นัดพบแพทย์

การรักษาด้วยวิธีการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์เม็ดเลือด ทำในผู้ป่วยโรคอะไร ?

03 Aug 2016 เปิดอ่าน 2058

ตามมาตรฐานการแพทย์ปัจจุบัน โรคหลักๆ ที่มีข้อบ่งชี้ให้ใช้สเต็มเซลล์เม็ดเลือด ในการปลูกถ่ายเพื่อรักษา มีกลุ่มโรคหลักๆ 2 กลุ่ม ดังนี้

1. กลุ่มโรคที่ไม่ใช่มะเร็ง เช่น โรคโลหิตจางเบต้าธาลัสซีเมีย โรคไขกระดูกฝ่อชนิดรุนแรง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องแต่กำเนิด เป็นต้น

โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย เป็นโรคที่พบมากในแถบเอเชียอาคเนย์ คนไทยมากกว่า 20 ล้านคนมียีนโรคนี้แฝงอยู่ โรคนี้มีหลากหลายระดับความรุนแรง ผู้ป่วยคนไทยที่เป็นโรคซีดชนิดรุนแรงคาดว่าจะมีหลายหมื่นคน ผู้ป่วยบางคนต้องได้รับเลือดทดแทนอย่างต่อเนื่อง

 

ซึ่งเป็นความยากลำบาก เป็นภาระและทรมานใจในระยะยาว โรคโลหิตจางเบต้าธาลัสซีเมีย ไม่ได้รุนแรงเหมือนโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวก็จริง แต่ก็ต้องได้รับการรักษาเป็นประจำ มิฉะนั้นผู้ป่วยอาจมีอายุสั้น ดังนั้นการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์เพื่อการรักษาให้หายขาดจึงเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยและครอบครัวอยากให้เกิดขึ้น ซึ่งต้องเสาะแสวงหาผู้บริจาคหรือแหล่งของสเต็มเซลล์ที่เข้ากันได้กับของผู้ป่วยให้ได้เพื่อให้ผู้ป่วยมีโอกาสรักษาหายขาดจากโรค

โรคไขกระดูกฝ่อชนิดรุนแรง เป็นโรคที่ไขกระดูกไม่ทำงาน ตามปกติไขกระดูกของคนเรามีหน้าที่สร้างเม็ดเลือดตัวอ่อน แล้วแบ่งตัวเพิ่มจำนวนพัฒนามาเป็นเม็ดเลือดแดง เม็ดขาว และเกล็ดเลือด ในร่างกาย เมื่อเกิดสภาวะไขกระดูกฝ่อ ไม่ทำงาน ผู้ป่วยจะมีอาการซีด โลหิตจาง มีสภาพความอ่อนแอของภูมิคุ้มกันโรค มีจำนวนเม็ดเลือดขาวต่ำ เสี่ยงอันตรายต่อการติดเชื้อรุนแรงได้ง่าย มีภาวะเลือดออกง่าย หรือหยุดยากเกิดขึ้น ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี ผู้ป่วยมักถึงแก่ชีวิต

โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องแต่กำเนิด เป็นโรคในเด็กเล็ก พบไม่บ่อย แต่ถ้าเด็กโชคร้ายเป็นโรคนี้ เด็กจะมีภูมิคุ้มกันโรคบกพร่องและเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคซ้ำเติมจนเสียชีวิตได้ตั้งแต่อายุน้อยๆ การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์เม็ดเลือดจากผู้บริจาคที่เหมาะสม จะช่วยให้ผู้ป่วยเด็กมีเซลล์ใหม่ๆที่แข็งแรงและสร้างภูมิคุ้มกันโรคขึ้นมาทดแทนได้

2. กลุ่มโรคมะเร็ง อาทิเช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคมะเร็งไขกระดูก
เป็นโรคที่มีความรุนแรง และโอกาสที่ผู้ป่วยจะมีชีวิตยาวนานมีอยู่น้อยถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและเหมาะสม มักจะต้องรีบหาสเต็มเซลล์เพื่อการปลูกถ่ายในผู้ป่วยที่มีโรคมะเร็งเคยกำเริบ เพื่อพยายามทำการรักษาให้หาย หรือยืดอายุและคุณภาพชีวิตผู้ป่วยให้นานที่สุดเท่าที่ทำได้

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งทางโลหิตวิทยาทุกคนจำเป็นต้องได้รับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์เม็ดเลือด ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถได้ผลการรักษาที่ดีจากยาเคมีบำบัดหรือการฉายรังสีรักษาตามมาตรฐานอยู่แล้ว แต่มีผู้ป่วยโรคมะเร็งบางชนิดบางคนมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรคกำเริบสูง หรือโรคดื้อต่อการรักษามาตรฐาน หรือโรคกำเริบกลับเป็นใหม่ ผู้ป่วยผู้โชคร้ายลักษณะนี้จึงจำเป็นที่แพทย์ต้องพิจารณาให้การรักษาเพิ่มเติมด้วยวิธีการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์เม็ดเลือด จึงจะพอมีโอกาสเอาชนะโรคร้ายเหล่านี้ได้

 

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.bangkokhospital.com/cancer/?p=367