Make Appointment

เด็กนอนกรน เพราะต่อมอะดีนอยด์โต

03 Jun 2020 เปิดอ่าน 1219

   

        โดยทั่วไปผู้ใหญ่หลายๆ คนอาจจะรู้สึกว่า “อาการนอนกรน” นั้น เป็นเรื่องธรรมดาที่อาจเกิดขึ้นได้เมื่อร่างกายรู้สึกเหนื่อยหรืออ่อนล้ามากๆ แต่ทั้งนี้ สำหรับอาการนอนกรนในเด็กแล้ว อาจไม่ได้ธรรมดาอย่างที่คุณพ่อคุณแม่คิด เพราะอาจมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของ “ต่อมอะดีนอยด์” ซึ่งหากชะล่าใจปล่อยไว้ คิดว่าเกิดจากการที่เด็กเล่นซนจนเหนื่อยล่ะก็ อาจส่งผลทำให้ลูกมีพัฒนาการที่ช้ากว่าปกติ และกลายเป็นปัญหาได้ในภายหลัง ดังนั้น การทำความเข้าใจกับเรื่องโรคต่อมอะดีนอยด์โตในเด็ก จึงเป็นสิ่งที่คุณแม่คุณแม่ไม่ควรมองข้าม

ต่อมอะดีนอยด์คืออะไร สำคัญแค่ไหนกับเด็กๆ

“อะดีนอยด์” คือ ต่อมน้ำเหลืองประเภทเดียวกันกับต่อมทอลซิล อยู่บริเวณเยื่อบุหลังโพรงจมูก ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในช่วงวัยเด็กตั้งแต่อายุ 2-12 ปี โดยทำหน้าที่คล้ายกับเป็น “สัญญาณเตือนภัย” ที่บ่งบอกว่าร่างกายของเราเกิดการติดเชื้อขึ้นแล้ว เนื่องจากเป็นจุดเก็บเม็ดเลือดขาว กล่าวคือเมื่อมีการติดเชื้อเกิดขึ้นในร่างกาย ต่อมอะดีนอยด์จะโตและอักเสบขึ้น ทำให้มีอาการผิดปกติเป็นสัญญาณให้เราทราบว่ามีบางอย่างที่ไม่ปกติเกิดขึ้นกับร่างกาย และควรรีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษา ทั้งนี้ ต่อมอะดีนอยด์จะลดบทบาทหน้าที่ลง และไม่มีผลต่อการป้องกันโรคใดๆ เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่

สังเกตอาการในเด็กให้ดี ถ้าเป็นแบบนี้มีโอกาสที่ต่อมอะดีนอยด์โต

สำหรับการสังเกตอาการว่าเด็กเป็นโรคต่อมอะดีนอยด์โตหรือไม่นั้น คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้จาก 2 อาการหลักๆ คือ “คัดจมูก” กับ “หายใจนอนกรน” หรืออาจมีอาการน้ำมูกไหลร่วมด้วยคล้ายกับอาการภูมิแพ้ ทั้งนี้ โดยมากแล้วจะมาด้วยอาการนอนกรน ซึ่งจำเป็นต้องเข้ารับการปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยว่า สาเหตุเกิดจากความผิดปกติที่จมูก ต่อมอะดีนอยด์ หรือว่าต่อมทอลซิล กันแน่ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วต่อมอะดีนอยด์โต ก็มักจะเกิดร่วมกันกับต่อมทอลซิลอักเสบด้วย ทั้งนี้ อาการสังเกตอื่นๆ ที่อาจพบได้ ก็เช่น หูอื้อ หูน้ำหนวก เนื่องจากต่อมอะดีนอยด์อยู่บริเวณหลังเยื่อบุโพรงจมูก ซึ่งเป็นจุดที่มีรูเปิดของหูชั้นกลาง (Eustachian Tube) ดังนั้นหากเกิดอาการต่อมอะดีนอยด์โตแล้ว จะส่งผลทำให้มีโอกาสไปปิดกั้นรูเปิดดังกล่าว ทำให้น้ำที่อยู่ในหูชั้นกลางระบายออกไม่ได้ และขังจนกลายเป็นหูน้ำหนวกในที่สุด และอาจทำให้ผู้ป่วยสูญเสียการได้ยินชั่วคราวได้ หากไม่ได้รับการรักษา

ร้ายแรงแค่ไหน ถ้าปล่อยให้เด็กๆ มีต่อมอะดีนอยด์โต

เนื่องจากอาการแสดงหลักของเด็กที่เป็นโรคต่อมอะดีนอยด์โตนั้น คือ “การนอนกรน” จึงทำให้หากปล่อยไว้นานไม่รีบรักษา จะส่งผลต่อพัฒนาการที่ช้าลงกับเด็กได้ เนื่องจากขาดออกซิเจนในขณะหลับ ทำให้ผลการเรียนแย่ลง และนำไปสู่การป่วยเป็นโรคสมาธิสั้นได้ ทั้งนี้ ยังอาจส่งผลต่อลักษณะโครงสร้างใบหน้าที่อาจเปลี่ยนไปได้ด้วย เนื่องจาก ต้องอ้าปากหายใจตลอดเวลาในขณะหลับ ดังนั้น หากพบว่าลูกมีอาการนอนกรน จึงไม่ควรชะล่าใจ โดยควรรีบพาลูกไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและทำการรักษาโดยเร็ว

