Make Appointment

ภาวะเส้นเอ็นกล้ามเนื้อหัวไหล่ฉีกขาด

14 Apr 2017 เปิดอ่าน 1580

 เส้นเอ็นกล้ามเนื้อหัวไหล่ คือเส้นเอ็นที่มาจากกล้ามเนื้อที่เกาะจากกระดูกสะบักวิ่งมาเกาะที่กระดูกต้นแขนส่วนหัว ทำหน้าที่ในการสร้างความมั่นคงให้กับหัวไหล่ ช่วยให้การเคลื่อนไหวของกระดูกหัวไหล่มีความสมดุล โดยปกติแล้วเส้นเอ็นกล้ามเนื้อหัวไหล่มีทั้งหมด 4 เส้น ซึ่งจะอยู่รอบกระดูกหัวไหล่ 

             ภาวะเส้นเอ็นกล้ามเนื้อหัวไหล่ฉีกขาดเกิดจากสาเหตุหลักคือความเสื่อมสภาพตามอายุ เนื่องจากความสามารถการสร้างหลอดเลือดใหม่มาตำแหน่งนี้ลดลง ทำให้การซ่อมแซมการสึกหรอจากการใช้งานของเส้นเอ็นกล้ามเนื้อหัวไหล่ลดลงด้วยเช่นกัน เปรียบเสมือนกับของที่ใช้งานแล้วเกิดการสึกหรอ และถ้าหากไม่มีการซ่อมแซมก็จะทำให้มีการฉีกขาดมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังอาจจะเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น หินปูนที่งอกในกระดูกหัวไหล่ซึ่งเกิดขึ้นเองได้จากการใช้งาน ซึ่งหินปูนนี้จะทำตัวคล้ายเป็นใบมีดคอยเสียดสีเส้นเอ็นกล้ามเนื้อหัวไหล่ ทำให้เกิดเส้นเอ็นกล้ามเนื้อหัวไหล่ฉีกขาดได้ หรือเกิดอุบัติเหตุ เช่น การหกล้มก็เป็นสาเหตุได้เช่นเดียวกัน แต่มักจะเจอในผู้ป่วยที่มีอาการปวดหัวไหล่ที่เส้นเอ็นกล้ามเนื้อหัวไหล่มีโอกาสที่จะฉีกขาดอยู่แต่เดิมแล้ว 

            อาการของผู้ป่วยจะมาค่อนข้างหลากหลายขึ้นกับระยะของโรค ในระยะแรกผู้ป่วยมักจะมาหาแพทย์ด้วยอาการปวดหัวไหล่โดยเฉพาะการปวดหัวไหล่เวลาขยับบางที่ หรือบางองศาของการขยับ หากอาการเป็นมากขึ้นจะมีอาการปวดที่รุนแรงขึ้น มักจะปวดเวลากลางคืน โดยเฉพาะเวลานอนทับแขนข้างที่มีอาการจะปวดมาก ผู้ป่วยบางรายอาจจะมีภาวะไหล่ติด ร่วมด้วยนะครับ ในระยะต่อมาผู้ป่วยจะมีอาการแขนอ่อนแรง ยกแขนไม่ขึ้น เนื่องจาก  การฉีกขาดเส้นเอ็นกล้ามเนื้อหัวไหล่เป็นมากขึ้น โดยเฉพาะการฉีกขาดที่มากกว่าเส้นเอ็น 2 เส้นขึ้นไป ในระยะสุดท้ายจะมีปัญหาข้อหัวไหล่เสื่อม ผิวกระดูกอ่อนของข้อหัวไหล่เสียหาย   ตามมาได้

การวินิจฉัย

            ในเบื้องต้นแพทย์ก็จะซักประวัติ และตรวจร่างกายของผู้ป่วยโดยละเอียด เพื่อประเมินจำนวนเส้นเอ็นที่ฉีกขาด ระยะของโรค และสาเหตุของการฉีกขาด แต่จะยืนยันการวินิจฉัยจริงๆ ก็จะต้องตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ MRI (Magnetic resonance imaging) ซึ่งเป็นการตรวจที่ค่อนข้างแม่นยำ และมีประโยชน์ในการวางแผนการรักษาต่อไป

การรักษา

            ในระยะแรกที่ผู้ป่วยมีเพียงอาการปวดหัวไหล่ การรักษาก็จะรักษาด้วยยาลดการอักเสบ  ยาแก้ปวดร่วมกับการหลีกเลี่ยงกิจกรรมบางอย่าง เช่น การยกของหนัก สำหรับการเล่นกีฬา  บางชนิดนั้นก็สามารถจะทำให้อาการปวดทุเลาลงได้ โดยเฉพาะว่ายน้ำ กอล์ฟ แบดมินตัน เทนนิส แต่โดยลักษณะทั่วไปผู้ป่วยมักจะมีอาการเป็นๆ หายๆ หากมีการใช้งานหัวไหล่ที่มากขึ้นก็จะมีอาการปวดขึ้นมาอีกได้ครับ หากการรักษาด้วยยาและการหลีกเลี่ยงกิจกรรมเต็มที่แล้ว ยังคงมีอาการปวดหัวไหล่อีก ก็ควรจะทำกายภาพบำบัดร่วมด้วย เช่น การประคบอุ่น การทำอัลตราซาวด์ หรือการทำช้อกเวฟ ก็จะสามารถช่วยทำให้ลดอาการปวดหัวไหล่ได้  หากการรักษาทั้งหมดไม่ช่วยทำให้อาการปวดดีขึ้น แพทย์จะส่งตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อประเมินว่าคุณภาพของเส้นเอ็นดีหรือไม่ มีการฉีกขาดที่มากแล้วหรือยัง  หากพบว่ามีการฉีกขาดมากขึ้นแล้ว แพทย์จะแนะนำให้ทำการผ่าตัดส่องกล้องเย็บซ่อมเส้นเอ็นกล้ามเนื้อหัวไหล่

