Make Appointment

ขาเป็นตะคริว (Muscle cramp) หรือกระสับกระส่ายที่ขา (Restless Legs) (Restless Legs Syndrome (RLS) in Pregnancy)

01 Aug 2016 เปิดอ่าน 4694

อะไรคือโรคกระสับกระส่ายที่ขา (RLS)

     RLS คือโรคทางระบบประสาทชนิดหนึ่ง ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบรับความรู้สึก และสั่งการการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ (sensory motor symptom) ที่เกี่ยวข้องกับระบบรับความรู้สึกก็คือ คนที่มีภาวะนี้จะ กระสับกระส่าย กระวนกระวาย หงุดหงิด ที่ขา หรือ เท้า อาจรู้สึกไม่สบาย (unpleasant sensation) ที่ขา หรือเท้าบางรายรุนแรงมากจนถึงระดับปวด และที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบสั่งการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ ก็คือ จำเป็นต้องลุกขึ้น เขย่าขา ขยับแข้ง ขยับขาตลอดเวลา จึงจะหายจากอาการกระสับกระส่าย  กระวนกระวาย หรือ หงุดหงิด  ถ้าอยู่นิ่ง ๆ อาการก็จะมีมาก ต้องเคลื่อนไหวจึงจะหาย   และที่สำคัญคือ มักจะมีอาการตอนเย็น ๆ พลบค่ำ หรือตอนนอน ผลที่ตามมาคือคนที่มีภาวะนี้อาจนอนหลับได้ไม่สนิท  นอกเหนือจากขาแล้ว อาการก็เกิดได้ที่แขนครับ แต่พบน้อยกว่าขามาก  
โรคนี้พบได้บ่อยมาก แต่ไม่เป็นที่รู้จักของทั้งผู้ป่วยและแพทย์  แม้แต่ในต่างประเทศ มีเพียง 1 ใน 4 ของผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัย คนที่มีโรคนี้มักได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเส้นประสาทเสื่อม หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท เป็นตะคริว และบางรายก็ได้รับการผ่าตัดมาแล้ว  โรคนี้พบในคนปกติทั่ว ๆ ไปได้  แต่จะพบมากในคนบางกลุ่มมากกว่าปกติ เช่น คนที่ขาดธาตุเหล็ก ซึ่งอาจจะมีใรคโลหิตจาง หรือไม่มีก็ได้ ผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย ในคนท้อง และนี่คือที่มาของบทความวันนี้ครับ


โรคกระสับกระส่ายที่ขากับการตั้งครรภ์ (RLS and Pregnancy)

  โรคนี้พบในคนปกติทั่ว ๆ ไปได้  ตั้งแต่อายุเข้าวัยทำงานเป็นต้นไป พบบ่อยคือตัวเลขตั้งแต่ 1 ใน 100 จนถึง 1 ใน 10 คน แต่ในคนที่ตั้งครรภ์จะพบได้สูง 1 ใน 4 หรือ 25 % ครับ อีกครั้งครับทุกๆแม่ที่ตั้งครรภ์ 4 คน 1 คนในนั้นจะต้องทนทุกทรมานกับภาวะนี้ครับ  
สาเหตุของโรคนี้เกิดจากการลดลงของระดับธาตุเหล็กในสมอง  การลดลงนี้สามารถแสดงให้เห็นได้โดยการสร้างภาพสมองจาก MRI เพื่อหาปริมาณธาตุเหล็กครับ การลดลงของระดับธาตุเหล็กในสมองมีผลทำให้สมองมีความผิดปกติในการสร้างสารเคมีโดปามีน (dopamine) การลดระดับลงของสารนี้ ทำให้ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกผิดปกติของขา จะต้องขยับตลอดเวลา เหตุผลที่ทำไมในคนท้องจึงต้องมีภาวะนี้สูงกว่าคนปกติ ข้อมูลของงานวิจัยยังให้คำตอบได้ไม่ชัดเจนครับ แต่คาดกว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้บ่อยในคนตั้งครรภ์ น่าจะเกิดจากการขาดสารเกลือแร่บางชนิด หรือวิตามินบางชนิด ที่ลดต่ำลงในขณะตั้งครรภ์  เช่น ขาดธาตุเหล็กและวิตามินไฟเลตเป็นต้น  พบว่าสตรีที่ตั้งครรภ์ที่ได้รับธาตุเหล็กและวิตามินไฟเลตเสริมเพียงพอจะพบภาวะนี้น้อยลง  นอกจากนี้การได้รับการนอนหลับไม่เพียงพอ หรืออดนอน ขณะตั้งครรภ์  การเปลี่ยนของระดับฮอร์โมนต่างก็เป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องครับ
โรคกระสับกระส่ายที่ขานี้ถ้าจะเกิด มักเกิดในระยะท้าย ๆ ของการตั้งครรภ์  (3 เดือนท้าย) และจะหายไปภายหลังคลอด นั่นคือข่าวดีครับ


