Make Appointment

ปวดหลัง

04 Sep 2016 เปิดอ่าน 9074

ปวดหลัง หลายๆ คนคงจะมีประสบการณ์เกี่ยวกับอาการปวดหลังนี้มาบ้าง ในความเป็นจริง อาการปวดหลังพบได้เป็นอันดับสองของอาการปวดในร่างกาย รองมาจากอาการปวดหัว และเป็นอาการที่พบบ่อยที่สุดของผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ทางศัลยกรรมกระดูก

อาการปวดหลังโดยทั่วไปไม่มีอันตรายร้ายแรง แต่เป็นปัญหากับผู้คนในวัยทำงาน และการดำรงชีวิต ประจำวัน ในต่างประเทศเคยมีการวิจัยถึงค่าใช้จ่ายที่ต้องสูญเสียไปเนื่องจากอาการปวดหลัง การเข้ารับการตรวจรักษา รวมถึงการหยุดงานเพื่อพักฟื้น พบว่าต้องสูญเสียเงินและเวลาเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการตรวจรักษาที่ถูกต้อง รวมไปถึงการป้องกัน และ ปฏิบัติตัวที่ถูกวิธี จะเป็นวิธีจัดการ กับอาการนี้ได้ถูกต้อง

กระดูกสันหลังเป็นกระดูกแกนกลางของร่างกาย เป็นส่วนที่ต่อเนื่องมาจากศรีษะ เป็นส่วนเชื่อมกับกระดูกไหปลาร้าและสะบัก เพื่อต่อเนื่องไปยังกระดูกแขนทั้งสองข้าง ส่วนล่างของกระดูกสันหลังเชื่อมกับกระดูกเชิงกราน เป็นข้องต่อให้กับสะโพก และกระดูกขาทั้งสองข้าง

เนื่องจากมนุษย์วิวัฒนาการตัวเองจนกลาย เป็นสัตว์ที่ยืนด้วยสองเท้า ดังนั้น กระดูกสันหลังย่อมจะเป็นแกนหลักในการรับน้ำหนัก ตัวส่วนบนของร่างกายผ่านมาสู่ขาทั้งสองข้าง

กายวิภาคของหลัง

แกนกลางประกอบด้วยกระดูกสันหลัง 33 ชิ้น ส่วนคอ 7 ส่วนอก 12 ซึ่งจะเป็นที่ยึดเกาะของกระดูกซี่โครง กระดูกสันหลังส่วนเอว 5 กระดูกกระเบนเหน็บ 5 ชิ้น เชื่อมรวมเป็นชิ้นเดียว กระดูกส่วนก้นกบ 4 ชิ้น มักจะเชื่อมรวมเป็นชิ้นเดียว รูปที่ ๑


รูปที่1

 

รูปที่2

กระดูกสันหลังแต่ละปล้อง เชื่อมต่อกันด้วย หมอนรองกระดูก และข้อต่อของตัวกระดูกสันหลัง ทำให้สามารถขยับเคลื่อนไหวได้ ในแกนกลางของโพรงกระดูกสันหลัง เป็นที่อยู่ของ ไขประสาท สันหลัง ที่ต่อเนื่องมากจากสมองและมีแขนงเป็นรากประสาทสันหลังส่งไปเลี้ยง แขน ลำตัวและขา รูปที่ ๒
นอกจากนี้ยังมีเส้นเอ็น และกล้ามเนื้อ หลายๆมัด และเนื้อเยื่ออ่อนยึดต่อเนื่องเป็นแผ่นหลัง รูปที่ ๓

รูปที่3

สาเหตุของการปวดหลัง

  • จากความผิดปกติของส่วนประกอบของหลังเอง
    จากความผิดปกติของอวัยวะภายใน แล้วมีอาการปวดร้าวไปที่หลังจากอาการทางระบบประสาท แล้ว ทำให้มีอาการปวดที่หลัง
  • จากความผิดปกติของส่วนประกอบของหลังเอง เช่นการได้รับอุบัติเหตุ แล้ว มีการบาดเจ็บ ต่อโครงสร้าง เช่น อุบัติเหตุกระดูกสันหลังหัก และ หรือ ร่วมกับมีการกดทับไขสันหลัง ซึ่งถ้ารักษาไม่ทันท่วงที อาจจะทำให้เกิดอัมพาตได้
  • จากการทำงาน หรือ ใช้งานหลังไม่ถูกวิธี จะทำให้เกิดการล้า หรือ อักเสบต่อเนื้อเยื่ออ่อน เช่น กล้ามเนื้อ และ เส้นเอ็นที่หลัง หรือ ข้อต่อของกระดูกสันหลัง พบได้บ่อยในคนวัยทำงาน
  • จากความผิดปกติของโครงสร้างกระดูก ตั้งแต่ กำเนิด เช่นกระดูกสันหลัง ไม่เชื่อม กระดูกสันหลังคด
  • จากหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับรากประสาท เนื่องจากเป็นโครงสร้างที่อยู่ใกล้กัน เมื่อมีการเคลื่อนตัวของหมอนรองกระดูกมักจะมีการกดทับรากประสาท ทำให้มีอาการปวดหลัง และ ปวดร้าวลงไปที่ขาตามแนวรากประสาทนั้นๆ
  • จากความเสื่อมของข้อกระดูกสันหลัง ทำให้มีการหนาตัวของกระดูกหลัง และเส้นเอ็น ทำให้โพรงกระดูกสันหลังแคบ กดรัด ไขสันหลังมักพบในคนสูงอายุ มักจะมีอาการชาขา เวลาเดิน
  • จากความเสื่อมของข้อต่อกระดูกสันหลัง ทำให้สูญเสียความมั่นคงของข้อต่อกระดูก ทำให้มีอาการปวดหลัง เมื่อมีการเคลื่อนไหว หรืออาจจะมีการเคลื่อนตัว ระหว่างปล้องกระดูกสันหลังนั้นๆด้วย สามารถทำให้มีอาการของการกดทับรากประสาทร่วมด้วยได้
  • จากการอักเสบ เช่น ข้ออักเสบ หรือ ว่ามีการติดเชื้อ เช่น วัณโรคกระดูกสันหลัง
  • จากเนื้องอกของกระดูกสันหลัง หรือ มะเร็ง กระจายมาที่กระดูกสันหลัง รวมทั้ง มะเร็งไขกระดูก
  • จากภาวะกระดูกพรุน มักจะทำให้มีอาการปวดเมื่อยเมื่อมีการใช้งานหลัง เช่น ยืน นั่ง เดิน แต่เมื่อนอนจะไม่ค่อยมีอาการปวด และอาการจะมีการทรุดตัวของกระดูกสันหลัง ทำให้มีลักษณะของหลังค่อม
  • จากความผิดปกติของอวัยวะภายใน แล้วมีอาการปวดร้าวไปที่หลัง
    เช่น อาการของนิ่วในทางเดินปัสสาวะ อาการปวดท้องจากระบบทางเดินอาหาร จะร้าวไปที่หลังได้
  • จากอาการทางระบบประสาท แล้ว ทำให้มีอาการปวดที่หลัง โดยที่ไม่ได้มีความผิดปกติร้ายแรงโดยตรงต่อโครงสร้างนั้น อาจจะเป็นจากความเครียด หรืออาการทางระบบประสาท ทำให้มีอาการปวดหลังที่ไม่มีลักษณะจำเพาะ

