Make Appointment

เตือนหญิงซดเหล้าแบบ'ลำยอง'ตับวายตายไม่ดี

13 Sep 2016 เปิดอ่าน 2101

เกาะกระแสละครดังอย่าง "ทองเนื้อเก้า" ที่ตัวเอกของเรื่อง "ลำยอง" มีความเชื่อหากดื่มเหล้าจะทำให้ผิวพรรณผ่องใส ไม่แก่ก่อนวัย จากที่เคยดื่มวันละกรึ๊บจนกลายเป็นติดเหล้าโดยไม่รู้ตัว โดยไม่รู้แม้กระทั่งภัยของแอลกอฮอล์ที่สะสมทำลายสุขภาพให้เสื่อมโทรม จนถึงพิษสุราต่อลูกในท้อง ชีวิตลำยองในตอนจบจะเป็นเช่นไรต้องติดตามกัน


รศ.นพ.ทวีศักดิ์ แทนวันดี หัวหน้าสาขา วิชาโรคระบบทางเดินอาหาร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และอุปนายกสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย กล่าวถึงผลเสียของการดื่มแอลกอฮอล์ที่มีผลต่อสุขภาพว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์น้ำหนัก 1 กรัม จะได้พลังงานประมาณ 7.1 กิโลแคลอรี หากเทียบกับการทานข้าวปริมาณเดียวกันให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรี โดยการดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากจะทำให้รู้สึกไม่หิวข้าว ส่งผลให้ผู้ดื่มไม่ได้รับสารอาหาร ขาดอาหารที่มีประโยชน์ตามปกติ ในระยะยาวส่งผลให้ร่างกายขาดวิตามิน ทั้งที่การเผาผลาญแอลกอฮอล์ต้องใช้วิตามินปริมาณมากเพื่อเร่งปฏิกิริยา


จากการศึกษาเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น เป็นที่ชัดเจนว่าเพศหญิงเสี่ยงได้รับผลกระทบจากการดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าเพศ ชาย โดย รศ.นพ.ทวีศักดิ์อธิบายถึงความแตกต่างระหว่างเพศที่สาวๆ จะต้องเกิดความตระหนักว่ามีเรื่องลักษณะทางกายภาพ ผู้หญิงตัวเล็กกว่า ดื่มปริมาณเท่ากับผู้ชายจึงเสี่ยงมากกว่า แถมยังมีเอนไซม์ที่ใช้ย่อยแอลกอฮอล์น้อยกว่าชายอีกด้วย ตลอดจนแอลกอฮอล์ละลายในน้ำได้ดี แต่เพศหญิงมีปริมาณน้ำในร่างกายน้อยกว่าเช่นกัน


สำหรับปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ที่ร่างกายสามารถสลายแอลกอฮอล์ได้ทัน โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพนั้น มีข้อมูลทางวิชาการสนับสนุนว่า ผู้หญิงดื่มได้แค่ 1 ดริงก์ต่อวัน เทียบเท่าเบียร์ 1 กระป๋อง หรือไวน์ 1 แก้ว ในปริมาณ 100 ซีซี ขณะที่ผู้ชาย 2 ดริงก์ต่อวัน


