Make Appointment

“โรคเป็นสาวก่อนวัย” ภัยที่ไม่ควรมองข้าม

24 Sep 2016 เปิดอ่าน 4231

ลูกสาวอายุ 6 ขวบเริ่มมีทรวดทรง นมแตกพาน แล้วก็มีประจำเดือน สร้างความตื่นตระหนกให้แก่ครอบครัวทั้งลูกสาวและตัวเองเป็นอย่างมาก ทำให้ต้องหอบหิ้วกันไปหาหมอเพราะไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น...
       
       นี่เป็นโรคที่เรียกว่า “โรคเป็นสาวก่อนวัย” มีเด็กจำนวนมากถึงร้อยละ 1 ของเด็กทั้งหมดเป็นโรคนี้ หลายครอบครัวยังไม่มีความเข้าใจในเรื่องนี้ จึงเป็นภัยที่ไม่ควรมองข้าม เพราะนอกจากจะทำให้เด็กไม่ได้เจริญเติบโตตามวัยแล้ว ยังอาจส่งผลกระทบทางด้านจิตใจกับลูกด้วย ขณะที่เด็กรุ่นใหม่ทั่วๆ ไปก็มีแนวโน้มโตเร็ว ดูเป็นสาวกว่าวัย แถมยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
       
      ไขข้อข้องใจ “โรคเป็นสาวก่อนวัย” คืออะไร?

       ศ.นพ.พัฒน์ มหาโชคเลิศวัฒนา หัวหน้าหน่วยต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โรคเป็นสาวก่อนวัย (Precocious puberty) คือการที่เด็กหญิงหรือเด็กชายมีพัฒนาการทางเพศก่อนวัยอันสมควร กล่าวคือ เด็กหญิงมีพัฒนาการของเต้านมก่อนอายุ 8 ขวบ และมีประจำเดือนครั้งแรกก่อนอายุ 9 ขวบ ส่วนในเด็กชายจะพัฒนาก่อนอายุ 9 ขวบ แต่มีจำนวนไม่มากนัก
       
       ปัจจุบัน โดยทั่วไปเด็กหญิงจะเริ่มเป็นสาวเมื่ออายุประมาณ 8-13 ปี ดังนั้นหากเริ่มเป็นสาวก่อนอายุ 8 ขวบ แสดงว่าเป็นสาวก่อนวัย แต่ถ้า 13 ปีแล้วยังไม่เริ่มเป็นสาวเรียกว่าเป็นสาวช้ากว่าปกติ ซึ่งเด็กที่เป็นสาวก่อนวัยจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย หัวนมและต่อมเต้านมจะค่อยๆ โตขึ้น
       
       ในช่วงนี้เด็กจะกินเก่ง โตเร็ว และมักจะสูงใหญ่กว่าเพื่อนรุ่นเดียวกัน เด็กมักจะเริ่มมีตกขาว และภายใน 1-2 ปีต่อมาก็จะมีประจำเดือนครั้งแรก ซึ่งลักษณะอาการก็ไม่แตกต่างจากวัยรุ่นธรรมดาทั่วๆ ไป
       
       ทั้งนี้ ศ.นพ.พัฒน์เผยว่า ขณะนี้มีเด็กประมาณ 1-2% ของประชากรเด็กทั้งหมดเป็น “โรคเป็นสาวก่อนวัย” ซึ่งถือว่ามีจำนวนมาก แต่บางรายก็ไม่จำเป็นต้องรักษา โดยเฉพาะในรายที่การพัฒนาการทางเพศไม่ได้รวดเร็วมาก

 

เหตุใดจึงเป็นสาวก่อนวัยหนอ?
       ศ.นพ.พัฒน์กล่าวว่า จุดเริ่มต้นความเป็นหนุ่มสาวในคนปกติทั่วไป เกิดจากฮอร์โมนที่ไปกระตุ้นต่อมใต้สมองให้สร้างฮอร์โมนโกนาโดโทรปินเพื่อกระตุ้นต่อมเพศให้สร้างฮอร์โมนเพศเพิ่มขึ้น และหลั่งออกมาโดยมีศูนย์ควบคุมการหลั่ง ทั้งนี้ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าปัจจัยอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นตัวที่ควบคุมการเข้าสู่ความเป็นหนุ่มสาว หรือเป็นตัวที่กระตุ้นในการเริ่มสร้างฮอร์โมนเพิ่มขึ้น
       
