Make Appointment

'ท้องผูกในเด็ก เรื่องเล็กๆ ที่ผู้ใหญ่อาจไม่รู้'

03 Aug 2016 เปิดอ่าน 5859

ภาวะท้องผูกในเด็กพบได้ตั้งแต่ช่วงแรกเกิดจนถึงเด็กโต เป็นปัญหาหนึ่งที่พบได้บ่อยเนื่องจากเด็กอาจไม่สามารถบอกได้ว่าเกิดความผิดปกติขึ้นกับระบบขับถ่าย แนะนำถึงวิธีที่คุณพ่อคุณแม่จะสังเกตความผิดปกติได้จากการถ่ายอุจจาระที่น้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือก้อนอุจจาระแข็งมีเลือดปน ทำให้ต้องออกแรงเบ่งอุจจาระมากขึ้น ซึ่งหากปล่อยไว้รุนแรงอาจเกิดบาดแผลบริเวณรูทวารหนักได้
 
๐ ท้องผูกในเด็กพบได้มากกว่าที่รู้
          ท้องผูกในเด็กอาจเป็นภาวะที่คุณพ่อคุณแม่พบได้ทั่วไป แต่หากปล่อยไว้อาจกลายเป็นท้องผูกเรื้อรังที่ส่งผลกระทบทั้งสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตของลูกน้อย ซึ่งนอกจากปัญหาระบบขับถ่ายเด็กอาจมีภาวะท้องอืด เติบโตช้า และมีปัญหาสมาธิสั้น
 
          บางครั้งอาจมีอาการปวดท้องเรื้อรัง เจ็บที่รูทวาร ทวารปริแตกเป็นแผล มีเลือดออก บางรายเป็นฝีที่รูทวาร ลำไส้ใหญ่อักเสบ บางรายมีปัญหาระบบปัสสาวะร่วมด้วยทำให้ปัสสาวะรดที่นอน กระเพาะปัสสาวะอักเสบ เมื่อเด็กท้องผูกมากจะรับประทานอาหารไม่ค่อยได้ อาจส่งผลให้เด็กมีน้ำหนักตัวน้อย ตัวเล็ก และขาดสารอาหาร
 
๐ ทำไมลูกน้อยถึงท้องผูก
          สาเหตุสำคัญ ที่ทำให้เด็กมีภาวะท้องผูกมาจากความผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งอาจเกิดขึ้นแต่กำเนิด เด็กอาจมีความผิดปกติของลำไส้ เป็นไปได้ว่า ทวารหนักเล็กตีบแคบไป ภาวะที่ลำไส้ใหญ่ส่วนปลายไม่มีปมประสาท ส่งผลให้การบีบตัวของลำไส้ใหญ่ไม่สามารถส่งไปถึงทวารหนัก ส่วนใหญ่มักแสดงอาการตั้งแต่แรกเกิด นอกจากนี้ยังพบปัจจัยได้จากภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติหรือจากการใช้ยาบางอย่างก็มีผลให้เด็กท้องผูกได้
 
          ในเด็กที่เริ่มโต ภาวะท้องผูกที่เกิดขึ้นกว่าร้อยละ 90 เกิดจากพฤติกรรมด้านการขับถ่าย เด็กอาจกลั้นอุจจาระเพราะกลัวเจ็บขณะเบ่งถ่าย ไม่มีวินัยในการเข้าห้องน้ำเนื่องจากเด็กอาจรีบไปโรงเรียนหรือห่วงเล่น ไม่อยากเข้าห้องน้ำที่โรงเรียน และรวมถึงการได้รับสารอาหารที่มีกากใยสูงหรือดื่มน้ำน้อยด้วย
 
๐ สังเกตอาการท้องผูกของลูกได้อย่างไร
          ท้องผูกในระยะเริ่มแรก สังเกตได้จากอุจจาระที่มีลักษณะแห้ง ถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นเวลามากกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป ปวดเวลาถ่ายอุจจาระต้องเบ่งนาน บางครั้งมีท้องอืด แน่นท้อง จนเด็กเริ่มมีอาการปวดบริเวณรูทวารหนัก อาจมีแผลปริแตกหรือบวม อุจจาระมีเลือดออกเป็นเส้นๆ หรือเคลือบปนอุจจาระ บางครั้งการที่เด็กต้องเบ่งอุจจาระที่มีลักษณะแข็งและขนาดใหญ่เป็นเวลานานก็อาจทำให้ติ่งเนื้อที่ก้นฉีกขาด
 
