Make Appointment

MIS การผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช ทางเลือกผู้หญิงยุคใหม่

23 Feb 2017 เปิดอ่าน 481

ในทุกวันนี้ผู้หญิงก็ต้องออกมาทำงานไม่ต่างจากผู้ชาย เพราะสังคมที่เปลี่ยนไปบทบาทของคุณผู้หญิงจึงมากขึ้น หากคุณผู้หญิงในยุค 2016 นี้ต้องประสบกับโรคบางโรคที่เกี่ยวกับมดลูกและรังไข่ คงจะสร้างปัญหาใหญ่ให้เป็นกังวลไม่น้อย เพราะแน่นอนอยู่แล้วว่าการรักษาก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของการผ่าตัด อย่างที่ทราบกันดีว่าการผ่าตัดไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ จะต้องลางานหลายวันเพราะต้องพักฟื้นด้วย แต่ผู้หญิงยุคใหม่ต้องออกไปทำงานมีหน้าที่ความรับผิดชอบมากขึ้นคงเป็นการยากที่จะลางานเป็นเวลาหลายวันได้ เรื่องของการรักษาด้วยการผ่าตัดแบบทั่วไปจึงเป็นเรื่องใหญ่ทีเดียว อย่างไรก็ดีด้วยทุกวันนี้วิทยาการทางการแพทย์ก้าวหน้าไปมาก แม้จะต้องผ่าตัดเพื่อแก้ปัญหาโรคที่เกิดขึ้นกับคนสุภาพสตรี แต่วิธีการผ่าตัดไม่ได้น่ากลัวและซับซ้อนเหมือนเมื่อสมัยก่อนแล้ว ปัจจุบันแพทย์ได้ใช้วิธีการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช ซึ่งเป็นหนึ่งในรูปแบบของการผ่าตัดแบบ MIS (Minimally Invasive Surgery) เป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่ ที่เข้ามาตอบโจทย์การรักษาโรคทางนรีเวชได้ครอบคลุมความต้องการของคุณสุภาพสตรีมากขึ้นในยุคปัจจุบัน

การผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช (Gynecologic Laparoscopic Surgery)

เป็นหนึ่งในวิธีการรักษาโรคของสตรีโดยใช้วิธีการผ่าตัดแล้วสอดกล้องผ่านเข้าไปในช่องท้องเพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคนรีเวชในบริเวณอุ้งเชิงกราน ซึ่งหมายรวมถึงรังไข่ มดลูก ท่อนำไข่ และบริเวณใกล้เคียง วิธีนี้เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมาก และเหมาะสมมากสำหรับผู้ป่วยอายุน้อยและคุณสุภาพสตรีที่วางแผนมีบุตรในอนาคต นับว่าการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวชเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่ในการผ่าตัดซึ่งมีประโยชน์มาก วิธีการผ่าตัดรูปแบบนี้ทำให้แพทย์สามารถมองเห็นรายละเอียดของตำแหน่งที่จะทำการผ่าตัดได้ชัดเจนและมีความแม่นยำ เนื่องจากเป็นการดูด้วยกล้องขยายกำลังสูงต่างการผ่าตัดแบบเดิมซึ่งเป็นการดูด้วยตาเปล่า ซึ่งจะทำให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กและกระทบกระเทือนต่ออวัยวะภายในน้อย ผู้ป่วยจะเสียเลือดน้อย และมีอาการปวดแผลน้อยมาก ผู้ป่วยจึงฟื้นตัวได้เร็ว ใช้เวลาในการพักฟื้นในโรงพยาบาลไม่นาน และมีความเจ็บปวดหลังการผ่าตัดน้อย โอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ก็น้อยด้วยเช่นกัน หลังการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช เนื่องจากแผลเล็ก เจ็บน้อย จึงทำให้ฟื้นตัวเร็ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่คนไข้ที่เข้ารับการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวชจะสามารถกลับไปทำงานและทำกิจวัตรประจำวันตามปกติได้เร็วกว่าการผ่าตัดเปิดหน้าท้องแบบเก่า ด้วยคุณประโยชน์ที่ดีเช่นนี้จึงเป็นอะไรที่ตอบโจทย์คุณผู้หญิงยุคใหม่ได้ดี เนื่องจากไม่กระทบกับการทำงานเพราะไม่ต้องลางานนานและที่สำคัญการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช สามารถตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคทางนรีเวชได้หลากหลายมากกว่าเดิม 