       แต่เชื่อว่าเกิดจากหลายๆ ปัจจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการควบคุม ไม่ว่าจะเป็นพันธุกรรมซึ่งถ่ายทอดจากพ่อแม่สู่ลูก ภาวะโภชนาการ คือหากเด็กร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ก็มักเข้าสู่การเป็นหนุ่มเป็นสาวเร็ว ส่วนเด็กผอมหรืออ้วนมากก็มักจะเข้าสู่การเป็นหนุ่มสาวช้ากว่าปกติ
       
       นอกจากนี้ยังรวมถึงเด็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับสมอง เช่น จมน้ำ (near-drowning) สมองเคยขาดออกซิเจน ศีรษะโต (hydrocephalus) เคยติดเชื้อในสมอง (meningitis หรือ encephalitis) เคยได้รับการฉายรังสีที่สมอง หรือเป็นเนื้องอกที่ไปกระตุ้นให้ต่อมใต้สมองผลิตฮอร์โมนออกมาก่อนกำหนด ดังนั้นในรายที่เป็นสาวก่อนวัย ฮอร์โมนจะถูกกระตุ้นให้ออกมาจากต่อมใต้สมองก่อนวัยอันควร โดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด
       
       ศ.นพ.พัฒน์กล่าวต่อว่า ปัจจุบันเรายังไม่รู้กลไกที่ชักนำสู่การเป็นหนุ่มสาว เพราะเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนมาก ไม่รู้ว่าสมองควบคุมยังไง อะไรเป็นตัวกำหนด รู้แต่ว่าสารเคมีในสมองเพิ่มขึ้น แม้แต่ในคนปกติในครอบครัวเดียวกันก็ยังเข้าสู่วัยหนุ่มสาวที่แตกต่างกัน ซึ่งประจำเดือนมักมาช่วงอายุ 11-15 ปี ถ้าอายุมากหรือน้อยกว่านี้เล็กน้อยก็ถือเป็นเรื่องธรรมชาติ ในรายที่ผิดปกติส่วนใหญ่มักตรวจไม่พบสาเหตุ แม้ว่าจะตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองก็ไม่พบความผิดปกติใดๆ
       
       “ การที่หลายๆ ฝ่ายไม่ว่าจะเป็นแพทย์ สื่อมวลชน พูดถึงไก่และโทษไก่ว่ามีผลทำให้เด็กเป็นสาวก่อนวัยนั้น โดยในความเห็นส่วนตัวคิดว่าการที่เด็กเป็นสาวเร็วขึ้นไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับไก่ปนเปื้อนฮอร์โมน ผมเชื่อว่าในวงกว้างไม่มีการใช้ฮอร์โมนในสัตว์ปีก ถ้าลักลอบใช้ไม่รู้มีหรือเปล่าแต่ถ้ามีก็น่าจะมีน้อยมาก จึงไม่ฟันธง แต่ฟาร์มมาตรฐานใหญ่ๆ ไม่น่าจะใช้ ดังนั้นคำกล่าวที่ว่าไก่ปนเปื้อนฮอร์โมนที่ออกมาจึงเป็นข้อมูลที่ไม่มีหลักฐานทางการแพทย์หรือมีผลงานวิจัยยืนยัน ส่วนสิ่งเร้าภายนอกจะส่งผลต่อจิตใจก็มีการพูดถึง แต่เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ยาก ทั้งหมดทั้งสิ้นล้วนเป็นเรื่องที่พูดต่อๆ กันมา ไม่มีข้อพิสูจน์ที่แน่ชัด”
       
       “ ผมเคยถามผู้ป่วยเด็กที่ผมดูแลกว่า 100 คน ส่วนใหญ่บอกว่าเคยกินไก่ทั้งนั้น เด็กไม่กินมีไม่กี่คน แล้วต้องกินมากเท่าไหร่จึงจะเป็นโรค แล้วทำไมพี่น้องกันคนหนึ่งเป็นและอีกคนหนึ่งไม่เป็น แล้วถ้าถามเด็กปกติที่ไม่เป็นโรคเป็นสาวก่อนวัยส่วนใหญ่ก็กินไก่เช่นเดียวกัน”
       
