Make Appointment

ท้องผูกในเด็ก.... ปล่อยไว้เรื้อรังอันตราย

03 Aug 2016 เปิดอ่าน 2523

 ภาวะท้องผูกในเด็กพบได้ทั่วไป ส่วนใหญ่เด็กมักเริ่มขับถ่ายได้น้อยกว่า 3 ครั้ง/สัปดาห์ เบ่งอุจจาระมากขึ้น เป็นก้อนแข็งมีเลือดปนในบางครั้ง บางรายมีแผลที่รูทวารหนัก โดยหากผู้ปกครองไม่ใส่ใจอาจเกิดปัญหาใหญ่ตามมา


          พญ.รพีพร วิศิษฐานนท์ กุมารแพทย์เฉพาะทางโรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลพญาไท 2 อินเตอร์ เนชันแนล แนะนำว่าปัญหาท้องผูกในเด็กที่ถูกปล่อยไว้นานๆ สิ่งที่ตามมาคือ ปัญหาท้องผูกเรื้อรัง เนื่องจากเจ็บรูทวารจนไม่อยากเบ่งหรือถ่ายอุจจาระ อาจมีแผลฉีกขาดที่รูทวาร มีเลือดออกและมีติ่งเนื้อได้ นานเข้าจะรับประทานอาหารได้น้อยลง เบื่ออาหาร การเจริญเติบโตช้าลง กลายเป็นเด็กหงุดหงิดง่ายหรือก้าวร้าวได้


          วิธีสังเกตพฤติกรรมที่บ่งบอกว่าเริ่มท้องผูกเรื้อรัง
          * เด็กเริ่มกลัวการขับถ่าย จนเริ่มแสดงพฤติกรรมแปลกๆ พยายามกลั้นอุจจาระ
          * ยืนเบ่งไม่กล้านั่งถ่าย ยืนเกาะโต๊ะ เก้าอี้ เขย่งเท้า ขาเกร็งหนีบก้นจนหน้าซีดเหงื่อออก
          * ถ้าผู้ปกครองจับนั่งถ่ายจะร้องไห้ต่อต้าน
          * แอบถ่ายอุจจาระตามใต้โต๊ะ มุมห้องที่ลับตาคน
          * อุจจาระเหลวจะไหลเล็ดออกมาเปื้อนกางเกงผลที่ตามมาคือเมื่อกลั้นอุจจาระนานๆ ความอยากขับถ่ายอุจจาระจะน้อยลงไปเรื่อยๆ พอนานเข้าทวารหนักและลำไส้ใหญ่ส่วนปลายจะยืดขยายมากขึ้น จนระบบประสาทเสียหน้าที่ไป ความรู้สึกปวดอุจจาระลดลง อุจจาระยิ่งค้างนานก็ยิ่งก้อนใหญ่และแข็งขึ้น ทำให้ถ่ายลำบากและเจ็บปวดยิ่งขึ้น ภาวะท้องผูกเรื้อรังจึงถือเป็นภาวะรุนแรงที่ยากแก่การรักษา ควรรีบเข้ารับคำปรึกษาจากกุมารแพทย์เฉพาะทางตั้งแต่เนิ่นๆ


          Dr.Talk
          "ปัจจุบันมีวิธีการตรวจการทำงานของลำไส้ใหญ่และหูรูดทวารหนัก (Anorectal Manometry) เพื่อวินิจฉัยภาวะลำไส้ใหญ่ส่วนปลายขาดปมประสาทหรือหาความผิดปกติของกล้ามเนื้อที่ควบคุมการขับถ่าย ทั้งยังตรวจการรับความรู้สึกของทวารหนักหรือความผิดปกติของการกลั้นหรือเบ่งอุจจาระโดยหากพบว่าเกิดจากความผิดปกติของการทำงานของกล้ามเนื้อที่ควบคุมการขับถ่าย การรักษาคือ ฝึกการทำงานของกล้ามเนื้อและปรับการรับรู้ความรู้สึกในทวารหนักให้เป็นปกติ (Biofeedback Therapy) ซึ่งจะทำให้อาการท้องผูกและการกลั้นอุจจาระไม่อยู่ดีขึ้นได้ค่ะ"

 พญ.รพีพร วิศิษฐานนท์
กุมารแพทย์เฉพาะทางโรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลพญาไท 2 อินเตอร์เนชันแนล

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.hed.go.th/news/1997