ในยุคที่คนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างสะดวกรวดเร็ว เพียงคลิกนิ้วลงบนแป้นคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน หลากหลายข้อสงสัยและคำตอบถูกส่งต่อกันมาเป็นทอดๆ ที่ถูกก็มาก ที่คลาดเคลื่อนไปก็มีไม่น้อย เช่นเดียวกับประเด็น “ปวด” ในที่นี้ขอเน้นไปที่อาการปวดกล้ามเนื้อและข้อ ซึ่งมีคำถามเกิดขึ้นมากมาย ได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.ทวีชัย เตชะพงศ์วรชัย อาจารย์ประจำภาควิชาศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาเป็นผู้ไขข้อสงสัยที่อาจจะยังคงค้างคาใจของใครอีกหลายคน เพื่อจะได้นำไปเป็นแนวทางในยืดอายุกระดูกและข้ออย่างถูกต้อง
Q : อาการปวดข้อส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากอายุที่มากขึ้น?
A : เป็นความจริงที่ว่าเมื่ออายุมากขึ้น ความเสี่ยงในการเกิดปัญหากระดูกและข้อก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป อุบัติการณ์จะเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตามนอกจากปัจจัยเสี่ยงด้านอายุแล้ว การใช้งานข้อในอิริยาบถหรือท่าทางที่ไม่ถูกต้อง การได้รับอุบัติเหตุที่กระทบกระเทือนต่อข้ออย่างรุนแรง รวมทั้งอุบัติเหตุเล็กๆ น้อยๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก ก็สามารถส่งผลให้เกิดปัญหาข้อกระดูกได้เช่นกัน สำหรับวิธียืดอายุข้อที่เราสามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่ตอนนี้คือ
• หลีกเลี่ยงอิริยาบถที่ไม่ดีขณะทำงาน เช่น การก้มหรือเงยศีรษะมากเกินไป รวมทั้งไม่อยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานๆ หาเวลาผ่อนคลายเปลี่ยนอิริยาบถจากงานหรือกิจกรรม ที่ทำอยู่เป็นระยะเวลาสั้นๆ โดย การยืดเหยียดคลายกล้ามเนื้อประมาณ 5-10 นาที ทุกๆ 1-2 ชั่วโมง
• ไม่ใช้งานข้อเกินกำลัง เช่น การยกของหนัก หรือแม้แต่การเล่นโยคะในบางท่า โดยเฉพาะท่าที่ต้องใช้ศีรษะรองรับน้ำหนักตัว จุดนี้เป็นเรื่องที่ต้องระวังด้วยเช่นกัน เพราะอาจทำให้กระดูกคอบาดเจ็บและเสื่อมเร็วขึ้น
นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่หลายคนมองข้าม นั่นคือ การนั่งหลับในรถ โดยปกติกระดูกคอจะอาศัยกล้ามเนื้อเป็นตัวป้องกัน และเสริมความแข็งแรงให้กับข้อต่อ เนื่องจากข้อต่อคอมีขนาดเล็ก ระหว่างที่เราหลับในรถ กล้ามเนื้อจะไม่ทำงาน ทำให้คอโยกสะบัดไปมาจนเกิดการบาดเจ็บ และเสื่อมได้ง่ายขึ้น การสะบัดคอไปมาเพื่อไล่ความปวดเมื่อย ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเช่นกัน เพราะเสี่ยงต่อการทำให้ข้อบาดเจ็บได้ เหล่านี้เป็นปัจจัยเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ควรมองข้าม เพราะถ้าเราปล่อยให้เกิดขึ้นซ้ำๆ บ่อยๆ ก็จะยิ่งทำให้ข้อเสื่อมและเกิดปัญหาตามมาได้เร็วมากยิ่งขึ้น
Q : เมื่อเกิดอาการปวดให้นอนพักมากๆ อาการจะดีขึ้นได้เอง โดยไม่ต้องไปพบแพทย์?
A : อาการปวดที่เกิดขึ้นหากมีปัจจัยมาจากการอักเสบ เช่น ข้อต่ออักเสบ กล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็นฉีกขาดและเกิดการอักเสบ เป็นต้น การได้นอนพักจะช่วยให้การอักเสบต่างๆ บรรเทาลง อาการปวดก็จะดีขึ้น การนอนพักเมื่อเกิดอาการปวดนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการปวดแบบเฉียบพลัน อย่างไรก็ตามหากพักประมาณ 5-7 วันแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรมาพบแพทย์ เพราะอาการปวดที่เกิดขึ้นอาจไม่ได้มีสาเหตุมาจากกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น แต่อาจเกิดจากหมอนรองกระดูก ซึ่งมักทำให้เกิดอาการปวดเรื้อรัง หรือภาวะข้อต่อที่หลวมมากขึ้น จะทำให้ปวดเรื้อรังนานเกินกว่า 1-2 เดือนขึ้นไป ยิ่งต้องระวัง อย่าปล่อยทิ้งไว้ นอกจากนี้หากมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้ หนาวสั่น เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุโดยเร็ว
Q : อาการปวดแบบใดควรนวด แบบใดไม่ควรนวด?
A : อาการปวดที่เกิดขึ้นหากไม่มีอาการปวดร้าวไปยังบริเวณอื่น เช่น ร้าวไปที่แขนหรือขา ซึ่งเป็นอาการกดทับเส้นประสาท มีเพียงอาการปวดกล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็น การนวดจะช่วยให้กล้ามเนื้อที่เกร็งผ่อนคลายขึ้น รวมทั้งการประคบร้อนจะช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว จึงช่วยบรรเทาอาการปวดที่เกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ในกรณีที่เป็นอาการปวดจากข้อต่อที่มีการเสื่อม และอักเสบก็จะทำให้มีการเกร็งกล้ามเนื้อร่วมด้วย ซึ่งการนวดและประคบร้อนอย่างถูกวิธี สามารถช่วยได้เช่นกัน
Q : ยารักษาอาการปวดกล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ เป็นยาที่อาจจะมีผลข้างเคียงได้ ไม่ควรรับประทานต่อเนื่องนานๆ ถ้าเลี่ยงได้?