การให้การวินิจฉัย

  • จำเป็นจะต้องได้ประวัติอาการที่ชัดเจน และรวมไปถึงการตรวจร่างกายโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยละเอียด
  • เมื่อมีข้อบ่งชี้ที่สมควร ก็อาจจะต้องรับการตรวจพิเศษเพิ่มเติมเพื่อได้ข้อมูลช่วยในการวินิจฉัย เช่น การ Xray การXray computer การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ฯลฯ

การรักษา

รักษาตามสาเหตุ เนื่องจากบางโรคมีวิธีรักษาเฉพาะของโรคนั้นๆ เช่น มะเร็ง การติดเชื้อ หรือ นิ่วในทางเดินปัสสาวะ

แต่ในกลุ่มที่มีสาเหตุเกิดจากความผิดปกติของกระดูกสันหลังเอง การรักษา มี เป้าหมาย เพื่อ ลดอาการปวด และสามารถ ให้ผู้ป่วยกลับไปทำงาน หรือ ดำรงชีวิตได้ตามปกติได้โดยเร็ว และ สามารถจะ ป้องกัน หรือ ชะลอความเสื่อมของโครงสร้างได้ด้วย

การรักษาจะเริ่มต้นด้วย

วิธี อนุรักษ์นิยม คือ การรักษาโดยไม่ผ่าตัดก่อนเสมอ ยกเว้นมีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน เช่น กระดูกสันหลังหักกดทับไขสันหลัง จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดด่วน เพื่อ ไม่ให้เกิดภาวะอัมพาต

การรักษาแบบอนุรักษ์นิยมก็ได้แก่

การพัก เป็นการนอนพัก โดยที่สามารถลุกนั่ง ทานอาหาร และ เข้าห้องน้ำได้ ในกรณีที่ปวดหลังจากสาเหตุทั่วไป การพักจะทำให้อาการดีขึ้นได้ภายใน 1-2 วัน

การบริหารยา ในรายที่มีอาการปวดเฉียบพลัน ได้แก่ ยาแก้ปวด ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่ steroid ยาคลายกล้ามเนื้อ และยากล่อมประสาท ซึ่งจำเป็นจะต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์โดยใกล้ชิด เนื่องจากอาจจะมีภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยาได้ เช่น อาการระคายเคืองทางเดินอาหาร หรือ แพ้ยา

การทำกายภาพบำบัด

การปฏิบัติตัวที่ถูกต้องเพื่อดูแลสุขภาพหลัง

การบริหารร่างกาย

การรักษาด้วยการผ่าตัด จะพิจารณาทำเมื่อมีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน เนื่องจากเป็นการผ่าตัดใหญ่ ผลการผ่าตัดจะต้องมีอัตราเสี่ยงให้น้อย และ ให้ผลดีจึงจะพิจารณาทำ ตัวอย่างเช่น การผ่าตัดเพื่อเอาหมอนรองกระดูกที่เคลื่อนทับรากประสาทออก การผ่าตัดเพื่อแก้ไขโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ การผ่าตัดใส่เหล็กดามกระดูกสันหลัง การเชื่อมข้อกระดูกสันหลัง เป็นต้น

กล่าวโดยสรุปว่า สาเหตุของอาการปวดหลังมีได้มากมาย แต่สาเหตุส่วนใหญ่ไม่ได้มีอันตรายร้ายแรง และยังสามารถป้องกันได้ การปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง และ การฟื้นฟูสมรรถภาพหลัง ย่อมจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด

โดย นพ.มนตรี สิริไพบูลย์กิจ 

* ขอบคุณข้อมูลจาก : https://ascannotdo.wordpress.com