หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า “ผู้หญิงวัยทอง” หรือวัยหมดประจำเดือนกันมาบ้าง วันนี้เราจะมาพูดถึง “ชายวัยทอง” ว่ามีจริงหรือไม่และมีอาการเช่นไร...
“ชายวัยทอง” คืออะไร?...ในทางการแพทย์ อาจอธิบายได้ใกล้เคียงที่สุดว่าคือ “ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศของผู้ชาย” ผู้หญิงวัยทองหลายคนต้องทานยาฮอร์โมนเพื่อปรับสภาพการทำงานของอวัยวะและระบบต่างๆ ในร่างกาย ผู้ชายหลายรายก็ต้องทำเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะคนที่มีวัยสูงขึ้น โดยบางรายอาจมีความจำเป็นต้องได้รับฮอร์โมนทดแทนจริง แต่บางรายอาจไม่มีความจำเป็นขนาดนั้น ซึ่งการได้รับฮอร์โมนทดแทนโดยไม่ได้มีความรู้ อาจไม่ก่อให้เกิดผลดีอย่างที่หวัง แต่อาจทำให้มีอาการข้างเคียงและมีอาการไม่พึงประสงค์ติดตามมาได้
อย่างไรก็ดี ปรากฏการณ์เปลี่ยนแปลงในเพศชายมีความแตกต่างจากในเพศหญิงมาก แพทย์จำนวนไม่น้อยจึงไม่ยอมรับและเรียกผู้ชายกลุ่มนี้ว่า “ชายวัยทอง” เพราะภาวะพร่องฮอร์โมนที่เกิดขึ้นในผู้ชาย ไม่ได้เกิดกับผู้ชายทุกคน และมีอาการแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ผิดกับอาการในเพศหญิงที่การหมดประจำเดือนจะเป็นสัญญาณบอกถึงฮอร์โมนที่เปลี่ยนไป
จากการศึกษาพบว่าเมื่อผู้ชายอายุมากเกินกว่า 60 ปี ก็อาจมีกลุ่มที่ฮอร์โมนเพศชายลดต่ำลง ร้อยละ 50 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 50 ยังคงมีฮอร์โมนอยู่ในระดับปกติ อาการของผู้ชายที่มีภาวะพร่องฮอร์โมนเพศนี้มีความหลากหลาย ไม่เฉพาะเจาะจง และอาการเหล่านี้อาจเกิดจากโรคและความผิดปกติอื่นๆ ได้เช่นกัน
โดยอาการที่มักเกิดจากภาวะพร่องฮอร์โมนเพศในผู้ชาย ได้แก่ ความต้องการทางเพศลดลง สมรรถภาพทางเพศบกพร่อง อ่อนเพลีย กล้ามเนื้อไม่แข็งแรง อารมณ์แปรปรวน หลงลืมง่าย และนอนหลับไม่สนิท เป็นต้น ฮอร์โมนที่ลดลงในเพศชาย มีความแตกต่างจากการลดในเพศหญิง จึงทำให้มีอาการอย่างค่อยเป็นค่อยไป จนอาจไม่รู้สึกถึงความผิดปกติ เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงตามวัย โดยมีการคาดการณ์ว่าฮอร์โมนจะค่อยๆ ลดลงร้อยละ 1-2 ต่อปีของปริมาณที่มีอยู่เดิมหลังจากผู้ชายอายุมากกว่า 40 ปี
ฮอร์โมนเพศชายสำคัญ ได้แก่ ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ซึ่งผลิตจากลูกอัณฑะ มีบทบาทหลักในการพัฒนาการทางเพศ ทำให้เด็กผู้ชายแสดงลักษณะของเพศชายเมื่อก้าวเข้าสู่วัยรุ่น เช่น มีเสียงห้าว มีหนวด เครา และอวัยวะเพศมีพัฒนาการเติบโต โดยอาศัยอิทธิพลจากต่อมใต้สมองทำให้มีการผลิตฮอร์โมนตามปกติ นอกจากลูกอัณฑะแล้ว ต่อมหมวกไตยังผลิตฮอร์โมนเพศชายได้อีกประมาณร้อยละ 5 แต่มีฤทธิ์อ่อนกว่าที่ผลิตจากอัณฑะ จึงมีบทบาทไม่มากนัก
ฮอร์โมนเพศชายจะมีระดับสูงขึ้น 3 ช่วง โดยครั้งแรกคือช่วงที่อยู่ในครรภ์มารดา เมื่อมีการพัฒนาของตัวอ่อน ครั้งที่สองในช่วงอายุ 2-5 เดือน และครั้งที่สามเมื่อวัยรุ่น ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนประมาณร้อยละ 98 จะจับกับโปรตีนในกระแสเลือด อีกร้อยละ 2 จะล่องลอยเป็นอิสระ ทำให้เซลล์ต่างๆ สามารถดึงฮอร์โมนนี้ไปใช้ได้ แต่เมื่อมีอายุมากขึ้นปริมาณโปรตีนที่จะจับกับฮอร์โมนก็มีมากขึ้นด้วย ทำให้ฮอร์โมนที่มีความเป็นอิสระลดลง
