Make Appointment

ฟิตเนสแต่พอตัว

14 Apr 2017 เปิดอ่าน 1646

ปัจจุบันคนไทยส่วนมากหันมาห่วงใยและใส่ใจกับสุขภาพของตัวเองมากขึ้น สังเกตได้จากการเห็นคนออกกำลังกายตามสวนสาธารณะที่มากขึ้น หรือแม้แต่สถานที่ออกกำลังกายต่างๆ ที่เรียกกันติดปากว่า “ฟิตเนส” ทั้งของสาธารณะและเอกชน ที่มีผู้นิยมใช้บริการกันมากขึ้น หลายคนมักมองว่าการออกกำลังกายมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ทำให้ร่างกายแข็งแรง รวมถึงจิตใจแจ่มใส ซึ่งส่วนใหญ่แล้วการออกกำลังกายมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากก็จริง แต่เป็นในกรณีที่เราเลือกการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับสุขภาพของตัวเราเองด้วย

ไอเกิล มีความรู้จากประสบการณ์ตรงของ นพ.นิติ ประสาทอาภรณ์ แพทย์เฉพาะทางด้านการผ่าตัดส่องกล้องภายในข้อ ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและเวชศาสตร์การกีฬา โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีราชา เพื่อการออกกำลังกายที่ถูกต้องและเหมาะสมกับสุขภาพของตัวคุณเองมาฝากคุณผู้อ่านที่รักค่ะ

ไม่ใช่ว่าคนหนึ่งจะสามารถออกกำลังกายได้ทุกประเภท เพราะร่างกายของแต่ละคนมีความพร้อมหรือฟิตแตกต่างกันไป อายุก็มีส่วนสำคัญในการเลือกออกกำลังกาย แต่คนส่วนใหญ่อาจมองข้ามหรือไม่ได้ใส่ใจในความพร้อมของร่างกาย เพียงแต่ชอบแบบไหนก็เล่นกันไปแบบนั้น ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อร่างกาย

อาจารย์เล่าว่า “ผมมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่ได้รับการบาดเจ็บจากการออกกำลังกาย ในจำนวนนั้นมีผู้ป่วยหญิง อายุประมาณ 50 ปี เธอเล่าว่า เธอกำลังเล่นโยคะที่ฟิตเนสแห่งหนึ่งโดยมีครูผู้สอนกำกับ ขณะที่ผู้ฝึกสอน สอนท่าดัดและยืดกล้ามเนื้ออยู่นั้น เธอได้ยินเสียงลั่นที่กระดูกต้นขา และมีอาการปวดทันที ไม่สามารถลุกขึ้นได้ จากผลเอ็กซเรย์ พบว่ากระดูกต้นขาหัก จากโรคกระดูกพรุน ซึ่งยืนยันจากผลการตรวจมวลกระดูกภายหลังอีกรายหนึ่งเป็นผู้ป่วยชายอายุ 52 ปี รักและชื่นชอบการออกกำลังกายที่เน้นการเสริมสร้างกล้ามเนื้ออย่างมาก เขามีอาการปวดหัวไหล่มาได้สักระยะหนึ่ง จากการตรวจร่างกายและยืนยันจากการตรวจเอ็กซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าพบว่า มีปัญหาเส้นเอ็นหัวไหล่ฉีกขาด จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดส่องกล้องเพื่อเย็บซ่อมเอ็นหัวไหล่ (Arthroscopic rotator cuff repair)”

จากตัวอย่างดังกล่าว สังเกตได้ว่า การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นต่างเกิดจากการออกกำลังกายที่ไม่เหมาะสม ในคนอายุประมาณ 40-50 ปี มักจะมีปัญหาเส้นเอ็นหัวไหล่ (Rotator cuff tendon) เสื่อม เกิดจากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงในตำแหน่งดังกล่าวลดลง ทำให้ร่างกายไม่สามารถซ่อมแซมเส้นเอ็นที่สึกหรอได้ดีเท่าที่ควร ร่วมกับการออกกำลังกายหัวไหล่อย่างหนัก อาจจะทำให้เกิดปัญหาเส้นเอ็นหัวไหล่ฉีกขาด หรือในกรณีผู้ป่วยรายแรกซึ่งเป็นหญิงวัยหมดประจำเดือน มักจะมีปัญหาเรื่องของมวลกระดูกที่ลดลง หรือที่เรียกว่า โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) มีความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักได้สูง

การเลือกออกกำลังกาย ควรจะออกแบบให้เหมาะสมในแต่ละบุคคล โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่มักจะมีความเสื่อมของร่างกายตามธรรมชาติ ซึ่งร่ายกายไม่สามารถทนต่อการออกกำลังกายที่หนักได้เหมือนคนอายุน้อย ดังนั้น การออกกำลังกายของผู้สุงอายุไม่ควรเน้นในเรื่องความแข็งแรงของกล้างเนื้อ แต่ควรเน้นเรื่องสมรรถภาพการทำงานของหัวใจ และความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อมากกว่า

ยังมีการบาดเจ็บจากการออกกำลังกายอีกหลายชนิด ที่เกิดจากการออกกำลังกายที่ไม่เหมาะสม เช่น เอ็นข้อศอกอักเสบ หรือที่เรียกว่า Tennis elbow, เอ็นข้อเท้าอักเสบ, เอ็นฝ่าเท้าอักเสบ เป็นต้น

ปัจจุบัน มีวิวัฒนาการการรักษาการบาดเจ็บดังกล่าวที่มีสาเหตุมาจากความเสื่อมของร่างกาย คือ การฉีดซีรั่ม (Platelet-Rich plasma) โดยในซีรั่มจะมีสารที่ทำหน้าที่กระตุ้นให้บริเวณที่ฉีดนั้น เกิดการสมนาของเส้นเอ็นและสามารถทำให้เส้นเอ็นบริเวณนั้นกลับมาใช้งานได้ตามปกติ

ควรเลือกกีฬาที่ชอบ แต่ต้องเป็นแบบที่ใช่ และเหมาะกับร่างกายของเราด้วยนะคะ จึงจะเรียกว่าเป็นการออกกำลังกายที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ หากใครไม่แน่ใจว่าแบบไหนเหมาะกับเรา ก็เข้าไปปรึกษากับคุณหมอกันได้นะคะ

ขอบคุณบทความจาก : http://www.aiglemag.com/home/%E0%B8%9F%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B9%81%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%9E%E0%B8%AD%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7