กระบวนการและขั้นตอนของการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวชก็ไม่ยุ่งยากหลังจากที่ผู้ป่วยดมยาสลบแล้ว แพทย์จะทำการเจาะรูขนาดเล็ก ๆ ประมาณ 5-10 มิลลิลิตรผ่านช่องท้องหรือบริเวณที่ต้องการผ่าตัด จากนั้นก็จะทำการสอดท่อที่มีไฟฉายและกล้องขนาดเล็กที่สามารถบันทึกภาพอวัยวะภายในของผู้ป่วยอย่างชัดเจนเข้าไป และให้กล้องส่งภาพมายังจอมอนิเตอร์ซึ่งเมื่อทำเช่นนี้แพทย์จะสามารถมองเห็นบริเวณที่มีปัญหาต้องการผ่าตัดได้ชัดเจน ทำให้ผลที่ได้หลังการผ่าตัดมีความเที่ยงตรงและแม่นยำเทียบเท่าหรือดีกว่าการผ่าตัดแบบเดิม

แต่ถึงอย่างไรก็ตามการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช แม้ว่าจะมีข้อดีมากมาย แต่ก็มีข้อจำกัดบางประการอยู่เช่นกัน นั่นคือ แพทย์ที่ทำการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช จะต้องเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านผ่าตัดผ่านกล้องที่ได้รับการอบรมและฝึกฝนมาอย่างดีเท่านั้น จึงสามารถทำการผ่าตัดผ่านกล้องได้และการผ่าตัดผ่านกล้องไม่สามารถใช้ได้กับผู้ป่วยทุกราย อย่างในกรณีผู้ป่วยที่มีเนื้องอกขนาดใหญ่มากเกิน 15 เซนติเมตรขึ้นไป อาจจะไม่สามารถใช้วิธีการผ่าตัดผ่านกล้องได้ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอย่างกระบังลมรั่ว โรคปอดหรือโรคหัวใจและผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งบางชนิด คนเคยได้รับการผ่าตัด และมีพังผืดในท้อง ผู้ป่วยโรคเหล่านี้ก็ไม่สามารถใช้วิธีการผ่าตัดผ่านกล้องได้เช่นกัน

วันนี้เราได้ทำความรู้จักกับการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช ข้อดีและข้อจำกัดของวิธีการรักษานี้ไปแล้ว หวังว่าคงจะไขความกระจ่างให้กับคุณสุภาพสตรีทั้งหลายถึงเรื่องการรักษาด้วยวิธีนี้มากขึ้น เพราะวิธีนี้ไม่ได้น่ากลัวหรือน่ากังวลอย่างที่คุณผู้หญิงหลาย ๆ คนวิตก แต่ในทางกลับกันกลับเป็นวิธีที่สะดวกทั้งแพทย์และคนไข้ในการรักษาโรค เรียกว่าเป็นวิธีการผ่าตัดแบบใหม่ที่ตอบโจทย์คุณผู้หญิงจริง ๆ ดังนั้น ถ้าคุณมีโรคทางนรีเวช หากเข้าพบแพทย์รับการตรวจวินิจฉัยแล้ว แพทย์ลงความเห็นให้คุณต้องผ่าตัด คุณก็ไม่จำเป็นต้องกลัวอีกต่อไป เพราะนี่คือทางเลือกที่ดีอีกทางหนึ่งในการรักษาโรคของคุณ

โดย : นพ. มฆวัน ธนะนันท์กูล

ขอบคุณบทความจาก : https://www.samitivejhospitals.com/th/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9C%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%9C%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87/