Make Appointment

การยืดกระดูกเพื่อเพิ่มความยาว

08 Sep 2016 เปิดอ่าน 1710

การยืดกระดูกเพื่อเพิ่มความยาวของกระดูกหรือความสูงของผู้ป่วยเป็นการผ่าตัดที่มีขึ้นบ่อย ใช้เพื่อแก้ไขความพิการผิดรูปของผู้ป่วย ซึ่งหากทำในรยางค์ล่างหรือขาสามารถทำให้ความสูงของผู้ป่วยเพิ่มขึ้นได้

หลักการยืดกระดูก มี 2 อย่าง คือ
1.การใช้เครื่องมือยึดและยืดกระดูกจากภายนอกหรือภายในตัดกระดูกท่อนที่ต้องการยืดที่กลางลำกระดูก แล้วใช้เครื่องมือยึดกระดูกนั้นดึงกระดูกแยกออกจากกันอย่างช้าๆ ประมาณวันละ 1 มม. ความยาวของกระดูกค่อยๆ เพิ่มขึ้น เมื่อได้ความยาวเพิ่มขึ้นเท่าที่ต้องการแล้ว ก็นำเครื่องยึดและยืดกระดูกออก ดามกระดูกด้วยโลหะและปลูกกระดูกด้วยกราฟกระดูกจากกระดูกเชิงกรานหรือกระดูกจากธนาคารกระดูก หลักการนี้นายแพทย์ Wagner แห่งประเทศเยอรมนีเป็นผู้คิดค้นและเสนอผลการรักษาเป็นคนแรก รวมทั้งประดิษฐ์เครื่องมือยืดกระดูกจากภายนอกที่ยึดกระดูกในระนาบเดียว มีส่วนไขยืดกระดูกในตัว ยึดกระดูกด้วยแท่งโลหะขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลาง 6 มม. ดูรูปที่ 1 ในประเทศไทยแพทย์ท่านแรกที่นำหลักการและวิธีการนี้มาใช้คือ รศ.นพ.เพาะพานิช วัชโรทยางกูล ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

2.การใช้เครื่องมือยึดและยืดกระดูกจากภายนอกหรือภายในแล้วตัดกระดูกท่อนที่ต้องการยืดตามขวาง โดยตัดเฉพาะเปลือกกระดูก ไม่ตัดกระดูกที่อยู่ในโพรงกระดูก มักตัดกระดูกส่วนที่อยู่ใกล้ข้อที่มีโพรงกระดูกใหญ่ แล้วรอให้เกิดการสร้างกระดูกใหม่ในบริเวณที่ตัดกระดูก ประมาณ 2-3 สัปดาห์ แล้วจึงค่อยๆ ยืดกระดูกออกวันละ 1 มม. พบว่าเกิดการสร้างกระดูกที่ปลายหน้าตัดของกระดูก กระดูกที่ร่างกายสร้างขึ้นใหม่นี้เจริญยืดยาวออกตามแรงดึง เมื่อได้ความยาวเพิ่มขึ้นตามต้องการก็หยุดยืดกระดูก ผู้ป่วยสามารถเดินลงน้ำหนักทั้งที่มีเครื่องยึดและยืดกระดูก ร่างกายจะสร้างกระดูกขึ้นใหม่ที่หน้าตัดจนเต็ม เมื่อมีกระดูกเกิดขึ้นใหม่มากและแข็งแรงพอก็ผ่าตัดนำเครื่องยึดและยืดกระดูกออก ผู้ที่เสนอหลักการผ่าตัดนึ้คือนายแพทย์ Ilizarov แห่งประเทศยูเครน ท่านได้ประดิษฐ์เครื่องมือยึดกระดูกจากภายนอกชนิดหลายระนาบ โดยมีส่วนหลักเป็นห่วงกลมล้อมรอบขาหรือแขนที่ต้องการยืดออก ใช้แท่งโลหะขนาดเล็กเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.6 มม.หลายๆ แท่ง แทงทะลุกระดูก แล้วดึงให้แท่งโลหะตึงก็สามารถยึดกระดูกได้แข็งแรง ดูรูปที่ 2 ในประเทศไทยแพทย์ท่านแรกที่นำหลักการและวิธีการนี้มาใช้คือ รศ.นพ.ธันย์ สุภัทรพันธุ์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