          ท้องผูกเรื้อรัง เกิดจากการที่เด็กเริ่มกลัวการขับถ่าย จนเริ่มแสดงพฤติกรรมแปลกๆ พยายามกลั้นอุจจาระอาจยืนเบ่งไม่กล้านั่งถ่าย ยืนเกาะโต๊ะ เก้าอี้ เขย่งเท้า ขาเกร็ง หนีบก้นจนหน้าซีดเหงื่อออก ถ้าจับนั่งถ่ายจะร้องไห้ต่อต้าน บางรายแอบถ่ายอุจจาระตามใต้โต๊ะ มุมห้องที่ลับตาคน เมื่อกลั้นอุจจาระนานๆ ความอยากขับถ่ายอุจจาระจะน้อยลงไปเรื่อยๆ พอนานเข้าทวารหนักและลำไส้ใหญ่ส่วนปลายจะยืดขยายมากขึ้น
 
๐ พิจารณาอย่างไรว่าควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยที่โรงพยาบาล
          หากการดูแลภายในบ้านไม่สามารถป้องกันโรคท้องผูกให้ลูกน้อยได้แล้ว อาจต้องพิจารณาถึงการเข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาล โดยพิจารณาจาก “ภาวะท้องผูกเรื้อรัง” โดยจะได้รับการตรวจวัดการทำงานของลำไส้ใหญ่และหูรูดทวารหนัก (anorectal manometry) เพื่อวินิจฉัยภาวะที่ลำไส้ใหญ่ส่วนปลายขาดปมประสาทไปเป็นช่วง หรือภาวะลำไส้ส่วนปลายไม่มีปมประสาทแต่กำเนิดซึ่งการรักษาต้องผ่าตัดถึงจะหายขาด
 
๐ ขั้นตอนการตรวจ Procedure
          1.ใช้เวลาประมาณ 30 นาที ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดและไม่ต้องค้างที่โรงพยาบาล
          2.ขณะตรวจผู้ป่วยจะอยู่ในท่านอนตะแคง
          3.สายตรวจขนาดประมาณหลอดนมกล่องซึ่งมีลูกโป่งขนาดเล็กอยู่ที่ส่วนปลายจะถูกสอดเข้าไปในทวารหนักลึกประมาณ 5 เซนติเมตร
          4.จะมีการใส่น้ำเข้าไปในลูกโป่งดังกล่าวเพื่อดูการตอบสนองของทวารหนักและตรวจวัดความรู้สึกของลำไส้ส่วนปลาย สายอีกด้านจะต่อเข้ากับเครื่องวัดแรงดัน
          5.ระหว่างตรวจผู้ป่วยควรให้ความร่วมมือ ทำการขมิบ คลาย และเบ่งเป็นระยะๆ เพื่อดูการทำงานของกล้ามเนื้อหูรูด หลังการตรวจผู้ป่วยสามารถกลับบ้านและทำกิจกรรมได้ตามปกติ
นอกจา
          นอกกนี้อาจมีการตรวจเพิ่มเติมอีกสองชนิด ประกอบด้วยการตรวจเคลื่อนไหวของลำไส้ใหญ่ (colonic transit study) และการจับเวลาเบ่งลูกโป่งออกจากทวารหนัก
 
๐ ป้องกันท้องผูกในเด็กเริ่มตั้งแต่ที่บ้าน
          นมแม่เป็นสารอาหารที่ดีที่สุดที่จะช่วยป้องกันลูกน้อยจากภาวะท้องผูกได้ ในเด็กเล็กให้ดื่มนมแม่ และเมื่อถึงวัยได้รับอาหารเสริม (อายุ 6 เดือนขึ้นไป) ให้เสริมน้ำผลไม้ อาหารเสริมก็เน้นเพิ่มผักใบ น้ำซุปผัก เด็กที่โตขึ้นวัย 2-3 ขวบ เพิ่มฝึกการขับถ่ายโดยฝึกนั่งถ่ายอุจจาระหลังอาหารเช้าทุกมื้อ ครั้งละ 10-15 นาที และดื่มน้ำมากๆ
 
พญ.รพีพร วิศิษฐานนท์ 
กุมารเวชศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหารและโรคตับ
รพ.พญาไท 2 อินเตอร์เนชันแนล
 
* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.komchadluek.net/news/unclecham/211717