ทำอย่างไรดีกับการรักษาด้วยการส่องกล้องเย็บซ่อมเส้นเอ็นกล้ามเนื้อหัวไหล่  ก่อนอื่นแพทย์จะทำการส่องกล้องตรวจดูว่ามีพยาธิสภาพ หรือรอยโรคอื่นๆ ร่วมด้วยหรือไม่   เช่น มีพังผืดของเยื่อหุ้มข้อหัวไหล่หรือไม่  มีหินปูนงอกที่หัวไหล่หรือไม่  หมอนรองกระดูกหัวไหล่และผิวข้อกระดูกหัวไหล่มีการบาดเจ็บร่วมด้วยหรือไม่  เส้นเอ็นที่ฉีกขาดมีกี่เส้น หลังจากแพทย์ตรวจดูเรียบร้อยแล้วก็จะทำการรักษารอยโรคทุกตำแหน่งที่ผิดปกติ เช่น การเลาะพังผืดที่เยื่อหุ้มข้อหัวไหล่  กรอกระดูกหรือหินปูนที่งอกออก  ซ่อมแซมหมอนรองหัวไหล่ที่  ฉีกขาด  หลังจากนั้นค่อยซ่อมแซมเส้นเอ็นกล้ามเนื้อหัวไหล่ที่ฉีกขาดเข้ากับจุดเกาะของเส้นเอ็นที่เป็นกระดูกซึ่งจำเป็นจะต้องใช้อุปกรณ์พิเศษในการผ่าตัด  หลังจากผ่าตัดแล้วผู้ป่วยจะต้องใช้ผ้าคล้องแขนเป็นเวลา 4 – 6 สัปดาห์ โดยแพทย์จะกำหนดการฝึกขยับหัวไหล่ในแต่ละระยะ ซึ่งภาวะหัวไหล่ติดหลังผ่าตัดสามารถพบได้บ่อยโดยเฉพาะผู้ป่วยที่ขาดการฝึกกายภาพบำบัดหัวไหล่ หรือฝึกกายภาพบำบัดน้อยเกินไป

            ในปัจจุบันการผ่าตัดหัวไหล่เป็นการผ่าตัดส่องกล้องทั้งหมดแล้วหรือไม่นั้น  เป็นคำถามที่ผมได้รับฟังมามาก  ซึ่งผมขออธิบายว่าการผ่าตัดส่องกล้องนั้นมีข้อดีคือ บาดแผลผ่าตัดเล็กประมาณ 1 เซนติเมตร  บาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อ เช่น กล้ามเนื้อค่อนข้างน้อย  สามารถทำกายภาพบำบัดได้รวดเร็ว  ทำให้เป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน บทบาทของการผ่าตัดส่องกล้องจึงสามารถใช้ได้ในหลายๆ โรคในข้อหัวไหล่  แต่ก็จะมีบางภาวะที่ไม่เหมาะในการผ่าตัดส่องกล้อง เช่น ภาวะเส้นเอ็นกล้ามเนื้อหัวไหล่ฉีกขาดหลายเส้น หรือมีภาวะข้อหัวไหล่เสื่อมแล้ว ซึ่งการรักษาจะต้องทำการผ่าตัดเปลี่ยนข้อหัวไหล่ หรือการผ่าตัดในผู้ป่วยกระดูกหัวไหล่หัก เป็นต้น

วิธีป้องกันภาวะเส้นเอ็นกล้ามเนื้อหัวไหล่ฉีกขาด

            ในความคิดเห็นของผมคิดว่าทำได้ยากมากครับ เพราะสาเหตุหลักคือความเสื่อมสภาพตามอายุ แต่เราสามารถป้องกันปัจจัยบางอย่างได้ เช่น ไม่ควรออกกำลังกายที่รุนแรงและหักโหมมากเกินไป  การแกว่งแขนเร็วๆ ไวๆ ที่พบได้บ่อยคือการยกของหนัก  ซึ่งจะทำให้เส้นเอ็นกล้ามเนื้อหัวไหล่ฉีกขาดได้ทันที  หากผู้ป่วยมีอาการปวดหัวไหล่ควรจะมาพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียด เพราะการรักษาในระยะแรกๆ ที่เริ่มเป็นน้อยๆ จะทำได้ง่ายกว่า และผลการรักษาค่อนข้างจะดีกว่าผู้ป่วยในระยะท้ายๆ ครับ

โดยนายแพทย์นิติ  ประสาทอาภรณ์ 

ขอบคุณบทความจาก :http://www.somdej.or.th/index.php/2015-11-12-02-25-23/9-2015-10-07-04-23-59/33-2015-11-12-02-16-47