Make Appointment

5 ความเข้าใจผิดๆเกี่ยวกับหอบหืดในเด็ก

25 Mar 2017 เปิดอ่าน 2683

5ความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับโรคหอบหืดในเด็ก

1.ลูกไม่เคยมีอาการเหนื่อยหอบ ไม่น่าจะเป็นโรคหอบ

ความจริง : จริงอยู่ว่า เด็กส่วนใหญ่ที่เป็นโรคหอบ มักจะมาพบหมอด้วยอาการเหนื่อยหอบ แต่ก็มีคนไข้หอบหืดบางคนที่มาด้วยอาการไอเรื้อรัง โดยอาการที่ควรสงสัยว่าน่าจะไอจากหอบหืด คือ ไอมากตอนกลางคืน ไอติดกันเป็นชุด บางรายอาจมีหายใจดังวี้ดร่วมด้วย

 

2. หอบหืดเป็นโรคที่รักษาไม่หาย ต้องยอมรับ ถ้ามีอาการก็พามารพ.

ความจริง : แม้ว่าโรคหอบหืดจะรักษาไม่หายขาด แต่เราสามารถ”ควบคุม”โรคได้ด้วยการรักษาที่เหมาะสม เป้าหมายในการรักษาคือทำให้เด็กไม่มีอาการกำเริบบ่อยๆ เด็กไม่ขาดเรียน และสามารถออกกำลังกายและมีกิจกรรมเหมือนเด็กทั่วๆไปได้

 

3. โตขึ้นเดี๋ยวก็ดีเอง

ความจริง  : มีเด็กหอบหืดบางรายที่อาการไม่ดีขึ้นเองเมื่ออายุมากขึ้น ดังนั้นควรรักษาตั้งแต่เนิ่นๆดีกว่า

 

4.ใช้ยาพ่นนานๆ กลัวมีผลข้างเคียง  เพราะมีส่วนผสมของสเตียรอยด์อยู่ด้วย

ความจริง :ยาพ่นที่ใช้ในเด็กหอบหืด มี 2 อย่างคือ

  1. ยาพ่นฉุกเฉิน เป็นยาขยายหลอดลม ยาชนิดนี้จะให้เฉพาะเวลาที่มีอาการเท่านั้น ถ้าใช้บ่อยๆอาจดื้อยาได้ (หมายถึงพอมีอาการแล้วให้ยาแล้วไม่ค่อยได้ผล)
  2. ยาควบคุม(ไม่ให้อาการกำเริบบ่อยๆ)ยาชนิดนี้ต้องใช้ต่อเนื่อง ห้ามหยุดยาก่อนที่หมอจะให้หยุด แม้ว่ายากลุ่มนี้มีส่วนผสมของ

สเตียรอยด์  แต่ก็มีในปริมาณที่น้อยมากๆ ดังนั้นสามารถใช้ต่อเนื่องได้โดยไม่มีผลข้างเคียงที่น่ากังวลครับ

 

5. เวลาที่อาการหอบกำเริบ มาพ่นยาที่รพ.ดีกว่าพ่นเองที่บ้าน

ความจริง : ยาพ่นฉุกเฉิน ที่ใช้เวลาที่หอบกำเริบ เป็นยาขยายหลอดลม พ่อแม่มักจะคุ้นเคยกับการพ่นยาโดยการใช้เครื่องพ่นยา หรือใช้ถังออกซิเจนที่รพ.ในความเป็นจริงยาพ่นที่เป็นหลอดที่ใช้เองที่บ้านก็มีประสิทธิภาพดีเช่นเดียวกัน เพราะเวลาหอบกำเริบ ยิ่งให้ยาขยายหลอดลมเร็วเท่าไหร่ จะยิ่งตอบสนองดีเท่านั้น ดังนั้น พ่อแม่ที่มีลูกเป็นหอบหืด ควรมียาพ่นฉุกเฉินติดบ้านไว้ เพื่อสามารถให้ได้ทันทีที่ลูกมีอาการ