อย่างไรก็ตาม ในสภาพความจริงการดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้หยุดอยู่เพียง 1 ถึง 2 กระป๋องเท่านั้น รศ.นพ.ทวีศักดิ์กล่าวว่า หากดื่มในปริมาณมากขึ้น แอลกอฮอล์แย่งการเผาผลาญอาหารอื่นๆ ที่ทาน ขณะเดียวกันร่างกายเผาผลาญแอลกอฮอล์ไม่หมด เกิดการตกค้างก็ยิ่งอันตราย ระยะสั้นแอลกอฮอล์เป็นพิษทำให้มึนงง ตัดสินใจผิดพลาด ทำลายความรู้สึกผิดชอบชั่วดี สันดานดิบของมนุษย์จะออกมาหากควบคุมตัวเองไม่ได้ อาจกระทำในสิ่งที่ผิดคุณธรรมจริยธรรม ส่วนผลเสียระยะยาวทำลายอวัยวะต่างๆ ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า อุปนายกสมาคมโรคตับเตือนว่า การดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก ตับจะรับภาระหนัก ถือเป็นด่านแรกที่โดนฤทธิ์แอลกอฮอล์โดยตรง หากรับแอลกอฮอล์มากอย่างต่อเนื่องทำให้ตับเสื่อม ตับโต และไขมันเกาะตับเพิ่มขึ้น เพราะร่างกายเก็บแอลกอฮอล์ไว้ในรูปไขมัน


ยิ่งกว่านั้นพิษแอลกอฮอล์ยังทำลายเซลล์ตับปกติ เกิดการแทนที่ด้วยพังผืด จากตับอ่อนๆ กลายเป็น "ตับแข็ง" ไม่สามารถสร้างสารที่ร่างกายต้องการได้เพียงพอ การที่ตับซึ่งมีหน้าที่ขับของเสียทำงานผิดปกติ ส่งผลให้คนไข้ตาเหลือง ตัวเหลือง และการที่เลือดไหลกลับไปที่ตับไม่ได้ เกิดเส้นเลือดขอดในหลอดอาหาร อาจอาเจียนเป็นเลือดหรือท้องมาน นานเข้าเกิดตับวายถึงขั้นเสียชีวิตได้ หรือบางรายกลายเป็นจุดเริ่มต้นของมะเร็งตับ


นอกจากตับแล้ว หัวใจเป็นอีกอวัยวะหลัก หากมีการใช้ชีวิตแบบนักดื่มจะส่งผลเสียรุนแรง รศ.นพ.ทวีศักดิ์อธิบายอีกว่า การที่ร่างกายเผาผลาญแอลกอฮอล์ต้องใช้วิตามินหลายชนิด โดยเฉพาะวิตามิน  B รวม และ B1 ดื่มมาก ไม่กินกับ กินอาหารไม่เพียงพอ ร่างกายขาดวิตามิน B1 หัวใจล้มเหลว และจากการดื่มเหล้าต่อเนื่องยังทำลายหัวใจโดยตรง เกิดพังผืดเพิ่มขึ้น หัวใจขยายใหญ่ขึ้น ไม่สามารถบีบคลายได้ตามปกติ ก็หัวใจวายเรื้อรัง


โทษของแอลกอฮอล์ยังส่งผลกระทบต่อระบบประสาทและสมอง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญชี้ ทั้งเซลล์สมองฝ่อเล็กลงจากพิษเหล้า ความจำเสื่อม สติปัญญาลดน้อยถอยลง หากไปทำลายระบบประสาทส่วนปลายเกิดอาการมือและเท้าชาได้


นอกจากนี้แอลกอฮอล์ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต คุณหมอเผยถึงโรคพิษสุราเรื้อรังเป็นโรคทางจิตเวช หากนอนไม่หลับตื่นเช้ามาไม่ได้ดื่มแล้วมีอาการมือไม้สั่น ต้องเพิ่มปริมาณการดื่มสุรามากขึ้น จนไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน ต้องรีบพบแพทย์เพื่อหาทางเลิกเหล้า


พฤติกรรมซดเหล้านั้น ไม่ว่าจะเป็นเหล้านอก เหล้าสี วิสกี้ เบียร์ ไวน์ กระทั่งซดยาดองแบบลำยอง ตัวละครในจอแก้วนั้น รศ.นพ.ทวีศักดิ์ยืนว่าว่า แอลกอฮอล์ประเภทไหนก็ไม่ปลอดภัย ปริมาณแอลกอฮอล์ที่เกินขีดรับได้จะทำลายสุขภาพ โดยเฉพาะตับ แล้วถ้ายิ่งมีพฤติกรรมดื่มเหล้าเถื่อนที่การกลั่นจะต้องใช้ปริมาณแอลกอ ฮอล์มากกว่าปกติ รวมถึงมีสารปนเปื้อน บางครั้งผสมสารยาฆ่าหญ้ายิ่งโทษหนักกว่าเดิม