การผ่าตัดยืดกระดูกทั้ง 2 วิธีพัฒนาต่อมาในประเทศไทย มีศัลยแพทย์ทาง ออร์โธปิดิกส์หลายท่านพัฒนาเครื่องมือและวิธีการใหม่ๆ เพิ่มเติมและทำการผ่าตัดแก้ความพิการผิดรูปของผู้ป่วยที่มีขาแขนยาวไม่เท่ากัน รวมทั้งบริเวณกระดูกที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า ดูรูปที่ 3 ซึ่งเป็นผลจากกระดูกถูกทำลายจากโรคของกระดูก ได้แก่การติดเชื้อของกระดูก เนื้องอกของกระดูก ดูรูปที่ 4 กระดูกผิดปกติแต่กำเนิด ดูรูปที่ 5 และการบาดเจ็บของกระดูก ดูรูปที่ 6 การผ่าตัดยืดกระดูกเพื่อเพิ่มความสูงเพื่อความสวยงามไม่นิยมทำ ยกเว้นในผู้ป่วยที่ร่างกายเตี้ยผิดปกติ แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาโดยการยืดกระดูกในบางรายที่เหมาะสมเท่านั้น

การยืดกระดูกนิยมยืดไม่เกินร้อยละ 10-15 ของความยาวเดิมของกระดูกท่อนนั้นๆ และนิยมทำการผ่าตัดยืดกระดูกในผู้ป่วยที่อยู่ในวัยหนุ่มสาวที่กระดูกสามารถหายจากการบาดเจ็บและเชื่อมติดกันได้เร็ว ในผู้ป่วยเด็กเล็กผลการผ่าตัดไม่ดีด้วยการยืดกระดูกมักทำให้ศูนย์การเจริญเติบโตของกระดูกท่อนนั้น ที่อยู่บริเวณปลายกระดูกเกิดการบาดเจ็บ กระดูกนั้นอาจหยุดเจริญเติบโต และด้วยกระดูกเด็กเล็กบางอาจไม่สามารถยึดกระดูกได้แน่น ทำให้เกิดการเอียงตัวของกระดูกและกระดูกที่ถูกยืดออกติดผิดที่ ในประเทศเยอรมนีศัลยแพทย์ในเมือง มิวนิคพัฒนาเครื่องยึดกระดูกที่สอดตรึงกระดูกจากภายในโพรงกระดูกที่ต้องการยืดออก เครื่องมือนี้มีส่วนให้กำลังไฟฟ้าที่สามารถยืดกระดูกออกได้ ทำให้ผู้ป่วยมีความสะดวกขึ้น โดยไม่ต้องมีโครงโลหะยึดกระดูกอยู่ภายนอกร่างกาย ต่อมามีการพัฒนาเครื่องมือในลักษณะคล้ายกันในหลายประเทศ และนำหลักการนี้มาใช้ในผู้ป่วยอายุน้อยที่ต้องได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อ แกนของข้อเทียมสามารถยืดออกได้ ทำให้ขาแขนของผู้ป่วยมีการเจริญเติบโตได้ใกล้เคียงปกติ

การผ่าตัดยืดกระดูกนี้เป็นการผ่าตัดใหญ่ที่ต้องใช้เครื่องมือที่มีราคาแพงมาก ตั้งแต่ระดับ 200,000 บาทขึ้นไป และภาวะแทรกซ้อนมักเกิดขึ้นได้บ่อย ประมาณร้อยละ 10-15 ของผู้ป่วย ภาวะแทรกซ้อนที่มักพบได้แก่ การติดเชื้อที่บริเวณรอบแท่งโลหะยึดกระดูก การบาดเจ็บของหลอดเลือดและเส้นประสาท กระดูกที่ยืดออกติดผิดที่หรือกระดูกไม่เชื่อมติด และผู้ป่วยต้องมีบาดแผลจากการผ่าตัดที่ผิวหนังหลายแห่ง ผู้ป่วยที่สนใจแก้ไขความพิการผิดรูปด้วยการยืดกระดูก ควรปรึกษาแพทย์และทำความเข้าใจในลักษณะพื้นฐานของการผ่าตัดนี้ให้ดีก่อน รวมทั้งชั่งน้ำหนักระหว่างผลได้และผลเสียที่อาจเกิดขึ้นก่อนตัดสินใจรับการรักษาด้วยวิธีนี้

ศ.นพ.สารเนตร์ ไวคกุล

* ขอบคุณข้อมูลจาก : https://parunnews.wordpress.com/2011/12/18/distractionosteogenesis/