึ่งที่พบได้บ่อยในคนทั่วไป และแม้จะดูเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรง แต่ก็ก่อความทุกข์ทรมานและสร้างความรำคาญใจให้แก่ผู้ป่วยเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังรู้สึกอายที่จะไปพบแพทย์ และเมื่อไปพบแพทย์แล้วต้องทำการรักษาโดยการผ่าตัด กว่าที่แผลจะหายผู้ป่วยก็ต้องทุกข์ทรมานเช่นกัน แต่ปัจจุบันมีนวัตกรรมการรักษาใหม่ ๆ ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยเจ็บปวดและทนทุกข์ทรมานน้อยลง ซึ่งรายการ “ล้ำยุคเรื่องสุขภาพ” ช่วงสุขภาพดีกับ พรีม่าในครั้งนี้ เราจะไปพูดคุยกับ ศ.คลินิกนพ.ดรินทร์ โล่ห์สิริวัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เกี่ยวกับโรคริดสีดวงทวารหนัก และนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการรักษาโรคนี้

จุดเริ่มต้น...ริดสีดวงทวารหนัก

       สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดโรคริดสีดวงทวารหนักก็คืออุปนิสัยการขับถ่ายที่ไม่เหมาะสม การขับถ่ายที่ไม่เป็นเวลา การรับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย และดื่มน้ำน้อย เนื่องจากโรคริดสีดวงทวารหนักมีความสัมพันธ์กับอาการท้องผูก อย่างไรก็ตามสามารถพบริดสีดวงทวารหนักที่เกิดจากอาการท้องเสียได้ด้วยเช่นกัน แต่พบได้ไม่บ่อยนัก เช่นเดียวกับที่พบในผู้ป่วยโรคตับแข็ง โรคนี้พบได้ในคนทุกเพศทุกวัย โดยในกลุ่มคนที่มีความเร่งรีบอาจจะมีความเสี่ยงมาก เพราะขับถ่ายไม่เป็นเวลา

อาการของโรคริดสีดวงทวารหนัก

       อาการส่วนใหญ่ที่ทำให้ผู้ป่วยโรคริดสีดวงทวารหนักมาพบแพทย์คือ
       • มีเลือดออก โดยเป็นเลือดแดงสด ๆ ออกมาหลังการถ่ายอุจจาระ
       • มีติ่งเนื้อยื่นออกมารอบ ๆ ปากทวาร
       • มีอาการปวด เนื่องจากมีเลือดไปคั่งอยู่ในหัวริดสีดวง ทำให้เลือดดำไม่ไหลเวียนกลับ และกลายเป็นก้อนแข็ง ซึ่งผู้ป่วยจะระบม เจ็บ บวม และไม่สามารถดันริดสีดวงให้กลับเข้าไปภายในได้ 

ประเภทของริดสีดวงทวารหนัก

       โรคริดสีดวงทวารหนักแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
       • ริดสีดวงทวารหนักภายนอก จะมีลักษณะเป็นติ่งเนื้ออยู่ภายนอก ไม่มีปัญหามากนัก
       • ริดสีดวงทวารหนักภายใน มีลักษณะเป็นติ่งก้อนเนื้อยื่นออกมาจากภายใน บางครั้งอาจมีเลือดออกหรือมีการอักเสบได้ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหามากกว่าริดสีดวงภายนอก