"ดื่มแค่ไหนก็ไม่ปลอดภัย พฤติกรรมที่เหมาะสมคือต้องไม่ดื่มเลย อันตรายต่อสุขภาพมาก มีหลายคนพูด ดื่มวันละแก้วมีผลดีต่อสุขภาพ จริงที่ปริมาณแอลกอฮอล์ขนาดนั้นไม่มีปัญหา แต่หากดื่มแล้วยั้งไม่อยู่ จะดื่มเพิ่มขึ้น แอลกอฮอล์ถูกจัดให้อยู่กลุ่มเดียวกับยาเสพติด มีฤทธิ์กดระบบประสาท ทำให้รู้สึกสบาย และอยากเพิ่มปริมาณการบริโภคมากขึ้น" อุปนายกสมาคมโรคตับฯ ยืนยัน


ประเทศไทยติดอันดับประเทศแถวหน้าที่มีพฤติกรรมของบริโภคเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ รศ.นพ.ทวีศักดิ์แสดงทัศนะว่าจำเป็นต้องเร่งแก้ปัญหานี้ ปัจจุบันอัตราการบริโภคยังมาก ผลจากค่านิยมสังสรรค์ ดื่มเพื่อความสนุกสนาน โดยลุกลามลงมาถึงเยาวชนและเด็กอายุน้อยลงทุกที จนกลายเป็นเรื่องปกติของสังคมไทยเวลานี้ แม้ที่ผ่านมาสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และหลายภาคส่วน ภาคีเครือข่าย ได้ทำกิจกรรมรณรงค์ลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่องเกือบ 10 ปี เกิดแคมเปญรณรงค์ที่คนไทยรู้จักและสนใจมาก เช่น งดเหล้าเข้าพรรษา ให้เหล้าเท่ากับแช่ง เมาไม่ขับ งานบุญปลอดเหล้า ฯลฯ สถานการณ์การดื่มดีขึ้นกว่าเดิมมาก แต่ต้องยอมรับว่ายังไม่หมดไปจากสังคมไทย


"กฎหมายควบคุมน้ำเมามีแล้วก็ต้องบังคับใช้อย่างจริงจัง แต่ที่ต้องเพิ่มกิจกรรมรณรงค์สู่กลุ่มเยาวชน เพราะอัตราการดื่มในกลุ่มหน้าใหม่ที่เพิ่ม ขึ้น ระยะยาวไม่ใช่แค่เสียสุขภาพ แต่จะสร้างปัญหาสังคม" รศ.นพ.ทวีศักดิ์ฝากวิงวอนทุกฝ่ายร่วมรับผิดชอบขับเคลื่อนการเลิกดื่ม แอลกอฮอล์ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนและสังคมไทย.


"ดื่มแค่ไหนก็ไม่ปลอดภัย พฤติกรรมที่เหมาะสมคือต้องไม่ดื่มเลย อันตรายต่อสุขภาพมาก มีหลายคนพูด ดื่มวันละแก้วมีผลดีต่อสุขภาพ จริงที่ปริมาณแอลกอฮอล์ขนาดนั้นไม่มีปัญหา แต่หากดื่มแล้วยั้งไม่อยู่ จะดื่มเพิ่มขึ้น แอลกอฮอล์ถูกจัดให้อยู่กลุ่มเดียวกับยาเสพติด มีฤทธิ์กดระบบประสาท ทำให้รู้สึกสบาย และอยากเพิ่มปริมาณการบริโภคมากขึ้น"

 

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.thaiantialcohol.com/newsletters/view/1753