ขาเป็นตะคริว (Muscle cramp) หรือกระสับกระส่ายที่ขา ((Restless Legs)

   เนื่องจากทั้งโรคกระสับกระส่ายที่ขาและตะคริว ต่างก็พบในคนตั้งครรภ์ คุณแม่ที่อ่านบทความนี้ก็อาจมีคำถามต่อมาว่า แล้วจะแยกจากกันได้อย่างไร   ภาวะตะคริว (muscle cramp) คือภาวะที่กล้ามเนื้อที่น่อง หดเกร็ง  กล้ามเนื้อจะแข็งเป็นก้อน ปวดมาก ทำให้แม่ที่นอนอยู่อาจตื่นมาด้วยความเจ็บปวด เมื่อเหยีอดกล้ามเนื้อ (stretch) กล้ามเนื้อก็จะคลาย ส่วนโรคกระสับกระส่ายที่ขา คนที่เป็นจะไม่ปวด แต่จะหงุดหงิด  กล้ามเนื้อจะอ่อนนิ่ม  อีกครั้งครับ โรคกระสับกระส่ายที่ขา (RLS) จะมีลักษณะที่สำคัญ 4 ประการคือ  
- กระสับกระส่าย กระวนกระวาย หงุดหงิด อาจรู้สึกไม่สบาย ที่ขา เท้า
- อาการดังกล่าวจะแย่ลง ถ้าอยู่นิ่ง เฉย ๆ ไม่ทำอะไร เช่น ขณะนอน หรือนั่งเฉย ๆ
- อาการดังกล่าวจะลดลง หรือดีขึ้นถ้าได้ขยับขาไปมาตลอดเวลาเช่น เดิน หรือ เยียดขา
- อาการทั้งหมดจะเกิดขึ้นเฉพาะเวลาเย็น พลบค่ำ หรือเวลานอนเท่านั้น


โรคกระสับกระส่ายที่ขา (RLS) รักษาอย่างไร

    ข้อมูลของโรคนี้เป็นที่รู้จักดีในคนปกติ  การรักษามียาที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากภาวะนี้กลไกการเกิดโรคเกิดจาก การลดลงของสารเคมีโดปามีน (dopamine) ในสมอง  ดังนั้นยาที่ใช้ก็จะอยู่ในกลุ่มเดียวกับยาที่ใช้รักษาโรคสมองเสื่อมพากินสัน  เช่น levodopa, promiplexol และยากลุ่มอื่นได้แก่ gabapentin, clonazepam, codeine, clonidine การรักษาโรคกระสับกระส่ายที่ขา  ในคนไม่ตั้งครรภ์จะใช้ยาแน่นอนครับ
การตั้งครรภ์ทำให้การใช้ยามีข้อจำกัดครับ ดังที่กล่าวข้างต้น ข้อมูลของภาวะนี้กับคนตั้งครรภ์ มีงานวิจัยน้อยมาก   ดังนี้การรักษาโรคกระสับกระส่ายที่ขา ในคนไข้ตั้งครรภ์ก็เน้นไปที่การรักษาโดยไม่ใช้ยา  และการใช้พฤติกรรมบำบัดมากกว่า  และถ้ามีความจำเป็นต้องใช้ยา ผู้ป่วยควรได้รับคำแนะนำ เรื่องความเสี่ยงและผลที่ได้รับจากยา (risk & benefit)   ยาในการรักษาโรคดังกล่าวอยู่ในกลุ่ม C หรือ กลุ่ม D ทั้งหมด (FDA classification)  กลุ่ม C คือคาดว่าปลอดภัย  แต่อันตรายต่อหญิงตั้งครรภ์หรือไม่ก็ยังไม่แน่ชัด ใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์ ถ้าประโยชน์มากกว่าโทษ กลุ่ม D คือกลุ่มที่เคยมีรายงานว่ามีอันตรายต่อหญิงตั้งครรภ์  ในทางปฎิบัติผู้ป่วยที่มีภาวะนี้อยู่ก่อนตั้งครรภ์และรักษาด้วยยาดังกล่าวข้างต้น เมื่อตั้งครรภ์แพทย์ก็จะหยุดยาทั้งหมด
    เนื่องจากการเสริมธาตุเหล็กและวิตามินไฟเลตทำให้พบโรคนี้ลดลง ดังนั้นผู้ป่วยมักได้รับคำแนะนำให้รับประทานเหล็กและไฟเลตเสริมตลอดการตั้งครรภ์ ซึ่งสูติแพทย์บ้านเราก็มักจ่ายยาดังกล่าวเป็นประจำอยู่แล้วครับ