วินิจฉัยอย่างไร ถึงทราบว่าลูกเป็นโรคต่อมอะดีนอยด์โตในเด็ก

วิธีวินิจฉัยโรคต่อมอะดีนอยด์โตในเด็กนั้น หลังจากการซักประวัติสอบถามอาการแล้ว แพทย์จะทำการเอ็กซเรย์หรือส่องกล้องเพื่อตรวจหาความผิดปกติของต่อมอะดีนอยด์ โดยจะตรวจไปยังบริเวณหลังโพรงจมูก ทั้งนี้ ท่าสำหรับในการเอ็กซเรย์นั้นจะเป็นท่านั่งเฉพาะพิเศษที่สามารถทำให้ตรวจเฉพาะจุดได้อย่างชัดเจน

สำหรับการส่องกล้องนั้น แพทย์จะใช้กล้องที่มีชื่อเรียกว่า จะมีลักษณะอ่อนนิ่ม เรียกว่า “Flexible Fiberoptic Rhino-Scope” ซึ่งเป็นกล้องที่เหมาะสำหรับการใช้ส่องตรวจวินิจฉัยในเด็ก เนื่องจากไม่ทำให้เด็กกลัวและเกิดอาการเจ็บเวลาขยับเคลื่อนไหวระหว่างตรวจ และข้อดีอีกข้อของกล้องชนิดนี้คือสามารถที่จะส่องตรวจลึกลงไปถึงกล่องเสียงได้ด้วย ทำให้สามารถตรวจวินิจฉัยได้อย่างครอบคลุมมากกว่า แต่อย่างไรก็ดี หากเด็กยังรู้สึกกลัวและไม่เต็มใจให้วินิจฉัยด้วยการส่องกล้อง การเอ็กซเรย์ก็ยังเป็นทางเลือกที่ทำให้เราได้ผลวินิจฉัยที่แม่นยำมากพอต่อการสรุปหาทางรักษาต่อไปได้

รักษาอย่างไร เมื่อลูกเป็นโรคต่อมอะดีนอยด์โตในเด็ก

การรักษาโรคต่อมอะดีนอยด์โตในเด็กนั้น สามารถทำได้โดยการผ่าตัด ซึ่งมีขั้นตอนและรายละเอียด ดังนี้

  1. แพทย์ทำการวางยาสลบ และจัดผู้ป่วยให้อยู่ในท่านอนหงาย ให้พร้อมกับการทำการผ่าตัด
  2. ฉีดยา และให้ยาห้ามเลือดเฉพาะที่กับผู้ป่วย
  3. ดำเนินการผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์ที่โตออก โดยใส่อุปกรณ์ผ่าตัดผ่านทางช่องปาก โดยปราศจากแผนผ่าตัดภายนอก
  4. ห้ามเลือด และเก็บความเรียบร้อยของแผลผ่าตัด

ทั้งนี้ โดยทั่วไปการผ่าตัดจะใช้เวลาประมาณครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง ซึ่งจะเป็นการผ่าตัดที่ไม่ทำให้เกิดแผลภายนอก และหลังผ่าตัดผู้ป่วยจะต้องนอนพักฟื้นเพื่อสังเกตอาการอย่างน้อย 1 คืน โดยต้องเฝ้าระวังภาวะเลือดออกที่อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ รวมถึงในการผ่าตัดบางรายอาจมีการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจเพื่อหาการติดเชื้ออื่นๆ เพิ่มด้วย

ดูแลลูกอย่างไร หลังผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์โตในเด็ก

ภายหลังการผ่าตัด คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกประทานอาหารอ่อนๆ งดทานของร้อนของทอด หรืออาหารที่ทำให้เกิดอาการระคายคอ ทำให้ไอ ซึ่งอาจส่งผลทำให้เลือดออกได้ภายหลัง โดยระยะเวลาในการงดอาหารดังกล่าวนั้นอยู่ที่ประมาณ 7 วัน หลังจากนั้นแผลก็จะหายกลับเป็นปกติ โดย 7 วันหลังผ่าตัด แพทย์จะนัดมาติดตามอาการ ซักถามความเป็นไป เพื่อให้แน่ใจว่าหายดีเป็นปกติแล้วหรือไม่ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ก็ควรพาลูกมาพบแพทย์ตามนัด และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การรักษาได้ผลลัพธ์ที่สมบูรณ์แบบที่สุด

โรคต่อมอะดีนอยด์โตในเด็ก เป็นโรคที่พบได้บ่อย โดยมากจะมาพบแพทย์ด้วยอาการ คัดจมูก น้ำมูกไหล คล้ายกับเป็นภูมิแพ้ ร่วมกับมีอาการนอนกรน ซึ่งอาการนอนกรนนั้นถือเป็นสัญญาณเตือนสำคัญ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรสังเกตลูกน้อยให้ดี ถ้าพบว่ามีอาการนอนกรนบ่อยๆ ก็ไม่ควรมองข้ามหรือชะล่าใจเด็ดขาดควรรีบส่งแพทย์ตรวจโดยเร็ว เพื่อหาสาเหตุและรีบแก้ไข เพราะหากปล่อยไว้นานจะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการเด็กได้

 

“พบเห็นอาการนอนกรนในลูกน้อยอย่าคอยท่า
ควรรีบพามาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยรักษา
ป้องกันการเกิดพัฒนาการล่าช้า
ที่ส่งผลต่ออนาคตข้างหน้าของลูก”

 

พญ.นภารัตน์ จิระวัฒนผลิน
โสตศอนาสิกแพทย์
และศัลยกรรมตกแต่งเสริมสร้างใบหน้า
โรงพยาบาลพญาไท 3