การวินิจฉัยภาวะพร่องฮอร์โมนเพศในเพศชาย อาศัยการสังเกตอาการและการตรวจในห้องปฏิบัติการเป็นหลัก การตรวจร่างกายโดยทั่วไปมักจะปกติ แต่อาการจะมีความคล้ายคลึงกับโรคอื่นๆ ดังนั้น แพทย์จึงต้องซักประวัติอย่างละเอียดและแยกโรคอื่นๆ ออกไป อาการส่วนใหญ่มักจะมีอาการร่วมกันหลายๆ ประการ เช่น มีภาวะซึมเศร้า ความต้องการทางเพศลดลง สมรรถภาพทางเพศลดลง กล้ามเนื้อไม่แข็งแรง นอนไม่หลับ ความจำไม่ดี ขาดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ สิ่งสำคัญคืออาจมีโรคอื่นๆ ที่ทำให้มีอาการเช่นนี้ได้ เช่น ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ โรคทางจิตประสาท ที่สำคัญคือภาวะซึมเศร้า โรคทางสมอง โรคทางกล้ามเนื้อ ดังนั้น หากไม่ได้แยกโรคเหล่านี้ออกไป การรักษาอาจไม่ได้ผล หรือแก้ไขไม่ตรงจุด และกลับทำให้อาการเลวลงได้
การตรวจเลือดหาฮอร์โมนเพศชายเพียงตัวเดียวมิอาจบอกว่ามีฮอร์โมนเพียงพอหรือไม่ ฮอร์โมนที่เรามีความจำเป็นต้องทราบปริมาณคือฮอร์โมนที่เป็นอิสระไม่ได้จับกับโปรตีน การเจาะเลือดจึงต้องเจาะหาโปรตีนที่จับกับฮอร์โมนด้วย ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามวัย และปริมาณของฮอร์โมนยังมีการเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลาของวันด้วย แพทย์จึงมักแนะนำให้ตรวจหาค่าฮอร์โมนในช่วงเช้า และหากต้องการค่าที่แน่นอนว่าฮอร์โมนเพียงพอหรือไม่ ก็จะต้องเจาะเลือดพร้อมกับค่าของโปรตีนและนำไปคำนวณร่วมกับค่าอื่นๆ เช่น น้ำหนัก เป็นต้น
การรักษา หากพบว่ามีอาการผิดปกติและฮอร์โมนพร่องจริง จึงจะทำการรักษาด้วยการให้ฮอร์โมนเสริม ซึ่งสามารถให้ได้ทั้งในรูปแบบรับประทาน ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หรือปิดที่ผิวหนัง ซึ่งแต่ละวิธีจะมีความแตกต่างกัน เรื่องการดูดซึม การเผาผลาญที่ตับ และผลการรักษา ผู้ป่วยจึงควรจะได้รับฮอร์โมนเสริมภายใต้การควบคุมของแพทย์ที่มีความรู้ และต้องติดตามผลด้วย โดยมากเมื่อได้รับฮอร์โมนเสริม จะรู้สึกว่ามีคุณภาพชีวิตดีขึ้น กระปรี้กระเปร่า ความจำดี กล้ามเนื้อแข็งแรง ความต้องการและสมรรถภาพทางเพศดีขึ้น
สิ่งสำคัญที่ต้องพึงระวังได้แก่อาการข้างเคียง และความผิดปกติต่างๆ เช่น ภาวะเลือดข้นจากการผลิตเม็ดเลือดแดงที่เพิ่มขึ้น เพราะหากเลือดข้นมากอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ระดับไขมันในเลือดสูงขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งโคเลสเตอรอลก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่อันตราย นอกจากนี้ยังมีค่าเลือดของต่อมลูกหมากซึ่งต้องตรวจสอบเป็นระยะ เพราะหากมีมะเร็งต่อมลูกหมากซ่อนอยู่จะทำให้อาการรุนแรงและโตเร็วได้
จะเห็นได้ว่า “ฮอร์โมนเพศชาย” ที่ว่ามีความสำคัญต่อระบบการทำงานของร่างกายมาก แต่หากได้รับฮอร์โมนเสริมโดยขาดความรู้และไม่ได้ติดตามผลอย่างถูกต้องย่อมเป็นอันตราย ถึงแม้จะได้ประโยชน์ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตและอารมณ์ที่ดีขึ้น ทำให้ชีวิตครอบครัวสมบูรณ์ แต่ควรต้องระวังและชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ที่ได้รับกับปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะเกิด ดังนั้น จึงสมควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยที่แน่นอน เลือกวิธีการรักษาที่ถูกต้องและติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิด
โดย : ศ.นพ.วชิร คชการ
ขอบคุณบทความจาก : http://www.thaitribune.org/contents/detail/263?content_id=961&rand=1482797324