Make Appointment

AV block เมื่อหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ

24 Aug 2016 เปิดอ่าน 4807

เคยไหมที่รู้สึกเหนื่อยง่าย หัวใจเต้นช้าลง จนเป็นลมหมดสติ ปัญหานี้อาจเกิดจากภาวะ AV block หัวใจ ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญอื่นๆ เพื่อให้ร่างกายมีชีวิตอยู่ได้ การที่หัวใจทั้ง 4 ห้อง จะทำงานสัมพันธ์กันได้ ต้องมีระบบควบคุม เรียกกันว่า “ระบบไฟฟ้าในหัวใจ”
       
       โดยทั่วไปการบีบตัวของหัวใจเริ่มจาก “หัวใจห้องบน” มีเซลล์พิเศษที่ผนังหัวใจห้องบนขวา ทำหน้าที่เป็นตัวกำหนดจังหวะ (pacemaker) เซลล์กลุ่มนี้รวมเรียกว่า sinus node จะปล่อยกระแสไฟฟ้าเป็นระยะๆ ประมาณ 60-80 ครั้งต่อนาที ขณะที่เราพัก ไฟฟ้าที่ออกมาจะกระตุ้นกล้ามเนื้อหัวใจห้องบนให้บีบตัว แล้วกระแสไฟจะเดินทางผ่านทางเนื้อเยื่อซึ่งมีคุณสมบัตินำไฟฟ้าได้ดี เปรียบเสมือนสายไฟ ลงมากระตุ้นหัวใจห้องล่างให้บีบตัวตาม

ก่อนจะลงไปถึงหัวใจห้องล่าง สัญญาณไฟฟ้านี้ต้องผ่านสถานีแปลงสัญญาณที่เรียกว่า “AV node” ก่อน
       
       ที่ AV node มีปลายประสาทอัตโนมัติมาเลี้ยงมากมาย ทำหน้าที่ปรับเปลี่ยนอัตราและความเร็วในการนำไฟฟ้าในหัวใจให้อัตราการเต้นของหัวใจโดยรวมเหมาะสมกับบุคคลนั้น ถ้าการทำงานของ AV node ผิดปกติ การนำไฟฟ้าช้าลง หรือนำไม่ได้เลย ก็จะส่งผลให้หัวใจห้องบนและล่างทำงานไม่สัมพันธ์กัน เกิดภาวะหัวใจเต้นช้าที่เรียกว่า Atrioventricular block หรือ AV block


AV block แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
       
       1.physiologic AV block พบในผู้ที่มีระบบประสาทอัตโนมัติ parasympathetic ทำงานเด่น เช่น นักกีฬา หรือผู้ที่ออกกำลังกายหนักตลอดเวลา รวมถึงผู้ป่วยที่ได้รับความเจ็บปวดอย่างรุนแรง จะเห็นว่าคนบางคนเมื่อปวดมากอาจเป็นลมหมดสติจากการที่หัวใจเต้นช้ามาก
       
       2.กลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคซึ่งเป็นสาเหตุ มีหลายปัจจัย เช่น ความเสื่อมของร่างกาย ยาบางชนิด โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคติดเชื้อบางชนิด โรคทัยรอยด์ เป็นต้น
       เมื่อเป็น AV block จะมีอาการอย่างไร
       ผู้ที่เป็น AV block มีอาการแตกต่างกันมาก ตั้งแต่แทบไม่มีอาการ เหนื่อยง่ายขณะทำงาน บางคนอยู่เฉย ๆ ก็เหนื่อย บางรายอาจเป็นรุนแรงถึงกับเป็นลมหมดสติ หรือเสียชีวิตฉับพลันได้
       เมื่อเป็นแล้ว จะรักษาได้ผลหรือไม่

โดยทั่วไปแพทย์จะรักษาตามอาการของโรค ในรายที่ไม่พบสาเหตุชัดเจน หรือพบแต่ไม่สามารถแก้ไขได้ และเป็น AV block ขั้นรุนแรง ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้า เมื่อใดควรจะต้องใส่เครื่อง แพทย์จะพิจารณาตามอาการของโรค ผู้ป่วยบางรายมีภาวะ AV block แต่กำเนิด ส่วนใหญ่ไม่ต้องทำอะไร แต่บางรายอาจต้องใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้า ควรปรึกษาแพทย์
       
       แม้ภาวะ AV block จะไม่สามารถรักษาหายขาดได้ ทำได้เพียงรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ และ/หรือใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้าเท่านั้น แต่ถ้าหมั่นดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อหลีกเลี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของภาวะนี้ก็อาจพอป้องกันได้ อย่างไรก็ตามหากมีอาการผิดปกติ เหนื่อยง่าย หรือคล้ายจะเป็นลมหมดสติ ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ อาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

อ.นพ.สัชชนะ พุ่มพฤกษ์

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www2.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9540000072503