       “จริงๆ แล้วในทางทฤษฎีเป็นไปได้ หากให้ฮอร์โมนเพศกับเด็กติดต่อกันระยะหนึ่ง แต่ในทางปฏิบัติยังไม่เคยพิสูจน์ตรวจพบอาหารที่มีการปนเปื้อนฮอร์โมน ในปัจจุบันอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ปีก ไก่ เป็ด มีมาตรฐานการเลี้ยงดูที่ไม่ได้ใช้ฮอร์โมนเหมือนเมื่อ 30 ปีก่อน ทั้งอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น สั่งระงับการใช้ฮอร์โมนมานานมากแล้ว” ศ.นพ.พัฒน์กล่าว

เป็นสาวก่อนวัย เด็กโตไวเป็นผู้ใหญ่ไม่สูง

       ทั้งนี้ ศ.นพ.พัฒน์ยังบอกอีกว่า การเป็นสาวก่อนวัยเกิดปัญหาทั้งร่างกายและจิตใจ คือเมื่อช่วงวัยเด็กและวัยรุ่นเด็กจะสูงกว่าเพื่อนในวัยเดียวกัน แต่จะโตเป็นผู้ใหญ่ที่เตี้ยกว่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากฮอร์โมนเพศหญิงทำให้โตเร็วในวัยเด็ก เป็นผลให้กระดูกปิดเร็วกว่าเด็กในวัยเดียวกัน ดังนั้น ระยะเวลาของการเจริญเติบโตจึงสั้นกว่าคนทั่วไป เมื่อเป็นผู้ใหญ่จึงเตี้ยกว่าปกติ
       
       ส่วนทางด้านจิตใจ เนื่องจากเด็กที่เป็นสาวก่อนวัยจะมีร่างกายเหมือนเด็กสาววัยรุ่น ขณะที่วุฒิภาวะความเป็นผู้ใหญ่ไม่ได้พัฒนาไปด้วย คือจิตใจยังเป็นเด็ก บางรายจะรู้สึกอายเพื่อนเพราะถูกล้อว่ามีเต้านมโต ในขณะที่เพื่อนๆ ยังไม่มีเต้านม บางรายอาจถูกมองว่าแก่แดด โตเกินวัย ที่เด็กไม่ได้คิดในแง่นั้น แต่ร่างกายเตะตาต้องใจเพศตรงข้ามจึงเกิดการล่วงละเมิดทางเพศ ตั้งแต่จับ ลูบคลำ ข่มขืน จนเลยเถิดถึงการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์
       
       สำหรับวิธีการรักษาเด็กที่เป็นสาวก่อนวัย ขั้นแรกต้องตรวจหาสาเหตุก่อน โดยการซักประวัติการรับประทานยา เช่น ยาคุมกำเนิด หรืออาหารที่อาจมีการปนเปื้อนฮอร์โมนเพศหญิงและประวัติการเจริญเติบโตในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาว่าโตเร็วขึ้นกว่าปกติ ควรตรวจเอกซเรย์กระดูกเพื่อประเมินการเจริญเติบโตและความสูงในอนาคต อาจจำเป็นต้องตรวจอัลตร้าซาวน์รังไข่หรือตรวจคอมพิวเตอร์สมอง ถ้ามีสาเหตุจากเนื้องอกที่รังไข่หรือในสมองจะต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ถ้าตรวจไม่พบสาเหตุแต่มีระดับฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองสูง อาจให้การรักษาเพื่อชะลอการเป็นสาว ซึ่งสามารถทำได้โดยการใช้ยาฉีดซึ่งเป็นฮอร์โมนสังเคราะห์ขึ้น ชื่อ GnRH-agonist ฉีดเข้ากล้ามเนื้อเดือนละ 1 ครั้ง ทุกเดือน
       
       ฮอร์โมนชนิดนี้จะไปยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง มีผลทำให้ฮอร์โมนเพศจากรังไข่ลดลง ยาชนิดนี้จำเป็นต้องฉีดติดต่อกันไปจนอายุประมาณ 11-14 ปี เมื่อหยุดยาเด็กก็จะเริ่มเป็นสาวภายใน 3-6 เดือน แต่เนื่องจากยาราคาแพงเข็มละเกือบ 10,000 บาท ดังนั้น จึงควรใช้ในกรณีที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น
       