การรักษาโรคริดสีดวงทวารหนัก

       สำหรับริดสีดวงทวารหนักภายนอก ส่วนใหญ่จะไม่ต้องทำการรักษาใด ๆ เนื่องจากเป็นเพียงผิวหนังที่ยื่นออกมาเท่านั้น ส่วนริดสีดวงภายในจะแบ่งออกเป็น  4 ระยะ ในระยะแรกผู้ป่วยอาจจะมีเลือดออกเล็กน้อย ในระยะที่ 2 เวลาผู้ป่วยถ่ายอุจจาระ จะมีเนื้อนิ่ม ๆ ยื่นออกมา ซึ่งในขณะที่ทำความสะอาดแล้วขมิบนิดหน่อย เนื้อนั้นก็จะสามารถหดเข้าไปข้างในได้ ส่วนระยะที่ 3 เมื่อผู้ป่วยเบ่งถ่ายแล้วมีติ่งเนื้อยื่นออกมา การขมิบก็จะไม่สามารถทำให้ติ่งเนื้อนั้นกลับเข้าไปภายในได้ ต้องมือใช้ช่วยมือดันเข้าถึงจะกลับเข้าที่ ส่วนระยะที่ 4 เพียงการนั่งยอง ๆ หรือจามก็อาจจะทำให้ริดสีดวงออกมาภายนอกได้ และเมื่อพยายามดันก็จะไม่เข้าไปภายใน ซึ่งในผู้ป่วยระยะที่ 2 และระยะที่ 3 ส่วนใหญ่แพทย์จะให้การรักษาแบบประคับประคอง โดยแนะนำเรื่องการรับประทานอาหารที่เหมาะสม และอุปนิสัยการถ่ายอุจจาระที่ดี หรืออาจจะรักษาโดยการใช้ยางรัดให้ริดสีดวงฝ่อ และในผู้ป่วยระยะที่ 3 ถึงระยะที่ 4 ก็อาจจะมีการผ่าตัดโดยใช้เครื่องมือพิเศษในการตัดต่อ ซึ่งวิธีนี้มักเลือกทำในผู้ป่วยที่มีริดสีดวง 2 – 3 หัวขึ้นไป และมีเลือดออก โดยการตัดต่อลำไส้เข้าไปข้างใน สูงขึ้นไปจากปากทวารประมาณ 4 ซม. ซึ่งจะช่วยดึงส่วนที่ยื่นออกมาให้กลับเข้าไปข้างใน การผ่าตัดแบบนี้ผู้ป่วยจะไม่เจ็บ เนื่องจากบริเวณที่ตัดต่อลำไส้ไม่มีเส้นประสาทที่ทำให้รู้สึกเจ็บปวดและไม่มีแผลที่ปากทวาร อย่างไรก็ตามการรักษาโดยวิธนี้ต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากเป็นวิธีที่มีผลแทรกซ้อนพอสมควร

อันตรายของริดสีดวงทวารหนัก

       โรคริดสีดวงทวารหนักนั้นโดยส่วนใหญ่แล้วไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่ในกรณีที่เป็นอันตรายคือการวินิจฉัยผิดพลาดว่าเป็นริดสีดวงทวารหนัก แต่จริง ๆ แล้วเป็นเนื้อร้าย  อีกกรณีหนึ่งคือในผู้ที่เป็นริดสีดวงทวารหนักภายใน และเสียเลือดมาก ซึ่งในผู้ที่เป็นโรคโลหิตจาง จะยิ่งทำให้หัวใจทำงานหนัก และอาจทำให้หัวใจล้มเหลวได้

การเลือกสุขภัณฑ์ที่เหมาะสม

       ในการเลือกสุขภัณฑ์ ควรจะเลือกแบบนั่งมากกว่านั่งยอง ๆ และควรใช้สุขภัณฑ์สีขาว เพราะจะทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของสิ่งที่ขับถ่ายออกมาอย่างชัดเจนทั้งในปัสสาวะและอุจจาระ 

การดูแลตนเองหลังได้รับการรักษา

       หลังได้รับการรักษาโรคริดสีดวงทวารหนักโดยการรัดหรือการผ่าตัดแล้ว ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารที่ช่วยให้การขับถ่ายดีขึ้น เช่น ถั่วงอก ผักบุ้ง ดื่มน้ำมาก ๆ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และฝึกนิสัยการขับถ่ายให้เป็นเวลา ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่ได้รับผ่าตัดแล้วจะไม่กลับมาเป็นโรคนี้ซ้ำอีก 

พฤติกรรมที่ไม่ควรทำของผู้ป่วยโรคริดสีดวงทวารหนัก

       ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เป็นโรคริดสีดวงทวารหนักมักจะอาย และไม่กล้าไปพบแพทย์ และบางรายก็หันไปพึ่งการใช้แพทย์ทางเลือก มีการฉีดยาสมุนไพร จนกระทั่งแผลเน่าและรูทวารตีบ ซึ่งในกรณีนี้แพทย์จะต้องทำการขยายรูทวาร และนำผิวหนังบริเวณที่ยื่นออกมากลับเข้าไปภายใน ซึ่งผู้ป่วยจะเจ็บมาก นอกจากนั้นในผู้ป่วยบางรายอาจมีความเชื่อว่าหากผ่าตัดริดสีดวงทวารหนักแล้วจะทำให้กลั้นอุจจาระไม่อยู่ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การผ่าตัดริดสีดวงทวารหนักจะไม่โดนกล้ามเนื้อหูรูด และไม่มีผลต่อการกลั้นอุจจาระรวมทั้งไม่มีผลแทรกซ้อนใด ๆ ที่เป็นอันตรายทั้งสิ้น และแพทย์ก็จะทำการผ่าตัดในผู้ป่วยที่มีความจำเป็นเท่านั้น ดังนั้นผู้ป่วยจึงไม่ควรอายที่จะไปพบแพทย์ และไม่ควรกังวลกับการผ่าตัดด้วย

 

ศ.คลินิกนพ.ดรินทร์ โล่ห์สิริวัฒน์

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.prema.or.th/patient.php?CId=1&Id=192&menu=