A : ยากลุ่มที่ใช้รักษาอาการปวดข้อปวดกล้ามเนื้อ มักเป็นยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ซึ่งบางกลุ่มจะมีผลต่อกระเพาะอาหาร ในขณะที่บางกลุ่มอาจมีผลต่อหลอดเลือด เช่น หลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง โดยทำให้เกิดการตีบตันของเส้นเลือดได้ ถ้าใช้ต่อเนื่องนานๆ อย่างไรก็ตาม หากใช้ในระยะเวลาสั้นๆ หรือเป็นช่วงๆ เมื่อมีอาการ ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่ออวัยวะดังกล่าว เพราะฉะนั้นแพทย์จะไม่สั่งยาในปริมาณมาก สำหรับการรับประทานต่อเนื่องยาวนาน แต่จะสั่งสำหรับรับประทานในระยะเวลาสั้นๆ ตามความจำเป็นเท่านั้น ผู้ป่วยจึงไม่ต้องกังวลจนเกินไป
Q : เราทุกคนควรเรียนรู้ที่จะอยู่กับอาการปวดที่เกิดขึ้น?
A : ในกรณีนี้น่าจะหมายถึง “อาการปวดเรื้อรัง” แต่อย่างไรก็ตามหากปวดนานกว่า 1 สัปดาห์แล้ว อาการยังไม่ดีขึ้น ไม่ควรนิ่งเฉย ควรมาพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยหาสาเหตุที่แน่ชัด หากหาสาเหตุไม่พบจริงๆ ซึ่งอาจเกิดขึ้นไดในผู้ป่วยบางราย ก็คงต้องยอมรับ และพยายามใช้วิธีบรรเทาความปวดที่เหมาะสม และเข้ากันได้กับตัวผู้ป่วยมาช่วย ทั้งนี้แพทย์จะเป็นผู้ให้คำแนะนำเป็นกรณีไป
Q : เมื่อไปพบแพทย์ด้วยอาการปวดหลัง ทำไมจึงมักได้รับคำถามว่ามีอาการปัสสาวะแสบขัดด้วยหรือไม่?
A : เหตุผลที่ต้องซักประวัติในส่วนนี้ เนื่องจากอาการปวดหลังเกิดได้จากหลายสาเหตุ หากมีอาการปัสสาวะแสบขัดร่วมด้วย เป็นไปได้ว่าอาการปวดหลังที่เกิด อาจมีสาเหตุมาจากระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น มีการติดเชื้อที่ไต ปัญหาปวดหลังที่เกิดจากไตมักจะปวดบริเวณบั้นเอวด้านใดด้านหนึ่ง แตกต่างจากอาการปวดหลังจากกระดูกสันหลัง ซึ่งมักจะปวดบริเวณกลางหลัง และอาจจะมีอาการปวดร้าวลงข้างล่างบริเวณบั้นเอวหรือก้นกบได้
Q : ผู้ป่วยควรเตรียมข้อมูลอะไรบ้างก่อนมาพบแพทย์ เพื่อให้การรักษารวดเร็วขึ้น?
A : อาการเจ็บปวดเป็นอาการสำคัญที่นำผู้ป่วยมาหาแพทย์ การซักประวัติอาการเจ็บปวดมีความสำคัญมาก ถ้าซักประวัติดีแล้วบางครั้งบางคราวจะสามารถให้การวินิจฉัยได้เลย ดังนั้น เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างรวดเร็ว การเตรียมข้อมูลให้พร้อมก่อนมาพบแพทย์นับเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งข้อมูลที่ควรเตรียมมีดังนี้
• อาการปวดสัมพันธ์กับการใช้งานหรือไม่ เช่น กรณีปวดหลัง เวลาเคลื่อนไหวมีอาการปวดหรือเปล่า เมื่อไอจามปวดมากขึ้นหรือไม่ หรือมีอาการตึงหลังช่วงตื่นนอนตอนเช้าหรือเปล่า เช่นเดียวกับกรณีปวดคอ คือ ปวดมากขึ้น เมื่อมีการเคลื่อนไหวส่วนคอหรือไม่ ตื่นนอนตอนเช้ามีอาการปวดตึงคอบ้างหรือเปล่า เป็น
• มีอาการปวดร้าวไปตรงส่วนใดบ้าง เช่น ปวดร้าว หรือชาลงแขนขา เป็นต้น
• มีไข้ หนาวสั่น เบื่ออาหาร น้ำหนักลดหรือเปล่า
• มีประวัติการเกิดอุบัติเหตุหรืออาการบาดเจ็บใดๆ มาก่อนหรือไม่
• ลักษณะของงานที่ทำเป็นอย่างไร ต้องนั่ง ยืน เดิน ยกของหนัก หรือเล่นกีฬาหนักๆ อะไรบ้างหรือไม่
• หากรับประทานยาอยู่ ควรนำยาที่รับประทานมาให้แพทย์ดูด้วย เพราะยาบางอย่างก็อาจมีผลข้างเคียง หรือส่งผลให้การตรวจวินิจฉัยไม่ชัดเจนได้
รศ.นพ. ทวีชัย เตชะพงศ์วรชัย
* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://health.haijai.com/3378/