เป็นกลุ่มโรคที่ทำให้มีการติดขัดหรือเจ็บหรือนิ้วติดเวลามีการใช้งานหรือ ขยับนิ้ว ซึ่งเมื่อเรางอนิ้ว กำมือแล้วพยายามเหยียดนิ้วออก อาจจะทำให้เกิดเสียงหรือเกิดความรู้สึกดังป็อบได้ครับ หรือในกรณีที่เป็นมากๆ อาจจะทำให้เหยียดนิ้วมือออกไม่ได้เลยก็เป็นได้
โรคนี้พบได้ทุกนิ้วของมือรวมทั้งนิ้วโป้ง พบได้ทุกกลุ่มอายุ แต่ส่วนมากเกิดขึ้นในช่วงอายุ 40-60 ปี มักพบกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชายด้วยนะครับ โดยมากจะเกิดกับผู้ที่ใช้งานมือในลักษณะเกร็งนิ้วบ่อยๆ เช่น การทำงานบ้าน การบิดผ้า การหิ้วของหนัก การยกของหนัก การใช้กรรไกรตัดกิ่งไม้ หรือการทำงานเจาะถนนเจาะสว่าน เป็นต้น
สาเหตุ
สาเหตุที่แท้จริงนั้นไม่มีใครทราบ แต่มีปัจจัยหลายๆอย่างที่ทำให้อุบัติการณ์ของการเกิดโรคนี้พบได้มากขึ้น เช่นในกลุ่มคนที่ใช้มือหรือนิ้วมากกว่าคนทั่วไปเป็นประจำ เช่น นักพิมพ์ดีด นักตกแต่งสวนที่ต้องใช้กรรไกรตัดกิ่งไม้ พนักงานออฟฟิศ ที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ หรือ แม่บ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนที่มีโรคประจำตัวบางอย่างร่วมด้วย เช่น โรคเบาหวาน หรือโรครูมาตอยด์ ก็จะพบอุบัติการณ์ของโรคนิ้วล็อคสูงขึ้นได้เช่นกัน
ลักษณะอาการ อาจจะมีอาการได้หลายลักษณะเช่น
- มีก้อนเจ็บที่ฝ่ามือ
- มือบวม
- มีเสียงหรือความรู้สึก”ป็อบ”เวลาขยับหรือใช้งานนิ้วมือ
- ปวดเวลางอหรือเหยียดนิ้ว
- มีความรู้สึกข้อนิ้วมือยึดแข็งติด โดยเฉพาะหลังตื่นนอน
- ปวดมากจนงอนิ้วมือไม่ได้
- ในรายที่เป็นมากๆอาจจะทำให้นิ้วมือล็อกอยู่ในท่างอตลอดเวลา ต้องใช้มืออีกข้างในการช่วยแกะเพื่อให้นิ้วมือเหยียดออกมาได้ หรือถ้าปล่อยให้เป็นมากไปนานๆ อาจจะทำให้เหยียดนิ้วออกเองไม่ได้เลย
อาการอาจจะแบ่งง่ายๆเป็น 3 ระยะ คือ
- ระยะแรก ปวดบริเวณโคนนิ้วมือ และจะปวดมากขึ้น ถ้าเอานิ้วกดบริเวณฐานนิ้วมือด้านหน้า
- ระยะที่สอง เริ่มมีอาการสะดุด และจะปวดมากขึ้น เวลาขยับนิ้ว งอ และเหยียดนิ้ว
- ระยะที่สาม มีอาการติดล็อค โดยเมื่องอนิ้วลงไปแล้ว จะติดล็อคจนไม่สามารถเหยียดนิ้วออกเองได้ ต้องเอามืออีกข้างมาช่วยแกะ หรืออาจมีอาการมากขึ้นจนไม่สามารถงอนิ้วลงได้เอง
การรักษาแบ่งออกเป็น 2 วิธีใหญ่ๆคือ
- การรักษาโดยการไม่ผ่าตัด
- หยุดพักผ่อน ในกรณีที่อาการเป็นไม่มากหรือเป็นน้อย อาจจะใช้วิธีการพักการใช้นิ้วมือเพื่อทำให้การอักเสบลดลง
- การรับประทานยา อาจจะใช้ยากลุ่มลดการอักเสบของเนื้อเยื่อเช่นยากลุ่ม non-steroidal anti-inflammatory drugs (NSAIDS) เพื่อให้การอักเสบลดลงเร็วยิ่งขึ้น
- การฉีดยา โดยทั่วไปจะเป็นการฉีดยา Steroid เข้าไปในตำแหน่งที่มีการอักเสบโดยตรงบริเวณโคนนิ้วมือ เป็นการรักษาแบบชั่วคราว และข้อจำกัดก็คือ ไม่ควรฉีดยาเกิด 2 หรือ 3 ครั้ง ต่อ 1 นิ้วที่เป็นโรค