       “เราต้องหาสาเหตุ ตรวจร่างกายโดยประเมินการพัฒนาทางเพศ ประเมินการเจริญเติบโต พร้อมเอกซเรย์ภาพถ่ายกระดูก ตรวจวัดระดับฮอร์โมน วัดขนาดมดลูกและรังไข่ การรักษาอาจแตกต่างกันขึ้นกับสาเหตุ บางรายฉีดฮอร์โมน บางรายกินยา จุดประสงค์หลักเพื่อยุติการพัฒนา ชะลอตัว ผลที่ได้จะทำให้หน้าอกมีขนาดเล็กลง ประจำเดือนก็จะหยุดชั่วคราว ลักษณะคล้ายเด็กวัยเดียวกัน แล้วเมื่อถึงวัยที่เหมาะสมจึงหยุดการให้ยา”
       
       ทั้งนี้ ในปัจจุบันยาที่ได้ผลดีในการควบคุมฮอร์โมนจากสมองมีเพียงยาฉีดเท่านั้น ยารับประทานที่ได้ผลดียังไม่มี ในอดีตมีการใช้ยาชนิดเดียวกันนี้พ่นจมูกทุกวันวันละ 2 ครั้ง พบว่าได้ผลใกล้เคียงกับยาฉีดชนิดที่ใช้ในปัจจุบัน แต่ไม่นิยมใช้เนื่องจากต้องพ่นวันละหลายครั้งต่อเนื่องกันหลายปี เด็กจะลืมพ่นยาบ่อยทำให้ไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร
       
       “มีคุณแม่คนหนึ่งพาลูกสาวมารักษาช้าเนื่องจากไม่รู้จักโรคนี้ เพราะตอนแรกลูกสูงเร็วมากกว่าเด็กๆ วัยเดียวกันก็ดีใจนึกว่าจะสูงขึ้นเรื่อยๆ พอเห็นว่าหยุดสูงก็มาหาหมอ ซึ่งเด็กมีประจำเดือนมา 3 ปีแล้วพามาพบแพทย์ พอตรวจเอกซเรย์ภาพถ่ายกระดูกก็พบว่าเด็กไม่สูงแล้ว ดังนั้นจึงมีผู้ป่วยส่วนหนึ่งไม่ได้รับการรักษาหรือได้รับการรักษาช้า เพราะไม่ทราบแล้วก็มาไม่ทันเนื่องจากร่างกายหยุดการเจริญเติบโตไปแล้ว”

แนวโน้มเด็กเป็นสาวก่อนวัยมากขึ้น

       กุมารแพทย์ท่านนี้ยังบอกอีกว่า การที่เด็กรุ่นใหม่เป็นหนุ่มสาวเร็วขึ้นกว่าคนรุ่นก่อนเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติของวิวัฒนาการของมนุษยชาติ เนื่องเพราะมนุษย์มีความสมบูรณ์ของร่างกาย สิ่งแวดล้อมและอาหารการกินเมื่อเทียบกับคนในอดีต อีกทั้งการที่เด็กโตวัยขึ้นก็ไม่ได้พบเฉพาะในประเทศไทย แต่ทั่วโลกก็มีแนวโน้มที่เด็กจะเป็นหนุ่มสาวเร็วขึ้น จึงถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลก
       
       “จริงๆ โรคนี้มีมานานแล้วและไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่ แต่ในระยะหลังๆ คนสนใจ เนื่องจากคนมีความรู้มากขึ้น การทำความเข้าใจให้ความรู้ประชาชนมีมากขึ้น ประจวบกับมียารักษาควบคุมได้ผลดี จึงดูเสมือนว่าพบโรคนี้มาก จริงๆ แล้วปํญหานี้ไม่ใช่สิ่งที่ต้องตื่นตระหนก หากพบว่าลูกหลานเจริญเติบโตเร็วกว่าปกติก็สามารถมาพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำต่างๆได้” ศ.นพ.พัฒน์กล่าวทิ้งท้าย

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9480000076483