- การดูแลและควบคุมโรคประจำตัวอื่นๆร่วมด้วย เช่นในคนไข้ที่เป็นเบาหวาน ก็ควรควบคุมระดับน้ำตาลไปด้วย
- การใช้วิธีทางกายภาพบำบัด ได้แก่ การใช้เครื่องดามนิ้วมือ การนวดเบาๆ การใช้ความร้อนประคบ และการออกกำลังกายเหยียดนิ้ว
- การรักษาโดยใช้การผ่าตัด โรคนิ้วล็อคไม่ใช่โรคที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาหรือการผ่าตัด จะทำการผ่าตัดก็ต่อเมื่อผู้ป่วยมีอาการที่รุนแรงหรือเป็นมากขึ้นจนทนไม่ได้ และผู้ป่วยยินยอมให้ผ่าตัด
การผ่าตัดจะดีที่สุดในแง่ที่จะทำให้โรคไม่กลับมาเป็นใหม่ที่นิ้วที่ได้รับ การผ่าตัด หลักในการผ่าตัด คือ เป็นการผ่าตัดเฉพาะที่ โดยการตัดปลอกหุ้มเส้นเอ็นที่หนาอยู่ให้เปิดกว้างออก เพื่อให้เส้นเอ็นเคลื่อนผ่านได้โดยสะดวก ไม่ติดขัดหรือสะดุดอีก หลังผ่าตัดหลีกเลี่ยงการใช้งานหนักของนิ้วมือ ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ดูแลไม่ให้แผลเปียกน้ำ ไม่จำเป็นต้องทำแผลทุกวันถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ
การป้องกัน
- ไม่หิ้วของหนัก เช่น ถุงพลาสติก ตะกร้า ถังน้ำ ถ้าจำเป็นต้องหิ้ว ควรใช้ผ้าขนหนูรองและหิ้วให้น้ำหนักตกที่ฝ่ามือ แทนที่จะให้น้ำหนักตกที่ข้อนิ้วมือ หรือใช้วิธีการอุ้มประคองช่วยลดการรับน้ำหนักที่นิ้วมือได้
- ไม่ควรบิดหรือซักผ้าด้วยมือเปล่าจำนวนมากๆ
- นักกอล์ฟที่ต้องตีแรง ตีไกล ควรใส่ถุงมือ หรือใช้ผ้าสักหลาดหุ้มด้ามจับให้หนาและนุ่มขึ้น เพื่อลดแรงปะทะ และไม่ควรไดร์กอล์ฟต่อเนื่องเป็นเวลานาน
- เวลาทำงานที่ต้องอาศัยอุปกรณ์ช่าง ควรระวังการกำหรือบดเครื่องมือทุ่นแรง เช่น ไขควง เลื่อย ค้อน ฯลฯ ควรใส่ถุงมือหรือห่อหุ้มด้ามจับให้ใหญ่และนุ่มขึ้น
- ชาวสวนควรระวังเรื่องการตัดกิ่งไม้ด้วยกรรไกร หรืออื่นๆ ที่ใช้แรงมือควรใส่ถุงมือเพื่อลดการบาดเจ็บของปลอกเอ็นกับเส้นเอ็น
- คนที่ยกของหนักๆ เป็นประจำ เช่นคนส่งน้ำขวด ถังแก๊ส แม่ครัวพ่อครัว ควรหลีกเลี่ยงการยกมือเปล่า ควรมีผ้านุ่มๆ มารองจับขณะยก และใช้เครื่องทุ่นแรง เช่น รถเข็น รถลาก
- หากจำเป็นต้องทำงานที่ต้องใช้มือกำ หยิบ บีบ เครื่องมือเป็นเวลานานๆ ควรใช้เครื่องทุ่นแรง เช่น ใช้ผ้าห่อที่จับให้หนานุ่ม เช่น ใช้ผ้าห่อด้ามจับตะหลิวในอาชีพแม่ครัวพ่อครัว
- งานบางอย่างต้องใช้เวลาทำงานนานต่อเนื่อง ทำให้มือเมื่อยล้าหรือระบม ควรพักมือเป็นระยะๆ เช่นทำ 45 นาที ควรจะพักมือสัก 10 นาที
- ถ้ามีอาการข้อฝืด กำไม่ถนัดตอนเช้า ควรแช่น้ำอุ่น และบริหารโดยการขยับมือกำแบเบาๆ ในน้ำ จะทำให้นิ้วมือเคลื่อนไหวได้คล่องขึ้น
- ไม่ขยับนิ้วหรือดีดนิ้วที่มีอาการเล่น เพราะจะทำให้เส้นเอ็นอักเสบมากยิ่งขึ้น
โดย : นพ. ไพบูลย์ เลาหสินนุรักษ์
ขอบคุณบทความจาก : https://www.samitivejhospitals.com/th/10-%E0%B9%81%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%A5%E0%B9%87%E0%B8%AD%E0%B8%84/